"พล.อ.ประวิตร" นำประชุม นปถ. เคาะ 3 มาตรการเข้มป้องกันอุบัติเหตุในกลุ่มคนเดินเท้า เพิ่มโทษคนฝ่าฝืน จัดทำมาตรฐานทางข้ามให้ปลอดภัย สร้างความตระหนักรู้ตั้งแต่เด็กและเยาวชนในสถานศึกษา
วันที่ 27 ม.ค. 2565 เวลา 14.00 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) ครั้งที่ 1/2565 โดยมีพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้าร่วมประชุมฯ ได้มีถ่ายทอดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไปยังจังหวัด
ที่ประชุมพิจารณาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างความปลอดภัยทางถนนในภาพรวม เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 12 คนต่อแสนประชากรภายในปี พ.ศ. 2570 อีกทั้งหารือวาระเร่งด่วนด้านการบริหารจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มคนเดินเท้า มุ่งเน้นการป้องกันอุบัติเหตุรถชนคนบริเวณทางข้ามภายใต้ 3 มาตรการหลัก ทั้งด้านกฎหมาย ด้านถนน และด้านผู้ใช้รถใช้ถนนเพื่อสร้างความปลอดภัยในระยะยาวให้กับกลุ่มคนเดินเท้า
พลเอกประวิตร ในฐานะประธานกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) เปิดเผยว่า การประชุมฯ ในวันนี้ คณะกรรมการ นปถ. ได้พิจารณาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างความปลอดภัยทางถนนในภาพรวม และหารือวาระเร่งด่วนด้านการบริหารจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มคนเดินเท้า ประเด็นการป้องกันอุบัติเหตุรถชนคนบริเวณทางข้ามภายใต้ 3 มาตรการ ดังนี้
...
1.มาตรการด้านกฎหมาย โดยจะเพิ่มโทษกรณีผู้ขับขี่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจร ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 รวมถึงจัดให้เป็นฐานความผิดที่ต้องตัดคะแนน ความประพฤติของผู้ขับขี่ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดและกล้องตรวจจับความเร็วในจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ อาทิ บริเวณทางร่วมทางแยก และทางข้าม พร้อมเร่งจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ประวัติและการกระทำความผิดของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ ข้อมูลทะเบียนรถ และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง
2.มาตรการด้านถนน โดยจัดทำมาตรฐานทางข้าม เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างทางข้ามให้มีความปลอดภัย พร้อมสำรวจมาตรฐานวิศวกรรมจราจรบริเวณทางข้ามทั่วประเทศ เพื่อวิเคราะห์และกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา รวมถึงปรับปรุงวิศวกรรมจราจรบริเวณทางข้ามให้มีมาตรฐานความปลอดภัย โดยเฉพาะการชะลอความเร็วของรถก่อนถึงทางข้าม การจัดทำเส้นทางข้ามและข้อความบนพื้นทาง การติดตั้งป้ายเตือน ป้ายสัญลักษณ์ในจุดที่เหมาะสมและมองเห็นได้ชัดเจนทั้งผู้ขับขี่และคนเดินเท้า และการติดตั้งสัญญาณไฟสำหรับคนข้ามถนน
3. มาตรการด้านผู้ใช้รถใช้ถนนโดยสร้างการรับรู้และความตระหนักด้านความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มคนเดินเท้าให้กับประชาชนผ่านทุกช่องทาง โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ และการจัดกิจกรรมรณรงค์ พร้อมพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักแก่กลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา
ทั้งนี้ การป้องกันอุบัติเหตุรถชนคนบริเวณทางข้ามได้มอบหมายหน่วยงานขับเคลื่อนการดำเนินงาน ดังนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการตามมาตรการด้านกฎหมาย และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจมาตรฐานวิศวกรรมจราจรบริเวณทางข้ามทั่วประเทศ เพื่อชี้เป้าการแก้ไขปัญหาให้ประสิทธิภาพมากขึ้น กระทรวงคมนาคม ดำเนินการตามมาตรการด้านถนน กระทรวงศึกษาธิการและกรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการตามมาตรการด้านผู้ใช้รถใช้ถนน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดำเนินการตามมาตรการด้านถนนและด้านผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อสร้างความปลอดภัยในระยะยาวให้กับกลุ่มคนเดินเท้า
ด้านพลเอกอนุพงษ์ ในฐานะรองประธานกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติคนที่หนึ่ง เปิดเผยว่า การเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างความปลอดภัยทางถนนในภาพรวม ซึ่งในปี พ.ศ. 2565 จะมุ่งเน้นการบริหารจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจากพฤติกรรมเสี่ยง 4 ประการ ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ผ่านกลไกการทำงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในทุกระดับโดยขับเคลื่อนการจัดทำแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้สอดรับกับสภาพปัญหาและเป้าหมายการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของแต่ละพื้นที่ รวมถึงเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายต่อเนื่องตลอดทั้งปี ควบคู่กับการรณรงค์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนตระหนักถึงปัญหาอุบัติเหตุทางถนนและร่วมกันใช้รถใช้ถนนโดยยึดหลักขับขี่ปลอดภัย เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 12 คนต่อแสนประชากรภายในปี พ.ศ. 2570