ประชาธิปไตยกลับมาเบ่งบานหรือ? จึงมีการใช้สิทธิฟ้องร้องกันนัวเนีย ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับประชาชน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แถลงว่ากำลังเตรียมดำเนินคดีดารา นักแสดง และคนดังทั้งหลาย 25 คน ที่ “คอลเอาต์” โจมตีรัฐบาล ในข้อหากระทำผิด พ.ร.บ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี
ขณะเดียวกัน นายวชิรวิชญ์ มามะมูนา นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แจ้งความต่อตำรวจหาดใหญ่ พร้อมกับหลักฐานเป็นสำเนาใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลโรคโควิด-19 เพื่อให้ดำเนินคดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ได้รับความเสียหาย
มีเสียงวิจารณ์ว่าการดำเนินคดีคนดัง หรือใครก็ตาม ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาล หรือเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีนคุณภาพ มาฉีดให้ประชาชนอย่างรวดเร็ว และเพียงพอ ต้องถูกดำเนินคดีด้วยหรือ มีรายงานข่าวว่าคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ จะเชิญผู้แทนรัฐบาลไทยไปทบทวนเรื่องสิทธิมนุษยชน
ปัญหาที่สหประชาชาติข้องใจ ได้แก่การที่รัฐบาลไทยดำเนินคดีกับกลุ่มประชาชนที่ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลบางคนโดนข้อหารุนแรง และโดนตั้งเงื่อนไขในการประกันตัว เช่น ต้องไม่กลับไปร่วมชุมนุมอีก ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กระทบเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิเสรีภาพในประเทศไทย ศาสตราจารย์ วิทิต มันตาภรณ์ แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนบทความลงใน นสพ.บางกอกโพสต์ วิจารณ์การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีใจความสำคัญว่าประเทศอื่นๆ ก็ประกาศใช้กฎหมายฉุกเฉิน แต่ต้องยึดมาตรฐานสากล
...
ประการแรก ต้องประกาศใช้กฎหมายฉุกเฉิน เป็นมาตราชั่วคราว ไม่ใช่บังคับใช้ตลอดกาล ไม่ว่าประเทศจะอยู่ในภาวะฉุกเฉินหรือไม่ อีกทั้งต้องประกาศใช้ ในขณะที่ประเทศอยู่ในภาวะคับขันจริงๆ และต้องไม่ลิดรอนสิทธิอื่นๆ เช่น เสรีภาพในการชุมนุม ต้องแจ้งสหประชาชาติ และไม่ควรเป็นพระราชกำหนด
แต่ควรออกเป็น “พระราชบัญญัติ” หรือ พ.ร.บ. เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาได้ตรวจสอบถ่วงดุล ป้องกันไม่ให้รัฐบาล ลุแก่อำนาจ เอะอะก็ใช้ พ.ร.ก.ปิดปาก และใช้เป็นการถาวร แม้จะประกาศใช้ครั้งละ 2 เดือน แต่ขยายเวลาอย่างต่อเนื่องมาปีกว่า ส่วนการป้องกันโควิด ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อจะตรงกับโรคกว่า.