CMDF ร่วมกับ OKMD กระตุกต่อมคิดเด็กและเยาวชน ผ่านกิจกรรม "ตลาดนัดความรู้" ด้านการเงินการลงทุนกับ Fin Lab 8 จังหวัด 4 ภูมิภาค คิกออฟที่แรก จ.ฉะเชิงเทรา ด้าน 2 เยาวชน เผย หลังร่วมกิจกรรมมีแรงบันดาลใจในการออมและการลงทุนเพิ่มขึ้น ชี้ ไม่ยากอย่างที่คิด

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 67 กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ร่วมกับ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD จัดทำโครงการคาราวานความรู้ตลาดทุนรุกสู่ภูมิภาคและบ่มเพาะต้นแบบคนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดทุน หรือ Fin Lab โดยมีกิจกรรมตลาดนัดความรู้ (Knowledge Market) เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเงินการลงทุนให้แก่กลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 13-18 ปี ระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ให้สามารถเข้าถึงและสร้างการตระหนักรู้ด้านการเงินการลงทุนและสามารถต่อยอดได้ในอนาคต โดยจะมีการจัดกิจกรรมในพื้นที่ 8 จังหวัด ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ขอนแก่น นครราชสีมา จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต และยะลา ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2567

โดยจะประเดิมจัดกิจกรรมครั้งแรก ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม ณ ศูนย์การเรียนรู้เมือฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD กล่าวว่า โครงการนี้
มุ่งสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีสมรรถนะและทักษะด้านการเงินการลงทุน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคต่างๆ ที่มีความสนใจ โดยเน้นกลุ่มวัย 13-18 ปี เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เพิ่มองค์ความรู้ด้านทักษะทางการเงิน การออม การลงทุนที่ถูกต้องเหมาะสม โดยเน้นการกระจายแหล่งเรียนรู้ด้านการลงทุนไปสู่ภูมิภาค เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นนักลงทุนในอนาคต รู้จักสร้างรายได้ เก็บออม บริหารจัดการเงินออม และรู้จักผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมต่อยอดไปสู่การลงทุนในอนาคต รวมถึงปลูกฝังแนวคิดการลงทุนอย่างยั่งยืน (ESG) ที่ให้ความสำคัญกับ Sustainability Business

...

ด้าน นายเศรษฐพล ธรรมจินดา ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินการลงทุนให้กับคนทุกช่วงวัยตลอดมา และโดยเฉพาะวัยเด็ก ถือเป็นการปูพื้นฐานที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดทุนในอนาคต ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เองเชื่อมันว่าการที่เด็กๆ สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการเงินการลงทุนและมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจะช่วยให้เขาสามารถต่อยอดความรู้กับการเรียน อาชีพ และการสร้างรายได้ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเกิดการวางแผนการเงินและการลงทุนที่เหมาะสมกับช่วงวัย อันนำไปสู่การลดปัญหาทางการเงินส่วนบุคคล ซึ่งส่งผลต่อสเถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในภาพรวมได้

ส่วน นายจักรชัย บุญยะวัตร ผู้จัดการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) กล่าวว่า กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนหวังว่าเยาวชนกว่า 3,000 คน ที่ได้รับการกระตุกต่อมคิดด้วยความรู้ด้านการเงินการลงทุนในครั้งนี้จะสามารถเป็นคนต้นแบบที่ขยายผลองค์ความรู้ไปสู่คนรอบข้างและครอบครัว และนำไปสู่การเป็นนักลงทุนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในอนาคตที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืนทั้งระบบต่อไปในอนาคต

ขณะที่เด็กและเยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรม จะเพลิดเพลินและได้รับการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพด้านการเงินการลงทุนผ่านตลาดทุนให้กับเด็กและเยาวชน ผ่านกิจกรรมที่เน้นการเรียนรู้ ได้แก่

1. Active Learning จากองค์ความรู้พื้นฐานด้านทักษะทางการเงิน การออม การลงทุน ต่อยอดสู่ทักษะการเงินการลงทุนในอนาคต โดยมีกิจกรรมหลัก ได้แก่ การจัดนิทรรศการในรูปแบบเกม Fantasy Battle ที่จะพาไปเรียนรู้เรื่อง 3 พลังมหัศจรรย์ คือ 1) เงินต้น 2) อัตราผลตอบแทน 3) ระยะเวลา ผ่านลานประลองศึกที่อัศวินแต่ละกลุ่มสามารถเลือกแต่งคอสเพลย์ โดยใช้เครื่องแต่งกายเป็นตัวแทนของ 3 พลังมหัศจรรย์ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าของเงินออม เช่น เครื่องหัว คือ อัตราผลตอบแทน โล่ คือ เงินต้น พาหนะ คือ ระยะเวลา และอาวุธ คือ ปัจจัยภายนอก มาประลองศึกจนได้ผู้ชนะจากการคำนวณจำนวนเงินสุทธิคงเหลือหลังจากการประลองเสร็จสิ้น โดยวิธีนี้ผู้เล่นจะค่อยๆ เรียนรู้หลักการของ 3 พลังมหัศจรรย์ จากการเล่นเกมโดยไม่รู้ตัว

นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรม Interactive Workshop ในรูปแบบคาราวานตลาดทุน มีการจัดเวิร์กช็อปที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน ผ่านเกม Invest King จำลองโลกการเงินและการลงทุนเสมือนจริงไว้บนมือถือ ครอบคลุมเนื้อหาใน 8 ประเด็น ได้แก่ 1.การวางแผนทางการเงินตามวัฏจักรชีวิต (Life Cycle)

...

