นักการเมือง-แกนนำม็อบ-นศ.แห่ร่วมงาน 45 ปี 6 ตุลา ประกาศสานต่อเจตนารมณ์วีรชน เรียกร้องยกเลิก ม.112 นับหนึ่งกระบวนการนำผู้บงการสังหารประชาชนอย่างเหี้ยมโหดไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ด้าน “เพนกวิน” ส่งแม่มารับรางวัล “จารุพงศ์” แทน พร้อมร่อนจดหมายจากเรือนจำเรียกร้องรัฐยุติการคุมขังและจำกัดสิทธิ์ทางความคิดของประชาชนที่เห็นต่าง วัยรุ่นหนุ่มสาวแห่เข้าร่วมกิจกรรมเนืองแน่น “ทะลุฟ้า” ชักธงแดงขึ้นยอดตึกโดม อ้างสืบสานเจตนารมณ์ของคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่

ความเคลื่อนไหวกลุ่มมวลชนขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ล้อกับวันครบรอบ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 6 ต.ค. ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ “ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชา ธิปไตย” หน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา 2519 ที่จัดขึ้นทุกปี เพื่อรำลึกถึงวีรชนที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ปราบปรามนิสิต นักศึกษา และประชาชน การจัดงานปีนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากนโยบายป้องกันแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทำให้ฝ่ายบริหาร มธ.ไม่สามารถอนุญาตให้จัดงานในหอประชุมใหญ่ และบริเวณลานประติ มากรรมได้ นำมาสู่การประท้วงของคณะกรรมการจัดงานตลอดจนนักศึกษา มธ. แม้ฝ่ายบริหารยอมถอย ให้จัดงานได้ แต่เนื่องจากไม่มีการสื่อสารแจ้งฝ่ายสถานที่ มธ.อย่างเป็นทางการ กว่าคณะผู้จัดงานจะเปิดประตูนำข้าวของเข้าไปตั้งเวทีและวางพวงหรีดได้ ต้องเปิดประตูเข้าไปเอง สำหรับภาพถ่ายและนิทรรศการ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ “หนี้เลือด 6 ตุลา ถึงเวลา ชำระ” ถูกนำไปติดตั้งบริเวณรอบห้องประชุมและบริเวณเสาไฟใน มธ.

...

บรรยากาศการจัดงานช่วงเช้ามีการทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิต ท่ามกลางนักการเมือง นักเคลื่อนไหว อดีตผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ญาติผู้เสียชีวิต ตลอดจนแนวร่วมกลุ่ม ราษฎรเข้าร่วมคับคั่ง อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายสุธรรม แสงปทุม นายเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มธ. นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คณะก้าวหน้า นพ.เหวง โตจิราการ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ กลุ่มเยาวชนปลดแอก นายปิยรัตน์ จงเทพ หรือโตโต้ กลุ่มวีโว่ น.ส.เบญจา อะปัญ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นายกฤษณะ ไก่แก้ว เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย นายธัชพงศ์ แกดำ เครือข่ายศาลายาเพื่อประชาธิปไตย นายพรชัย ยวนยี กลุ่มทะลุฟ้า เป็นต้น ทั้งหมดประกาศเจตนารมณ์สานต่อวีรชนเดือนตุลา

ไฮไลต์การจัดงาน 45 ปี 6 ตุลา เริ่มจากการ วางพวงมาลาที่ประติมานุสรณ์ 6 ตุลา รำลึกถึงผู้เสียชีวิต เป็นที่น่าสังเกตว่า มีการวางพวงมาลาของผู้ร่วมในเหตุการณ์ พรรคการเมือง องค์กรภาคประชาชน องค์กรนิสิต นักศึกษาสถาบันต่างๆที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเรียกร้องให้ ปฏิรูปสถาบันมากกว่าทุกปี ทั้งยังพ่วงเรียกร้องยกเลิก ม.112 และปล่อยแกนนำราษฎรที่ถูกคุมขัง ที่สร้างความ ฮือฮาคือการวางพวงมาลาของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตนักโทษคดี ม.112 ในนามกลุ่มราษฎรยกเลิก 112 ใช้พวงมาลาเป็นรูปชฎาเขียนข้อความว่า ล้างเลือด 6 ตุลา ม.112 มรดก 6 ตุลา ก่อนแสดงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำเลือดสัตว์มาราดบนตัวจนเปียกส่งกลิ่นคาวคลุ้ง พร้อมกล่าวว่า ความรุนแรงและความอำมหิตยังคงมีอยู่ในสังคมไทยไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งการอุ้มฆ่าทำให้สาบสูญและใช้ตำรวจปราบจลาจลมาทำร้ายเยาวชน โดยเฉพาะการใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือ ป้ายสีประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เช่นเดียวกับ กลุ่มราษฎรและประชาชนถูกกระทำอยู่

