ให้หลังจาก “อิซาน” “ยูซูฟู” และทีมงานเครือข่าย

ร่วมกันวางบึ้มที่ศาลพระพรหม แยกราชประสงค์ไปเมื่อ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมาจนมีคนตาย 20 ศพ บาดเจ็บระนาว 123 ราย ความเคลื่อนไหวอีกด้านยอดขายกล้องวงจรปิดในไทย...พุ่งกระฉูดขึ้นมาสอดรับกับสถานการณ์อย่างทันควัน

โศกนาฏกรรมที่ราชประสงค์ ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนกรุงเทพฯได้ยินเสียงระเบิด...ก่อนหน้านี้ Bangkok แดนสวรรค์ของนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก เคยตกเป็นเหยื่อการลอบวางบึ้มมาแล้วหลายครั้ง

31 ธ.ค.2549 ท่ามกลางบรรยากาศวันส่งท้ายปีเก่า กำลังจะเคาต์ดาวน์ นับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ 2550 ทั่ว กทม. ถูกลอบวางระเบิดรวมทั้งสิ้น 9 จุด มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 36 ราย

ถัดมา “วันวาเลนไทน์” 14 ก.พ.2555 ในซอยสุขุมวิท 71 ถูกลอบวางระเบิด 3 จุด แต่โชคยังดีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดเพียงรายเดียว

26 พ.ค.2556 เกิดเหตุระเบิดที่ปากซอยรามคำแหง 43/1 มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 7 ราย

1 ก.พ.2558 มีผู้นำระเบิดไปวางไว้ระหว่างบริเวณทางเดินเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม หน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน แต่โชคดีที่เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ไว้ได้ก่อน...

อีกครั้ง ไปโผล่ที่แถวศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก โชคดีเช่นกันที่เจ้าหน้าที่มาพบเสียก่อน...

ในยุคที่สังคมไทย โดยเฉพาะในเมืองหลวง ฝากแขวนชีวิตไว้กับความสุ่มเสี่ยง จากน้ำมือคนชั่ว ที่ไม่คำนึงถึงชีวิตผู้บริสุทธิ์...ถ้าเป็นหนังแนวซุปเปอร์ฮีโร่ อยากได้ชีวิตที่อุ่นใจ คงต้องหันไปพึ่ง “แบทแมน” “ซุปเปอร์แมน” ไม่ก็ “สไปเดอร์แมน” แต่ในชีวิตจริง พระเอกตัวจริงของโลกยุคนี้ คงต้องหันไปพึ่งกล้องวงจรปิด!!!

เพราะมันเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยแจ้งเบาะแสให้ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคง สามารถไขคดี ตามสะกดรอย และลากคอโจรชั่วทั้งหลาย มาลงโทษตามกฎหมายมานักต่อนัก จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกวันนี้ทั่ว กทม. มีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่ตามสถานที่ต่างๆรวมทั้งสิ้นมากกว่า 1 ล้านเครื่อง (ทั้งที่ใช้ได้ และใช้ไม่ได้)

...

หลักการทำงานของ กล้องวงจรปิด หรือ (CCTV Camera) อาศัยวิธีส่ง สัญญาณภาพ ไปยังอุปกรณ์ปลายทาง เช่น เครื่องบันทึกภาพ หรือจอภาพของคอมพิวเตอร์ โดยจะทำการ จับภาพไปยังพื้นที่เฉพาะจุด เท่านั้น ซึ่งต่างจากระบบการกระจายสัญญาณภาพของโทรทัศน์ ที่ใช้หลักการกระจายภาพทางอากาศผ่านไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งสัญญาณภาพสามารถกระจายไปถึงทุกวันนี้กล้องวงจรปิดจึงเปรียบเสมือน กล่องดวงใจ ของแหล่งธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ธนาคาร สถานที่ราชการ สนามบิน โรงงาน โรงแรม ที่พักอาศัย หรือที่ใดก็ตามที่คาดว่าจะมีโจร...

