(ภาพจาก : แฟ้มข่าว)
นายทุนภูเก็ตหนาว กรมทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรฯ ตั้งกรรมการตรวจพิสูจน์เอกสารสิทธิในที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าชายเลนทั้งจังหวัด จำนวน 164 ฉบับ พื้นที่กว่า 2 พันไร่ มูลค่าเกือบแสนล้านบาท นายกฯแจงร่างคำสั่งเรียกคืนที่ ส.ป.ก.
จากกรณีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าชายเลนที่ จ.ภูเก็ต โดยได้เข้าตรวจสอบเอกสารสิทธิการครอบครองที่ดินสนามกอล์ฟภูเก็ตมิชชั่นฮิลล์ ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง และโบ๊ทลากูน รีสอร์ต หมู่ 2 ต.เกาะแก้ว อ.เมือง กับรอยัล ภูเก็ต มารีน่า ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ รวมทั้งนากุ้ง ที่บุกรุกป่าชายเลนจำนวนมากเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมานั้น
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ ตรวจพิสูจน์เอกสารสิทธิในที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรีในท้องที่ จ.ภูเก็ต มีนายศักดา วิเชียรศิลป์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลฯ เป็นประธานและมีกรรมการอีก 16 คน มาจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ผู้แทนจังหวัดภูเก็ต สำนักงานอัยการสูงสุด กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ กรมเจ้าท่า กรมพัฒนาที่ดิน กรมแผนที่ทหาร กรมที่ดิน เป็นต้น
โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีอำนาจหน้าที่ ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับเอกสารสิทธิในที่ดินที่ราษฎรนำมากล่าวอ้าง ทั้งโฉนดที่ดิน น.ส.3 ก น.ส.3 ส.ค.1 เป็นต้น ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถูกต้องตรงตามตำแหน่งในภูมิประเทศจริงหรือไม่ รวมทั้งสามารถเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาให้ถ้อยคำหรือมีหนังสือขอเอกสารจากหน่วยงานต่างๆมาตรวจสอบได้ เบื้องต้นมีเอกสารสิทธิที่จะต้องถูกตรวจสอบประมาณ 164 ฉบับ พื้นที่กว่า 2 พันไร่ จากพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 13,446.40 ไร่ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมด 7 ป่า ได้แก่ ป่าเลนคลองบางชีเหล้า-คลองท่าจีน ป่าเลนคลองเกาะผี ป่าเลนคลองพารา ป่าเลนคลองท่ามะพร้าว ป่าเลนคลองท่าเรือ ป่าเลนคลองอู่ตะเภาและป่าเลนคลองบางโรง โดยมีการออกตั้งแต่ปี 2498 จนถึงปี 2555 คิดเป็นมูลค่าเกือบแสนล้านบาท
...
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลฯ กล่าวต่อว่า การตรวจสอบเอกสารสิทธิ จ.ภูเก็ต ทั้งจังหวัด เพราะมีการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนฯ จำนวนมาก เพื่อสร้างโรงแรม รีสอร์ตหรู ทั้งจากกลุ่มนายทุนไทยและต่างชาติ ที่สำคัญที่ดินมีราคาแพงมากไร่ละประมาณ 30-40 ล้านบาทในพื้นที่ติดชายทะเล การตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นมา เพื่อสร้างความกระจ่างให้กับทุกฝ่าย รวมทั้งแก้ปัญหาความล่าช้าในการทำงาน ระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกันเอง โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรฯกับกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ที่เมื่อเวลาเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบจับกุมดำเนินคดีกับบ้านพัก รีสอร์ต โรงแรม ท่าเทียบเรือที่บุกรุกป่าชายเลน ก็ไม่มีคนแสดงตัวเป็นเจ้าของหรือถ้ามีส่วนใหญ่ก็จะเป็นตัวแทน หรือนอมินีของนายทุนนำเอกสารสิทธิมาแสดง ซึ่งก็ต้องส่งไปตรวจสอบยังกรมที่ดิน และก็จะใช้เวลานานหลายปีทำให้ปัญหาการบุกรุกคาราคาซัง หลายครั้งเกิดข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน คณะกรรมการชุดนี้จะเป็นชุดแรกของประเทศที่จะมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมทำงานและจะตรวจสอบได้เลยว่า เอกสารสิทธิที่ครอบครองถูกต้องหรือไม่ โดย จ.