"จรัญ ภักดีธนากุล" อดีตตุลาการศาล รธน.ชี้ ศาล รธน.ไม่สามารถรับวินิจฉัย ข้อบังคับรัฐสภา ขัด รธน.ได้ ชม "วันนอร์" เลื่อนประชุมสภา เป็นการหาทางออกที่มีความรอบคอบ
วันที่ 25 ก.ค. 66 นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีหน้าที่และอำนาจที่จะไปตรวจสอบข้อบังคับรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจตรวจสอบได้แค่ร่างข้อบังคับรัฐสภาเท่านั้น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 149 แต่หลังจากประกาศใช้เป็นข้อบังคับแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจเหนือข้อบังคับของรัฐสภา
เมื่อนักข่าวถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับพิจารณาคำร้องนี้หรือไม่ นายจรัญตอบว่า มีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ ศาลอาจจะรับไว้ก่อน แล้วไปยกคำร้องภายหลัง หรือเป็นไปได้ว่าถ้ามันชัดเจนตั้งแต่ต้น ว่าไม่ได้อยู่ในขอบอำนาจของรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะยกคำร้องตั้งแต่ต้นได้เลย
นักข่าวถามต่อว่า การทำแบบนี้ เป็นการใช้มติรัฐสภาให้เหนือกว่ารัฐธรรมนูญ จะทำรัฐธรรมนูญบิดเบือนได้หรือไม่ นายจรัญ ตอบว่า มันไมถึงขนาดนั้น เพราะว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 157 บัญญัติชัดเจนว่า การประชุมรัฐสภา ต้องดำเนินการไปตามข้อบังคับรัฐสภา
ส่วนประเด็นที่มีนักวิชาการทางด้านกฎหมายออกมาแสดงความคิดเห็นว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ไม่รู้ว่าจะไปสอนเหล่านิสิตนักศึกษาอย่างไรต่อไปดี นายจรัญ ตอบว่า นั่นเป็นประเด็นในรัฐสภา ว่า รัฐสภาควรจะใช้ข้อบังคับและรัฐธรรมนูญอย่างไรให้ถูกต้องและชอบธรรม แต่ประเด็นในวันนี้ เป็นประเด็นใหม่ ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีขอบอำนาจในการรับวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของข้อบังคับรัฐสภาหรือไม่
และไม่มีคำว่า มติของรัฐสภาเป็นที่สุด เพราะรัฐสภาก็อาจจะหาทางออกทางใดทางหนึ่ง ที่เหมาะที่ควรกับการทำงานของท่านได้
เมื่อถามกรณีที่ประธานสภา มีการเลื่อนประชุมสภา ในการเสนอชื่อเลือกนายกฯ วันที่ 27 กรกฎาคมนี้ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายจรัญ ตอบว่า ท่านประธานสภาเป็นคนที่รอบคอบดี และการทำแบบนี้ก็ไม่ได้เสียหายอะไร ตนมองว่า เป็นการหาทางออกที่รอบคอบ
...