ต่อมา เวลา 09.30 น. นายกฤษฎางค์ นุตจรัส อดีตแกนนำนักศึกษา 6 ตุลา ในฐานะคณะกรรมการจัดงานฯ กล่าวปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ใจความว่า 6 ตุลา 19 ไม่ใช่อุบัติเหตุทางการเมือง เป็นความจงใจ ของกลุ่มผู้มีอำนาจขณะนั้นต้องการกวาดล้างสังหารนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เราไม่ได้จัดงานเพื่อรำลึกถึงความโหดร้ายอย่างเดียว แต่เรียกร้องให้นำคนผิดมาลงโทษด้วย วันนี้มีหมุดหมาย สำคัญจะเริ่มนับหนึ่งเหตุผลดังนี้ 1.วีรชนที่เสียชีวิตยังไม่ได้รับการขอโทษใดๆจากภาครัฐ หรือผู้บงการ ทั้งยังไม่ได้รับการชดใช้ในเกียรติภูมิที่สูญเสีย รวมทั้ง ผู้เกี่ยวข้อง ถูกกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรม เช่น อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดี มธ. ขณะนั้น 2.การสังหารหมู่เมื่อ 45 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ได้รับการ ตัดสินด้วยสายตาของนานาชาติแล้วว่า เป็นอาชญากรรม ทางการเมือง และ 3.การนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้จะทำให้ลูกหลานของเราไม่ต้องถูกกระทำด้วยความอยุติธรรมอีก

“ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ผมและภาคีนักกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ มีความเห็นว่า ต้องเอาคนผิด มาลงโทษ แม้เสียชีวิตไปแล้ว ต้องถูกจารึกไว้ว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด ชื่อเสียงเกียรติยศบรรดาศักดิ์ต้องถูกถอดถอน ขอการสนับสนุนของประชาชนนำผู้กระทำและบงการไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ แม้การดำเนินการข้อกฎหมายจะสลับซับซ้อน แต่ยืนยันว่าทำได้ เพราะการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ วัตถุประสงค์ดำเนินการกับการสังหารหมู่ทางการเมือง เหตุการณ์ 6 ตุลา ถือว่าเข้าข่ายนี้ ไม่หมดอายุความตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ขอให้ ทุกคนนึกถึงเยาวชนที่ยังถูกกักขังในเรือนจำอย่างไร้ความยุติธรรมตอนนี้ ว่าต้องประสบชะตากรรมแบบเดียวกับวีรชนเมื่อ 45 ปีที่แล้ว คุณงามความดี ของผู้จัดงานวันนี้ ขอมอบให้เยาวชนที่กำลังต่อสู้อยู่ และขอเป็นแรงใจให้มีอิสรภาพโดยเร็ว”

หลังจากนั้นเป็นพิธีมอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย ประจำปี 64 สภา นศ.มธ.ให้นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎรที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำ ฐานะผู้มีผลงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีนางสุรีรัตน์ ชิวารักษ์ มารดารับแทน ก่อนนำจดหมายลูกชายเขียนฝากจากเรือนจำใจความสำคัญว่า การรับรางวัลวันนี้ถือเป็นเกียรติอันใหญ่หลวง ทั้งยังเป็นเรื่องหดหู่ในสังคมนี้ด้วย เพราะแม้ว่า จารุพงศ์ซึ่งเป็นรุ่นพี่ มธ.จะเสียชีวิตไป 45 ปีแล้วแต่ยังต้องแจกรางวัลนี้อยู่ แสดงว่าประเทศนี้ต้องมีคนที่เจ็บปวดเสียสละถูกทำร้ายเพราะเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ต่างจากสมัยก่อน สะท้อนว่าประชาธิปไตยประเทศเราติดเชื้อโรคเผด็จการแทรกซ้อน จนอ่อนแอและเปราะบางกับความอดทนกับคนพูดความจริง ตั้งแต่ปี 2475 เรามีประชาธิปไตยที่ถูกขังกรง ยังไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง การใช้กำลังกับประชาชนจะทำให้เกิดความขัดแย้งไม่จบสิ้นดังที่ประเทศไทยประสบมาในรอบ 10 กว่าปี หากต้องการความสงบสุขเราต้องปกป้องเสรีภาพทางความคิดของทุกคน หวังว่าประเทศไทยจะไม่ต้องมีจารุพงษ์ ทองสินธุ์ คนใดอีก