ภูเก็ต กรมทรัพยากรทางทะเลฯมีข้อมูลเอกสารสิทธิพร้อมสมบูรณ์ที่สุด
ด้านนายศักดา วิเชียรศิลป์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลฯ ในฐานะคณะกรรมการตรวจพิสูจน์เอกสารสิทธิฯ กล่าวว่า จ.ภูเก็ต เดิมมีพื้นที่ป่าชายเลน (พ.ศ.2504) เนื้อที่ 21,021 ไร่ ได้ถูกบุกรุก เปลี่ยนสภาพเป็นบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่อยู่อาศัย หรือรีสอร์ต จนเมื่อปี พ.ศ.2557 ได้มีการแปลภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าเหลือพื้นที่ป่าชายเลน 13,446.40 ไร่ โดยเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ได้เปิดยุทธการตรวจสอบการครอบครองไปแล้วประมาณ 1,100 ไร่ ทั้งนี้ ในวันที่ 20 มิ.ย.จะมีการประชุมคณะกรรมการเพื่อกำหนดแนวทางการทำงาน จากนั้นจะมีการขยายผลไปยังจังหวัดที่มีการบุกรุกป่าชายเลนมากที่สุด คือ สมุทรสาคร 126,000 ไร่ รองลงมาคือ เพชรบุรี 35,200 ไร่ สมุทรสงคราม 14,600 ไร่ พังงา 3,680 ไร่ ฯลฯ ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกสารสิทธิใน จ.ภูเก็ต ที่กรมทรัพยากรทางทะเลฯ จะเข้าตรวจสอบมีทั้ง ส.ค.1 โฉนดที่ดิน น.ส.3 และ น.ส.3 ก ที่คาดว่า จะบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีผู้ถือครองส่วนใหญ่เป็นนายทุน นักธุรกิจ บริษัทเอกชนและมีรายใหญ่ๆหลายราย อาทิ นายธวัช ตันติพิริยะกิจ เป็นโฉนดที่ดิน 4 แปลง 169 ไร่เศษ บริษัทเฮอริเทจ เป็นโฉนดที่ดิน 13 แปลง พื้นที่ประมาณ 70 ไร่ นายสุภาพ ศักดิ์ศรีขาว มีทั้งโฉนดที่ดิน น.ส.3 น.ส.3 ก 18 แปลง พื้นที่ประมาณ 100 ไร่เศษ นายอาคม อัคสินธวังกูณ เป็นโฉนดที่ดิน 1 แปลง พื้นที่ประมาณ 247 ไร่เศษ นายทวี อัคสินธวังกูณ เป็นโฉนดที่ดิน 1 แปลง พื้นที่ 172 ไร่เศษ เป็นต้น
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวภายหลังการประชุม ครม. ถึงกรณีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำร่างประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.เพื่อใช้อำนาจตามมาตรา 44 เรียกคืนที่ดิน ส.ป.ก.จากผู้ที่ครอบครองมากกว่า 500 ไร่ นำไปจัดสรรให้กับเกษตรกรผู้ที่ไร้ที่ดินทำกินว่า เรื่องนี้ต้องผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาและให้นายวิษณุ เครืองาม รอง นายกรัฐมนตรี พิจารณาก่อน เรื่องนี้มีความผิดอยู่แล้ว จริงๆแล้วเรียกคืนได้เลย แต่เรื่องนี้มีปัญหามายาวนาน เจ้าของที่ดินอาจจะลำบากหรือเปล่า จะช่วยแล้วมันผิดหรือไม่ ส.ป.ก.เอาไปขายต่อได้ไหม แล้วมันเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยไหน สมัยนั้นตนก็ไม่ได้อยู่ จะแก้ในสมัยที่ตนอยู่ ยึดพื้นที่ได้คืนมาจำนวนหนึ่ง เสร็จแล้วต้องแก้ปัญหาว่า ยึดพื้นที่คืนมาแล้วคนนั้นจะไปอยู่ตรงไหนต้องแก้ไขอีก ปัญหาที่อยู่ที่ทำกินไม่ได้แก้กันง่ายๆ ไม่ใช่เอาที่คืนมาแล้วก็จบ คนเดือดร้อนจะไปอยู่ที่ไหน ทำอย่างไรให้ประชาชนจะเดือดร้อนน้อยที่สุด และไม่มีผลกระทบกับอย่างอื่น