ประสาร ทรงประดิษฐ์ ลูกค้าย่านประตูน้ำ เรียกขานกันว่า “ป้าอี๊ด” วัย 62 ปี “ขายข้าวแกงมานานมากจนจำไม่ได้ว่ากี่ปี รู้แค่ตอนนั้นยังไม่มีตึกใบหยก 1 เมื่อก่อนยังเป็นโรงหนังสตาร์ และโรงหนังสเตล่า ปัจจุบันใบหยก 2”
ป้าอี๊ดน่าจะเป็นเจ้าของข้าวแกงคอนโดที่เล็กที่สุดในโลก ใช้พื้นที่ขายเพียง 1 ตารางเมตร หลังศูนย์การค้าอินทรา สแควร์ ที่ตั้งร้านอยู่เยื้องๆธนาคารกสิกรไทย
ป้าอี๊ดเล่าว่า ขายแรกๆก็ถูกไล่ที่ จนมาลงตัวในพื้นที่เล็กๆหน้าร้านรองเท้า Foot Look เนื่องจากเจ้าของใจดีอนุญาตให้ขาย โดยไม่เก็บค่าเช่า
ด้วยพื้นที่มีจำกัด ป้าอี๊ดคิดวิธีจัดร้าน เริ่มจากตั้ง 2 ถาดก่อน หลังจากนั้นก็ลองเอาถาดมาเรียงสลับฟันปลาขึ้นไปเรื่อยๆถึง 11 ชั้น จนลูกค้าให้ฉายาว่า “ข้าวแกงคอนโด”
ตอนแรกป้าอี๊ดทำมาอย่างละหน่อย วางขายสองถาดก่อน ตอนนั้นที่นั่งขายอยู่ตรงกับบันไดปูนทางขึ้นลงโรงหนังอินทรา พอทุบทำเป็นบันไดเลื่อน ฝุ่นก็ฟุ้ง ป้าอี๊ดก็หาพลาสติกมาคลุมถาดอาหารไว้ ขายได้วันละ 350 บาท รวมทั้งทุนและกำไร
กับข้าวที่ขายอยู่ทุกวัน ป้าอี๊ดก็ทำเองหมด เพราะมีบทเรียน เคยจ้างเขาทำพะแนงหมู ตอนแรกไม่รู้ราคา ตักขายไปหมดหม้อได้เงิน 80 บาท พอไปจ่ายค่าพะแนงหมู เขาคิดหม้อ 180 บาท บทเรียนนี้ มีผลให้ป้าอี๊ดต้องทำเองทุกอย่าง
ป้าอี๊ดนอนตั้งแต่ 6 โมงเย็น และตื่นตั้งแต่ตีหนึ่ง เข็นรถไปซื้อกับข้าวที่ตลาดมหานาค ซื้อเสร็จตีสองบางทีก็ตีสาม กลับมาถึงก็ตั้งหม้อข้าวหุงด้วยถ่าน แล้วมาหั่นผัก กับข้าวแต่ละวันทำ 10 กว่าอย่าง ทั้งผัด แกง ทอด และซื้อขนมไทยจากเจ้าประจำ แล้วมาขูดมะพร้าวนึ่งใส่กับข้าวก็เปลี่ยนวนไป เมนูเด็ดที่ขาดไม่ได้ ปลาดุกทอดกรอบ ผัดหน่อไม้ รวมทั้งไข่พะโล้
กับข้าวที่ไม่ควรทำ ก็พวกแกงกะทิ เพราะจะบูดเร็ว กับข้าวของป้าอี๊ดจะทำให้สุกและเดือด ของทุกอย่างทำอย่างดี ป้าจำมาจากพ่อ
...
ป้าอี๊ดทำกับข้าวเสร็จใส่เป็นถุงๆ รวมถึงข้าวที่หุงใส่ถุงไว้สองกระติก
2 โมงเช้า ป้าอี๊ดเอาทุกอย่างใส่รถเข็น อาบน้ำแต่งตัว รอสามล้อขาประจำจะมารับที่ห้องเช่า ตรงทางรถไฟยมราช ขนของขึ้นรถและก็เอารถเข็นใส่ท้ายมาด้วย มาถึงจัดร้านเอาแกงเทใส่ถาด บางทียังไม่ทันได้จัดร้าน ลูกค้ามาซื้อ ก็ตักขายตั้งแต่อยู่ในรถ
เทคนิคการวางถาด ป้าอี๊ดเอาของหนักไว้ข้างล่างสุด อย่างพวกที่เป็นน้ำ เช่น ไข่พะโล้ เมื่อก่อนเคยใส่หม้อ แต่ตอนหลังวางไม่ได้ เพราะที่ขายจำกัดเลยต้องใส่ถาด
ที่สำคัญ ป้าอี๊ดต้องคอยระวัง เคยมีลูกค้าต่างชาติมาซื้อแล้วอยากช่วย ดึงถาดออกมาจนคว่ำ โชคดีในถาดเหลือไม่มาก
การเรียงถาดอาหารของป้าอี๊ดต้องอาศัยความชำนาญ เรียงถาดทุกวัน ตักทุกวัน จนชินมือ แม้กับข้าวจากถาดล่างๆจะตักยาก แต่ก็ขายหมดทุกวัน ราดหนึ่งอย่าง 30 บาท สองอย่าง 40 บาท สามอย่าง 50 บาท
บางทีตักให้ลูกค้าก็ร้องบอกให้พอ ป้าอี๊ดเห็นว่าบางคนใช้แรงงานเยอะ ป้าก็อยากให้กินเยอะ
ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนทำงาน ต่างชาติก็มี บางคนซื้อแล้วก็นั่งลงกินข้างๆเลย ขายหมดทุกวัน บางวันลูกค้าก็มาไม่ทัน แต่บางวันก็เหลือนิดหน่อย
