“พล.ต.ต.อภิชาติ” ผู้บังคับการกองการต่างประเทศ เสนอยูเอ็นใช้ “ตำรวจสากล” เป็นกลไกปราบอาชญากรรมข้ามชาติ ชี้มีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสีย เนื่องจากมีระบบสื่อสารครอบคลุม 190 ประเทศ และกำลังขยายลึกไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ...

วันที่ 22 พ.ย. 2559 ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา พล.ต.ต.อภิชาติ สุริบุญญา ผู้บังคับการกองการต่างประเทศ (ผบก.ตท.) ในฐานะหัวหน้าตำรวจสากลประเทศไทย ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 71 ในนามของประเทศไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนับสนุนร่างมติสหประชาชาติว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสหประชาชาติกับองค์การตำรวจสากล ซึ่งประเทศไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับการทาบทามจากองค์การตำรวจสากลให้เป็น 1 ใน 5 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ รวันดา จอร์แดน จาเมกา และไทย ให้ทำหน้าที่ยกร่างและอุปถัมภ์หลักในข้อมตินี้

พล.ต.ต.อภิชาติ กล่าวในที่ประชุมถึงสภาพปัญหาของอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้ายในปัจจุบันที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากสภาพแวดล้อมของโลกที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น ซึ่งการต่อสู้กับภัยคุกคามเหล่านี้ หากจะให้มีประสิทธิภาพ ไม่ควรเพียงเป็นหน้าที่ของตำรวจและฝ่ายความมั่นคงของรัฐเท่านั้น แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชนอย่างแท้จริง และใช้แนวทางข่าวกรองนำกิจการตำรวจ ซึ่งพลังความร่วมมือแบบบูรณาการแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อภาคเอกชนและประชาชนต้องถูกให้องค์ความรู้และความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมและการก่อการร้ายอย่างต่อเนื่องโดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำรวจในชุมชน ดังนั้น ถึงเวลาที่สหประชาชาติควรจะมีกลไกในการนำแนวทางและองค์ความรู้ต่างๆ ว่าด้วยการต่อสู้อาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้ายที่ได้จากการประชุมส่งตรงไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติโดยตรงและรวดเร็ว โดยแนวทางและองค์ความรู้เหล่านี้ไม่ควรตกค้างอยู่ที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงเพราะจะเสียเวลา เนื่องจากการต่อสู้กับอาชญากรรมปัจจุบันนั้นต้องตอบโต้รวดเร็วทันทีเพื่อลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด ซึ่งกลไกดังกล่าวก็คือ เครือข่ายตำรวจสากลที่มีระบบการสื่อสารครอบคลุมถึง 190 ประเทศและกำลังขยายลงลึกไปถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

...

นอกจากนี้ พล.ต.ต.อภิชาติ ยังกล่าวถึงความสำเร็จของตำรวจไทยในการใช้เครือข่ายช่องทางตำรวจสากลซึ่งสามารถจับกุมคนร้ายข้ามชาติที่ถูกหมายจับขององค์การตำรวจสากลได้มากถึง 55 คนในรอบสามปีที่ผ่านมา มากที่สุดในภาคพื้นเอเชีย และท้ายที่สุด สมาชิกสหประชาชาติทั้ง 190 ประเทศก็ได้ให้การรับรองมตินี้อย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งนับจากนี้เป็นต้นไป ช่องทางสื่อสารองค์การตำรวจสากล หรือที่เรียกกันว่า I-24/7 (ชื่อของระบบการสื่อสารขององค์การตำรวจสากลที่ใช้สื่อสารประเทศสมาชิกทั้งหมด 190 ประเทศอยู่ทุกวันนี้) จะมีความเป็นทางการมากขึ้น และจะเป็นช่องทางหลักที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติจะใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองในการป้องกันปราบปรามภัยคุกคามข้ามชาติต่อไป

สำหรับ I-24/7 นั้น ย่อมาจาก information 24 hours and 7 days คือชื่อของระบบการสื่อสารขององค์การตำรวจสากลที่ใช้สื่อสารประเทศสมาชิกทั้งหมด 190 ประเทศอยู่ทุกวันนี้ ตำรวจทุกประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การนี้จะต้องถูกติดตั้งระบบนี้จากองค์การตำรวจสากลเพื่อใช้ในการสื่อสาร คือข้อมูลจะต้องส่งถึงกันได้และประสานได้ระหว่างประเทศสมาชิกได้ 24 ชั่วโมงและเจ็ดวัน โดยที่ไม่มีวันหยุด.