2.การกำหนดเป้าหมายและวางแผนการเงิน 3.รายได้ รายจ่าย และเงินออม 4.อัตราส่วนความอยู่รอดและอัตราส่วนความมั่งคั่ง 5. 3 พลังมหัศจรรย์ (เงินต้น อัตราผลตอบแทน ระยะเวลา) 6.การลงทุน อัตราผลตอบแทน และความเสี่ยง 7.การบริหารหนี้ และพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดหนี้ และ 8.ภัยจากการลงทุนและวิธีรับมือ

กิจกรรมสุดท้ายคือ Knowledge Network Partners คือ ยกคาราวานภาคีเครือข่ายออกบูธให้ความรู้ด้านการเงินการลงทุนผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การเสวนาจากภาคีเครือข่าย บอร์ดเกมส่งเสริมความรู้ด้านการเงินการลงทุน เป็นต้น ทั้งนี้หน่วยงานที่ร่วมกิจกรรมออกบูทไปยังจังหวัดต่างๆ ใน 4 ภูมิภาค อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย กองทุนการออมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ธนาคารออมสิน ธนาคารเกียรตินาคินภัทร สมาคมยุวชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อไทย ฯลฯ

ขณะที่ นายกรวิชญ์ ระกาสี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎ์ กล่าวภายหลังได้เข้าร่วมกิจกรรมว่า ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมกิจกรรมก็รู้เรื่องการออมบ้างแต่เรื่องลงทุนไม่เคยรู้ และคิดว่าเป็นความเสี่ยง แต่เมื่อครอบครัวประสบปัญหาทางการเงิน ก็เลยรู้จักเก็บออม เพราะคิดว่าเราจะสามารถมีเงินช่วยแบ่งเบาได้ โดยแบ่งเงินที่ได้รับออกเป็นสองส่วน คือ ใช้จ่าย และเก็บออม 40% และเมื่อครูบอกว่ามีกิจกรรมเรื่องการลงทุน จึงสนใจเข้าร่วม และได้เรียนรู้ผ่านเกมการวางแผนชีวิตว่าเมื่อเราอยู่มัธยมต้นเราควรทำยังไง มัธยมปลายทำยังไง มหาวิทยาลัยทำยังไง รวมไปถึงเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน เราต้องวางแผนชีวิตแบบไหน เรียน ทำงาน เที่ยว แล้วให้แต้ม จากนั้นนำมาวิเคราะห์ และพบว่า ม.ต้น จะเป็นวัยที่ใช้ชี่วิตแบบมีความสุข ทั้งเที่ยว เล่น เราจึงมาวางแผนใหม่ว่า ถ้าเรามีโอกาสได้เรียน ก็ควรจะให้เวลากับการเรียนให้มาที่สุด เพื่อจะได้แต้มทางการศึกษา มีอบรมบ้าง เพิ่มเติมความรู้ก็จะได้แต้มเพิ่ม จึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ ให้เข้าร่วมกิจกรรมเพราะได้ความรู้มาก และทำให้เรามีมุมมองใหม่ว่า การออมการลงทุนเป็นเรื่องใกล้ตัว และมันไม่ยากอย่างที่คิด ที่สำคัญเราจะรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกงด้วย เพราะจากประสบการณ์ตรงจากเพื่อนๆ และคนใกล้ชิด ก็มักจะถูกหลอกให้ลงทุนโดยอ้างว่าลงทุนน้อยได้ผลตอบแทนสูง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่จริง

...

นางสาวกนกรต บรรจงศิลป์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ เป็นอีกหนึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า ได้ประโยชน์จากิจกรรมมาก เพราะทำให้รู้ว่าควรบริหารเงินอย่างไร ซึ่งมันโอเคมากๆ สำหรับคนรุ่นตนที่คิดว่าการลงทุนเป็นเรื่องยาก

"เราได้เรียนรู้จากกิจกรรมว่า เงินที่ได้จะใช้เท่าไร และออมทำไร เพื่อนำไปตอบสนองเป้าหมายในชีวิต โดยไม่เดือดร้อน เช่นถ้าเราอยากเที่ยวเราต้องเก็บเงินวันละเท่าไร เพราะปัจจุบันเรามักเงินที่เราได้มาจะหมดไปกับค่ากิน ค่าอยู่ ค่าโทรศัพท์ ซึ่งถ้าเรารู้จักใช้สื่อให้เป็น เราก็จะสามารถจัดการรายรับรายจ่ายได้ แม้แต่เราจะกินอะไรเราก็วางแผนได้ อยากเชิญชวนเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ มาร่วมกิจกรรมกันมากๆ เพราะจะเพิ่มแพชชั่นให้กับตัวเอง เหมือนที่หนูเองได้รับ" นางสาวกนกรต กล่าว.