ในบรรยากาศการทำมาค้าขาย...ก็มีเรื่องไม่น่าเชื่อ ในบรรดาลูกค้ามากมาย มีคนหลายคนมาขอกินฟรี
บางคนก็มาทุกวัน ก็ให้ทุกวัน อยากกินอะไรก็ตัก ให้น้ำไปด้วย
“คิดว่าเราได้บุญ ให้ไปแล้วก็สบายใจ” ป้าอี๊ดว่า “ยกเว้นคนเมาป้าไม่ให้”
ป้าอี๊ดบอกว่า ขายถึงบ่าย 3 ครึ่งก็หมด รถสามล้อก็มารับ ขนของกลับไปล้างที่ห้อง ล้างเสร็จก็กินข้าว มีวิทยุเปิดฟังไว้เป็นเพื่อน ทีวีในห้องก็เคยมี แต่ตอนนี้พังแล้ว ยังไม่ได้ซื้อเครื่องใหม่
แต่วิทยุยังใช้ได้ ป้าอี๊ดฟังธรรมะ ละคร แต่ส่วนใหญ่ฟังธรรมะ เปิดฟังก่อนนอนและตอนเช้า ตื่นมาก็ออกกำลังนิดหน่อย นั่งสมาธิ 5 นาที แล้วรีบแต่งตัวออกไปตลาด
ป้าอี๊ดทำอยู่คนเดียว บางวันถ้าเหนื่อยก็ทำไม่มาก ด้วยอายุที่มากขึ้น แม้ลูกๆจะบอกให้หยุด แต่ก็ยังไม่อยากหยุด
ป้าอี๊ดขายข้าวแกงตั้งแต่ 10 โมง ทุกวันจันทร์ถึงเสาร์ หยุดวันอาทิตย์ ช่วงเทศกาลก็กลับไปหาแม่ที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
เมื่อปี 2510 กว่าห้าสิบปีที่แล้ว ป้าอี๊ดจบ ป.4 เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาช่วยแม่ขายส้มตำที่ซอยวิทยุ ถนนเพื่อนจิต จดจำวิธีจากแม่
...
พอแม่อายุมากขึ้นก็เลิกขาย เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด ป้าอี๊ดก็หันมาขายข้าวราดแกง โดยปักหลักอยู่ที่ย่านประตูน้ำ
“ถ้าจำไม่ผิดน่าจะขายตั้งแต่ปี 2520” ป้าอี๊ดว่า “ลองนับดูแล้วก็น่าจะนานกว่า 40 ปี”
วันอาทิตย์วันหยุด ตีหนึ่งป้าอี๊ดก็ตื่น แต่ก็นอนต่อไปถึง 6 โมงเช้า ตื่นขึ้นมาแช่เสื้อผ้าซัก กวาดถูบ้าน อยากให้หมดวันไวๆ เพราะเหงา
บางวันที่ป้าอี๊ดหยุดขาย ลูกค้าก็เป็นห่วง “เป็นอะไร ไม่สบายหรือเปล่า” วันหยุดบางวัน ป้าอี๊ดกลับปราจีน ไปดูแม่ ตอนนี้แม่ก็ 84 ปีแล้ว
ลูกสองคนของป้าอี๊ดอยู่กับยาย นานๆจะเห็นหน้าแม่ ก็ไม่อยากให้กลับกรุงเทพฯ
เกรงใจลูก ก็รับปาก แต่พอลูกๆเห็นป้าอี๊ดนั่งเหงาก็ใจอ่อนยอมให้กลับ แต่ลึกๆป้าอี๊ดก็ยังห่วงแม่ ได้แต่ส่งเงินไปเป็นค่ากับข้าว ยังดีที่มีน้องชายช่วยดูแล
ชีวิตป้าอี๊ด แม่ค้าข้าวแกงคอนโด หมุนเวียนเปลี่ยนไปมาอย่างนี้ สุขทุกข์ไปตามประสา
แต่งานแม่ค้า หลายครั้งป้าอี๊ดต้องฟังลูกค้าบ่นๆเรื่องค้าขายไม่ดี หลายปีมานี่เสียงบ่นเรื่องค้าขายไม่ดีดูจะเป็นเสียงเดียว
คุยกันไป ป้าอี๊ดก็ขายของไป เวลาผ่านไปกว่าสองชั่วโมง คนชราอย่างป้าอี๊ด นักสังคมสงเคราะห์จัดให้เป็นผู้สูงวัยระดับแรก...ที่รัฐต้องอุ้มชูดูแล สุขภาพกายสุขภาพจิตเข้มแข็งมั่นคง
ปากป้าอี๊ดจะยิ้มทุกครั้งที่ทักทายลูกค้า ไม่ว่าขาประจำหรือขาจร ลูกค้าขาประจำส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ขายในตลาดประตูน้ำ
“การออกมาขายอาหารทุกวันทำให้ร่างกายของป้าแข็งแรง ได้ออกกำลังกายและพบปะผู้คน”
ลูกค้าคนสุดท้ายหมดไปแล้ว ป้าอี๊ดทำเหมือนเช่นทุกวัน คือทำความสะอาดเก็บกวาดขยะให้กับทางร้าน เหมือนเป็นการตอบแทนที่ให้ที่ทำมาหากิน
กลับถึงบ้านป้าอี๊ดก็เปิดวิทยุคู่ใจฟังธรรมะ สลับกับทำงานบ้าน
...
ชีวิตที่เรียบง่าย สบายๆ การขายข้าวแกงคือความสุขของป้า.