ช่วงเย็นผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณสนามฟุตบอล มธ. เป็นจุดที่นักศึกษาและประชาชนถูกเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม บังคับถอดเสื้อและนอนหมอบราบกับพื้น ผู้จัดงานนำบอร์ดภาพถ่ายเหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อ 45 ปีที่แล้ว ทำแบบภาพเชิงซ้อนสถานที่จริงมาติดไว้ให้ผู้ร่วมงานได้ชม ทั้งนี้ กลุ่มทะลุฟ้าทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำหุ่นฟาง 112 ตัว และโปรยกระดาษจำนวน 1,112 แผ่นไว้ที่สนาม มีข้อความ อาทิ 6 ตุลาคม 2519 รัฐอาชญากรรมประชาชน ใครฆ่าพี่ เราไม่ลืม ฆาตกรยังลอยหน้า คนสั่งฆ่ายังลอยนวล ได้รับความสนใจจากกลุ่มวัยรุ่นที่เดินทางมาร่วมคับคั่งเป็นพิเศษ พากันถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก

เวลา 15.30 น. ตัวแทนกลุ่มทะลุฟ้าส่งทีมงานขึ้นไปนำธงชาติบนยอดตึกโดมอาคารเก่าสัญลักษณ์ มธ.ลงมา ก่อนชักธงแดงขึ้นแทน ทำให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องเข้าไปขอร้องให้ปลดลง กลุ่มทะลุฟ้าระบุว่า สีแดงนั้นหมายถึงชาติและประชาชน ทั้งตอกย้ำข้อเรียกร้องต่อรัฐบนผืนธงและเป็นการให้เกียรติประชาชนผู้ที่เสียชีวิต คนรุ่นหลังจะยืนหยัดในเจตนารมณ์เดิมคือ สังคมใหม่ที่คนย่อมเท่ากับคน
ส่วนบรรยากาศบริเวณท้องสนามหลวง เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตู้รถไฟเก่าและตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งขวางบนถนนเส้นกลางท้องสนามหลวง รวมทั้งปิดกั้นถนนราชดำเนินในและถนนหน้าพระธาตุเพื่อสกัดไม่ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรำลึก 45 ปี 6 ตุลา อาจทำกิจกรรมล้ำเข้าไปบริเวณท้องสนามหลวงใกล้บริเวณพระบรมมหาราชวังได้

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เผยว่า วันนี้ยังไม่มีผู้ต้องรับผิดต่อ 41 ชีวิตที่ต้องสูญเสียไปในวันนั้น ถึงทุกวันนี้ยังมีเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ได้รับความรุนแรง ทั้งจากการปราบปรามบนท้องถนนและการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ มีเยาวชนที่โดนคดี ม.112 ถึง 148 คน ถูกดำเนินคดีความทางการเมืองสำหรับคนเห็นต่าง 2 พันกว่าคดี วันนี้รัฐไทยยังไม่คิดฟังเสียงของยุคสมัย ไม่ประนี ประนอม พรรคก้าวไกลมีข้อเสนอรัฐต้องยุติความรุนแรงกับประชาชนและนิติสงครามทันที การใช้คดีความเข้าปราบปรามประชาชนไม่ได้ทำให้ผลลัพธ์เปลี่ยนแปลงไป เราจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้คนรุ่นใหม่ได้พูดความจริงแห่งยุคสมัย เปิดให้มีการประนีประนอมระหว่างกัน

ต่อมาเวลา 17.30 น. เวทีกิจกรรมรำลึก 45 ปี 6 ตุลา ต้องยุติลงชั่วคราว เนื่องจากเกิดฝนตกลงมา อย่างหนัก ต้องย้ายเวทีไปจัดใต้ถุนตึกกิจกรรมนักศึกษา มธ. มีแกนนำนักศึกษาและนักกิจกรรมสลับกันปราศรัย และอ่านบทกวี อาทิ น.ส.เบนจา อะปัญ นายเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ สองนักศึกษา มธ. ที่ตกเป็นผู้ต้องหา ม.112 นายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือปูน ทะลุฟ้า ผู้ต้องหาเผาภาพพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำฯ กระทั่งเวลา 19.12 น. กลุ่มทะลุฟ้านำหุ่นฟางติดภาพผู้นำประเทศยุค 6 ต.ค.19 มากองบนถนนหน้าตึกกิจกรรมนักศึกษา มธ. ก่อนราดน้ำมันจุดไฟเผาจนไฟลุกโชน ปิดท้ายด้วยการอ่านกวีโดย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นศ.มธ.แกนนำม็อบราษฎร และร่วมกันเปิดแฟลชโทรศัพท์แทนการจุดเทียน ร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา และเพลงเพื่อมวลชน ยุติกิจกรรมเวลา 19.35 น.