ภายในวัดนิเวศธรรมประวัติ บางปะอิน นอกจากโบสถ์วิหารอาคาร กระทั่งพระพุทธรูป ผสมผสานศิลปะโกธิคของฝรั่งตั้งแต่สมัย ร.4 ร.5 ด้านหลังโบสถ์ยังมีเครื่องวัดแดดแบบฝรั่ง

ตอนขึ้นกระเช้าจากฝั่งวังข้ามคลองไปฝั่งวัด มีเสียงจากผู้เฒ่า ให้แวะดูเครื่องวัดแดด ผมสงสัย ในวัดมีของดีๆให้ดูมากมาย เครื่องวัดแดดมีความหมายอะไรนักหนา?

ใกล้ๆเครื่องวัดแดด มีอนุสาวรีย์ขนาดย่อม อ่านคำจารึกในแท่น ได้ความว่าเป็นเรื่องสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็เดาเอาตามประสา...สมเด็จฯกรมดำรง ท่านคงทำอะไร? ไว้ที่นี่มาก

อะไร? ผมก็นึกไปถึงรูป...ที่เป็นวัตถุ...มากกว่า ไม่ทันคิดไปสักนิดว่า เป็น “นามธรรม” การริเริ่ม ที่เป็นคุณูปการยิ่งใหญ่ไพศาล แก่คนไทยทั้งชาติ

ใน “เก็บตกจากกรุงสยาม” (ไทยวัฒนาพานิช พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2545) คุณเอนก นาวิกมูล เขียนไว้ในเรื่อง ตาอินกับตานามาจากไหน? ตอนหนึ่ง

พ.ศ.2426 สมเด็จฯกรมดำรงราชานุภาพ ผนวชเป็นพระอยู่ที่วัดนิเวศธรรมประวัติ ทอดพระเนตรเห็นเด็กแถวนั้น เรียนหนังสือบ้าง ไปทำนาบ้าง ความรู้ตกๆหล่นๆ หลงๆลืมๆ

สมัยนั้นเด็กเรียนมูลบทบรรพกิจ (แจกลูก ก.ข. ก.กา ต่อด้วย ขึ้นตัวสะกด...แม่กง แม่กน ฯลฯ) สมเด็จฯทรงเห็นว่า เป็นการเรียนแบบโบราณ ทรงอยู่ในวัดที่มีแต่บรรยากาศศิลปะวิชาฝรั่ง จึงทรงคิดหาตำราเรียนแบบใหม่

พ.ศ.2430 ในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศึกษาธิการ จึงทรงริเริ่มแต่งแบบเรียนเร็ว ทรงทดลองสอนเด็กในวังวรดิศ สองปีต่อมาก็ตีพิมพ์เป็นเล่ม เมื่อนำทูลเกล้าฯถวาย ได้รับพระบรมราชานุญาต

หนังสือแบบเรียนเร็ว สอนให้รู้จักพยัญชนะ สระ และการผสมเป็นคำ เป็นความ และเพื่อให้เด็กอ่านหนังสือได้คล่อง จึงมีบทหัดอ่านให้เขียนในลักษณะนิทานสอนใจ...หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งเล่าขานถึงวันนี้ ตาอินกับตานา

...

ชื่อนี้ เรียกตามเนื้อเพลงสุนทราภรณ์ ซึ่งแต่งทีหลัง ผมจำได้ คุณศรีสุดาฯร้อง คุณเอนกว่า ฟังๆกันราวปี 2512

ตาอินกะตานา หาปลาเอามากินกัน ได้ปลาทุกวัน รักกันก็ปันกันไป หาปลากันมานาน หาปลามาบานตะไท จนแม้ใครๆ รู้น้ำใจไมตรีปรีดา

แต่แล้ววันหนึ่ง เคราะห์มาถึงขมึงทึงมา สองคนถึงคราแย่งหางปลาหัวปลากันเกรียว

ตาอินกะตานา โศกาอาวรณ์จริงเชียว ตาอยู่มาเดี๋ยวเดียวคว้าพุงเพียวๆไปกิน

เนื้อเพลงสั้นๆแค่นี้ แต่เรื่องเดิม ที่สมเด็จฯนิพนธ์ ขึ้นต้นเป็นเรื่องตานากับตาอิน ตอนแรกจับปลาอยู่ใกล้กัน ได้ปลาน้อยไม่พอกิน ตานาแยกไปหาปลาในทะเล ตาอินหาปลาน้ำตื้น

วันหนึ่งตานาได้ปลาฉลามตัวใหญ่ มาบอกแบ่งข้างหางให้

ตาอิน ตานาจะเอาข้างหัว ตาอินไม่ยอม เลยเถียงกัน จนตาอยู่เจ้าเล่ห์ ในนิทานมีสมญา “แขนคอก” เดินผ่านมา

ตาอยู่ทำทีเป็นเหนื่อยจากงานชำระความในศาล...แต่ทนอ้อนวอนไม่ไหว ขอสัญญา ตัดสินยังไงต้องทำตามนั้น พอได้สัญญา ตาอยู่ก็ตัดสินเอาปลาท่อนกลาง ซึ่งติดพุงมันๆ เอาไปบ้าน

เรื่องก็จบเหมือนเพลงสุนทราภรณ์...ตาอินกะตานา โศกาอาวรณ์จริงเชียว...แล้วทั้งสองก็รู้สำนึก รู้จักแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้าทะเลาะเบาะแว้งกัน ที่สุดก็จะเสียประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ...ทรงเป็นองค์ต้นแบบ แบบเรียนเร็ว...ต่อมามีผู้รู้รุ่นต่อมา ดัดแปลงแต่งต่อมาหลายคน ถึงเด็กรุ่นผม...เรียน ป. เตรียม พ.ศ.2496 เรียกแบบเรียนเร็วใหม่ ที่จำกันได้ ก็ตอน ป้ากะปู่กู้อีจู้

ผมตั้งชื่อคอลัมน์ สุดทางที่บางปะอิน...แต่เนื้อหาตอนนี้ ควรเปลี่ยนเป็น เริ่มต้นที่บางปะอิน...เจ้านายสยามเริ่มปฏิรูปการศึกษาแบบใหม่...ที่บางปะอิน ให้คนไทยได้เรียนรู้กันจนมาถึงวันนี้.

กิเลน ประลองเชิง