“บิ๊กตู่” ยินดีกับความสำเร็จ ผลักดันลงนาม RCEP ได้แล้ว หลังเจรจากว่า 7 ปี ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่การค้าโลก ชี้ เป็นความภูมิใจที่รัฐบาลจะเพิ่มโอกาสและศักยภาพในการแข่งขันให้สินค้าไทย
วันที่ 19 พ.ย. 2563 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีกับความสำเร็จที่สามารถมีการลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา หลังใช้เวลาในการเจรจากว่า 7 ปี
ทั้งนี้ ความตกลง RCEP จะเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ คือสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอาเซียนอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นความตกลงความร่วมมือทางการค้าที่มีตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ได้เคยลงนามกัน ประเทศที่เข้าร่วมตกลงกันทั้ง 15 ประเทศ มีประชากรรวมคิดเป็น 30% ของประชากรโลก (เกือบ 2,252 ล้านคน) และมี GDP รวมกันคิดเป็น 30% ของ GDP โลก (กว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท) มีมูลค่าการค้ารวมคิดเป็น 27.4% ของมูลค่าการค้าโลก (กว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 326 ล้านล้านบาท)
การลงนามครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จจากความพยายามของประเทศไทยในการเจรจาในวาระที่ไทยเป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อปี 2562 ซึ่งความตกลง RCEP มีการเจรจากันมาอย่างยาวนานตั้งแต่การประกาศให้มีการเริ่มเจรจาจัดทำความตกลง RCEP อย่างเป็นทางการในปี 2556
“เป็นความภูมิใจที่รัฐบาลจะเพิ่มโอกาสและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่สินค้าไทย ซึ่งคาดว่าจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อเปรียบเทียบกับ FTA ที่ไทยมีอยู่เนื่องจากมีการเปิดตลาดยกเว้นภาษีใน RCEP เพิ่มมากขึ้น โดยข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมระดับภูมิภาค (RCEP) นี้ เป็นข้อตกลงที่จะขยายและกระชับความผูกพันของอาเซียนกับออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และนิวซีแลนด์”
...
สำหรับวัตถุประสงค์ของข้อตกลง RCEP คือการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทันสมัย ครอบคลุม คุณภาพสูงและเป็นประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจะเอื้อต่อการขยายตัวของการค้าและการลงทุนในภูมิภาคและสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของโลก ดังนั้น จะนำมาซึ่งโอกาสทางการตลาดและการจ้างงานให้กับธุรกิจ และผู้คนในภูมิภาค อีกทั้ง ข้อตกลง RCEP เป็นข้อตกลงที่ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อวันนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นข้อตกลงสำหรับวันพรุ่งนี้ด้วย เป็นการปรับปรุงความครอบคลุมของเขตการค้าเสรีอาเซียนบวกหนึ่งที่มีอยู่ (FTA ของอาเซียนกับคู่เจรจา 5 ประเทศ) และคำนึงถึงความเป็นจริงทางการค้าที่เปลี่ยนแปลง และเกิดขึ้นใหม่ รวมถึงยุคของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ศักยภาพของวิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม การขยายตัวของภูมิภาค ห่วงโซ่คุณค่า และความซับซ้อนของการแข่งขันในตลาด นอกจากนี้ ข้อตกลง RCEP นี้เป็นการปรับปรุงและเสริมข้อตกลงที่มีอยู่แล้วในบทบัญญัติขององค์การการค้าโลก (WTO) อีกด้วย.