ขยะเป็นปัญหาโลกแตกในสังคมเมืองที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าหน่วยงานต่างๆจะออกรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการ คัดแยกขยะครัวเรือนเพื่อนำไปกำจัด แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้เบ็ดเสร็จอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมามีการพูดถึงความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่ช่วยตอบโจทย์ได้ตรงจุด เพราะสามารถนำขยะเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้ แต่ก็ถูกชาวบ้านคัดค้านมาตลอด ทำให้หลายโครงการต้องหยุดชะงักไป
...
เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่หมู่ 7 ต.สันทรายงาม อ.เทิง จ.เชียงราย ที่รองรับขยะได้ 500-700 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้ 9.9 เมกะวัตต์ จะช่วยแก้ปัญหาขยะใน จ.เชียงรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ไม่พ้นโดนชาวบ้านออกมาต่อต้านและยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเชียงราย และสำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดเชียงรายให้มีการยกเลิกการก่อสร้าง เนื่องจากกลัวผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน
ล่าสุด สภาทนายความจังหวัดเชียงราย ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาข้อพิพาท และพร้อมให้คำปรึกษาด้านกฎหมายให้กับชาวบ้านเพื่อหาทางออกในเรื่องดังกล่าว
นายเกรียงศักดิ์ เกียรติเวชช์ ประธานสภาทนายความจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ไม่ใช่ว่าโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเป็นโครงการไม่ดี เพียงแต่สถานที่ตั้งต้องห่างไกลชุมชน เพื่อไม่ให้ส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน
จำเป็นต้องจัดทำประชาพิจารณ์ ถ้าคนในหมู่บ้านเห็นพ้องต้องกันว่าควรมีก็มีได้ เพราะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ คงไม่มีใครอยากเห็นบ้านเมือง เต็มไปด้วยขยะ แต่การตั้งโรงไฟฟ้าต้องดูว่าสอดคล้องกับกฎหมายหรือไม่
เรื่องนี้ต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมายเข้ามาพิสูจน์ความจริงทั้งด้านบวกและด้านลบให้เห็นว่าโรงงานไฟฟ้าจากขยะจะช่วยแก้ปัญหาขยะล้นเมืองหรือเพิ่มมลพิษให้ชุมชน
ในส่วนของโรงงานไฟฟ้าจะต้องชี้แจงสังคม ให้ได้ว่า หากจะก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะ มีระบบป้องกันปัญหามลพิษต่างๆอย่างรัดกุมให้ชาวบ้านวางใจว่าปลอดภัย ไม่มีผลกระทบในอนาคตจนต้องออกเรียกร้องกันคำรบสอง
...
“บทบาทหน้าที่ของทนายความคือการนำเรื่องขึ้นสู่กระบวนการศาลเพื่อให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาด ผมและทีมสภาทนายความที่มีความเชี่ยวชาญคดีสิ่งแวดล้อมสาธารณะพร้อมเข้ามาช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว
ส่วน นายสรัลชา ศรีชลวัฒนา อดีตอุปนายกสภาทนายความ เลขาธิการสภาทนายความ และกรรมการบริหารสภาทนายความหลายสมัย กล่าวว่า พ.ร.บ.ทนายความปี 2528 กำหนดไว้ว่าทนายความมีหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมาย
...
ที่ผ่านมารัฐเคยอุดหนุนเงินให้ทนายความไปช่วยเหลือประชาชนทางด้านกฎหมายทั่วประเทศปีละ 60 ล้านบาท แต่ขณะนี้เหลือ 30 ล้านบาท ไม่สมดุลกับงานช่วยเหลือประชาชน
ฉะนั้นมีความจำเป็นที่ต้องเจรจากับรัฐบาลให้หันมาดูแลงานช่วยเหลือประชาชนของสภาทนายความให้มากกว่าเดิม เพื่อจะได้จัดงบฯให้เกิดความสมดุล โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมสาธารณะที่เกิดมากขึ้นทุกวัน
ด้าน นายอรุณ จินณรักษ์ ประธานกลุ่มผู้คัดค้านการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะ ต.สันทรายงาม กล่าวว่า ขณะนี้มีการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองและ ป.ป.ช.ไปแล้ว อยู่ระหว่างการตอบรับ ส่วนกรณีสภาทนายความจะยื่นมือช่วยเหลือทางด้านคดีก็ยินดี
ส่วนตัวเห็นว่าโรงไฟฟ้าไม่ควรมี เพราะเชียงรายเป็นเมืองท่องเที่ยว แล้วที่ตั้งโครงการก็เป็นแหล่งต้นน้ำลำน้ำร่องพั๊วะ อยู่ห่างโรงพยาบาลกับโรงพักแค่ 2 กม. และอยู่ใกล้ชุมชนซึ่งไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
...
กลุ่มชาวบ้านที่ร่วมกันคัดค้านไม่ได้ปกป้องสิทธิ์คน อ.เทิง แต่ทุกคนปกป้องผลประโยชน์คนเชียงรายทั้งจังหวัด.
วีระชัย ปทุมชัย