ผู้บริหาร บริษัท อัคราฯ เจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองคำชาตรี ยื่นหนังสืออุทธรณ์ โต้แย้งคำสั่งอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่แล้ว วอนขอความเป็นธรรมพร้อมเดินหน้าสื่อสารความจริงแก่สังคม
วันที่ 3 มิถุนายน นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองคำชาตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเคลื่อนไหวของ บริษัทฯ จากกรณีคำสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรีสิ้นปี 2559 ว่าเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 14.00 น. บริษัทฯ ได้ส่งหนังสือขออุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ 1/2551 ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ตามหนังสือของ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ อก 0512/1853 ฉบับลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 ถึงอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับเนื้อหาในหนังสืออุทธรณ์กล่าวถึงสืบเนื่องจากผลการประชุมของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา มีมติยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ และประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรทั่วประเทศ ในส่วนของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มีมติเห็นควรให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมไปจนถึงสิ้นปี 2559 หลังจากนั้นให้ทางบริษัทปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ตามแผนที่วางไว้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จากกรณีมีกลุ่มประชาชนที่อ้างว่าได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการประกอบกิจการเหมืองฯ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินงานเหมืองแร่ทองคำชาตรี เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อ บริษัทฯ และพนักงาน จึงวิงวอนให้ภาครัฐหาข้อสรุปด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้กระจ่างตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และคลายความกังวลใจที่เกิดขึ้นในชุมชน
...
นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า การยื่นหนังสือขออุทธรณ์ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่า บริษัทฯ ได้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีตามมาตรฐานสากล ด้วยความรับผิดชอบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมเสมอมาตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ซึ่งการประกอบกิจการนั้นเป็นไปตามกฎหมาย และปฏิบัติตามมาตรการ EHIA อย่างเคร่งครัดทุกประการ
“บริษัท ยังคงมีประทานบัตรที่ได้รับอนุญาตอยู่อีก 13 ฉบับ ซึ่งมีอายุประทานบัตรไล่เลี่ยกันจนถึงปี 2571 จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการนำสินแร่ที่มีอยู่ขึ้นมาได้ทันภายในระยะเวลาเพียงสิ้นปี 2559 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีกองสินแร่ที่ต้องดำเนินการในโรงประกอบโลหกรรมนี้ต่อไปอีกจำนวนมาก และต้องใช้เวลาหลายปีในการดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ บริษัทฯ ได้พิสูจน์ให้เห็นมาตลอดว่ากิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรีแต่อย่างใด นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีส่วนช่วยสร้างให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยทั้งในระดับท้องถิ่นและต่อประเทศไทยโดยรวม” นายเชิดศักดิ์ กล่าว
สำหรับมาตรการเรื่องการป้องกันมลพิษนั้น นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทฯ มีการตรวจวัดทางสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียด ได้จัดให้มีการตรวจวัดฝุ่น เสียง น้ำ แรงสั่นสะเทือน และก๊าซจากปล่องในโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนตรวจสุขภาพประชาชนที่อาศัยโดยรอบทุกๆ 3 เดือนตามหลักวิชาการ และข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์สามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน จากหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรง คือ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในทุกๆ 3 และ 6 เดือนอยู่สม่ำเสมอ จึงไม่ใช่สาเหตุที่ก่อให้เกิดผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพตามที่เกิดเป็นข้อกล่าวหา ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำนินการให้ข้อมูล และหลักฐานทางวิชาการต่างๆ แก่หน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่เป็นระยะ และพร้อมให้ข้อมูลดังกล่าวแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน
นายเชิดศักดิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า การดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีนั้น ได้มาตรฐานสากล มีความปลอดภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะระบบบริหารจัดการบ่อเก็บกากแร่ (บ่อ TSF) ได้รับการรับรองความปลอดภัยสูงสุดในการใช้สารไซยาไนด์ หรือ Cyanide Management Code ซึ่งเป็นเครื่องหมายยืนยันมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในวงการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทั่วโลก ซี่งมีเหมืองแร่เพียง 70 แห่งทั่วโลกเท่านั้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยนี้ โดยเหมืองแร่ทองคำชาตรีคือหนึ่งในนั้น นอกจากนั้น เหมืองแร่ทองคำชาตรีของ บริษัท อัคราฯ ยังเป็น 1 ใน 12 สถานประกอบการในประเทศไทย ที่ได้รับมาตรฐาน SA 8000
“ปัจจุบัน บริษัทฯ มีการจ้างพนักงานทั้งหมดกว่า 1,000 คน พร้อมครอบครัว 4,000-6,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัดคือ พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ต้องลำบาก เพราะบางคนอายุมากเกินกว่าจะไปหางานใหม่ นอกจากนี้ คนงานมีภาระหนี้สินผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ต้องได้รับผลกระทบจากการตกงาน พ่อแม่ต้องไปหางานนอกพื้นที่ ทำให้ครอบครัวแตกแยก อีกทั้ง โครงการที่เหมืองสนับสนุนอยู่ก็ไม่มีเงินสนับสนุนต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำดื่มสะอาด การบรรเทาภัยแล้ง การสนับสนุนโรงเรียน โครงการสร้างอาชีพจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นกว่า 4 พันล้านบาทต่อปี” นายเชิดศักดิ์ กล่าว.