การจัดเวทีให้ข้อมูล โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง ครั้งที่3 ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย เมื่อต้นเดือน มี.ค.2563 ที่ผ่านมา ถือว่า “มีรสชาติ” มากกว่าการจัดทั้ง 2 ครั้งก่อนหน้านี้ มีการพูดถึงความกังวลในประเด็นที่ระดับน้ำโขงลดต่ำกว่าทุกปี

โดยมีข้อสงสัยว่า เขื่อนไซยะบุรี ที่ สปป.ลาวเปิดการปั่นกระแสไฟฟ้าเมื่อปลายปีที่แล้วจะเป็นต้นเหตุด้วยหรือไม่???...ยิ่งมีแนวโน้มว่าจีนจะผันน้ำโขงไปใช้ประโยชน์อื่นอีกด้วย ก็ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เครือข่ายภาคประชาชนในนาม “คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำโขง” สรุปว่าไม่ควรรอถึงวันที่น้ำโขงแห้งจนทุกอย่างสายเกินแก้

เพราะหากมี เขื่อนหลวงพระบาง เพิ่มอีกแห่งโดยที่ไทยยังไม่มีเขื่อนของตัวเองมาช่วยชะลอน้ำในระบบสายประธาน ทำให้ทุกภาคส่วนซึ่งอยู่ในพื้นที่ “ท้ายน้ำ” อย่างประชาชนคนไทยเกิดความกังวลในระบบนิเวศยิ่งขึ้น

คณะกรรมการซึ่งมี นายกัญจน์ วงศ์อาจ เป็นประธานหัวหน้าคณะทำงานลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำโขง ส่วนที่ 5 จ.อุดรธานี รวมอยู่ด้วยได้รับเชิญให้ร่วมคณะไปกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อเดินทางไปศึกษาดูงานเขื่อนไซยะบุรีเมื่อต้นปี ได้นำประสบการณ์และข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แก่สายตามาถ่ายทอด

สรุปว่า “เขื่อนไซยะบุรี” สามารถสะท้อนถึงต้นแบบและแนวคิดของกระบวนการศึกษาออกแบบร่วมกัน เริ่มจากการระดมสมองของภาคประชาชนมาแต่ต้น จึงถือว่าเป็นเขื่อน “ต้นแบบ” ที่สอดคล้องกับระบบนิเวศปัจจุบัน

...

สามารถลดผลกระทบได้มากที่สุดและให้ประโยชน์สูงสุดแก่พื้นที่ในแง่ของวิศวกรรมก่อสร้างก็ได้มาตรฐานสูง แม้ต้องเพิ่มเงินลงทุนมหาศาลและต้องดูแลบำรุงรักษาอย่างดีต่อไปอีก แตกต่างจากเขื่อนที่สร้างมาก่อนและแสดงถึงธรรมาภิบาลของ สปป.ลาว

เมื่อประเด็นดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายที่เห็นต่างและคัดค้านการสร้างเขื่อนชนิด “หัวชนฝา” ถึงกับใช้เวทีโซเชียลตอบโต้โจมตีผู้เผยประเด็นอย่างรุนแรงโดยเปรียบเปรยว่าเป็นการ “รับใช้ทุนสามานย์”

ที่ต้องท้วงติงคือแทนที่จะทำสิ่งถูกต้องได้ประโยชน์กว่าคือการเสนอแนวคิดหลักการหรือข้อเท็จจริงที่จับต้องได้ และมีน้ำหนักหักล้างเพื่อให้สังคมตัดสิน...ซึ่งจะสะท้อนถึงความฉลาดในการให้ข้อมูลมากกว่า.

ทีมข่าวภูมิภาค/รายงาน