ก่อนหน้านี้แหล่งข่าวระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายกล้องวงจรปิดรายหนึ่งออกมาเปิดเผย โดยคาดว่า ในปี 2558 นี้ อัตราเติบโตหรือยอดขายกล้องวงจรปิดทั่วประเทศ จะเพิ่มขึ้นจากอัตราเติบโตปกติเฉลี่ยปีละ 10-15% เพิ่มขึ้นมาเป็น 20% หรือคิดเป็นมูลค่าทางการตลาด อยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท

ปัจจัยหลักที่ทำให้กล้องวงจรปิดกลายเป็นสินค้าเนื้อหอม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกรณีเหตุลอบวางระเบิดที่ย่านราชประสงค์ กับกรณีปัญหาความไม่สงบที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งการขยายตัวของบางธุรกิจ ที่ต้องพึ่งกล้องวงจรปิด

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้มีกล้องวงจรปิดมากมายหลายประเภท หลายคนที่กำลังมองหาอุปกรณ์ชนิดนี้มาเพิ่มความอุ่นใจให้แก่ชีวิต อาจสับสน จนเลือกไม่ถูกว่าควรเลือกใช้แบบใด จึงจะเหมาะแก่ตัวเองที่สุด

เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่กำลังศึกษาและหาอุปกรณ์ชนิดนี้ไปติดตั้ง ขออนุญาตนำข้อมูลจาก เชียงใหม่อินเตอร์เทค แอนด์ ซีเคียวริตี้ แหล่งจำหน่ายกล้องวงจรปิดและระบบกันขโมยชั้นนำ และ Dahua Total Security จาก Dahua Solution Tecnology Product ซึ่งเผยแพร่ไว้ในอินเตอร์เน็ตมาให้ความรู้

สิ่งแรกที่ควรคำนึง ก็คือ กล้องวงจรปิดถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญของระบบ CCTV เพราะถ้าตัวกล้องไม่สามารถจับภาพได้หรือจับได้แต่ไม่ชัด...ก็แทบจะถือได้ว่าระบบ CCTV ที่มีอยู่นั้น ไร้ประสิทธิภาพ เพราะต่อให้คุณมีระบบบันทึกภาพ (DVR) ดีเลิศแค่ไหน ก็ไม่ช่วยอะไร

โดยทั่วไปกล้องวงจรปิดที่ได้รับความนิยม แบ่งออกเป็น 4-5 ประเภทด้วยกัน

ประเภทแรก เรียกว่า กล้องมาตรฐาน (Standard Camera) ส่วนใหญ่มักเป็นรูปทรงกระบอกนิยมใช้ติดตั้งภายในอาคาร กล้องชนิดนี้เหมาะใช้กับในพื้นที่ซึ่งมีแสงสว่างตลอดเวลา จุดเด่นของกล้องชนิดนี้อยู่ที่ สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ (ราคากล้องจึงไม่ได้รวมราคาเลนส์เข้าไปด้วย) และบางรุ่นอาจมีไมโครโฟนสำหรับบันทึกเสียงในตัว

ถัดมาคือ กล้องวงจรปิด แบบอินฟราเรด (Infarred Camera) จุดเด่นอยู่ที่สามารถจับภาพในที่มืดสนิทได้ ตัวกล้องทำจากวัสดุทนทาน กันน้ำได้ จึงสามารถนำไปติดภายนอกอาคารได้ แต่การเลือกกล้องชนิดนี้ควรเลือกตามระยะของอินฟราเรด เช่น กล้องที่มีระยะอินฟราเรด 10 เมตร 20 เมตร หรือระยะอื่นๆตามความจำเป็นที่ต้องใช้

กล้องวงจรปิด แบบโดม (Dome Camera) เป็นกล้องที่มีรูปลักษณ์ครึ่งวงกลมคล้ายโดม กล้องชนิดนี้เหมาะกับพื้นที่ซึ่งต้องการความสวยงาม เพราะติดตั้งแล้วดูเรียบร้อยไม่สะดุดตา จุดเด่นนอกจากอยู่ที่ตัวกล้องสามารถป้องกันการโยนผ้าปิดหน้ากล้องได้ ยังสามารถหมุนปรับมุมกล้องได้รอบตัว หรือ 360 องศา

กล้องโดมเหมาะใช้ติดตั้งภายในห้องโถง หรือตามออฟฟิศต่างๆ แบ่งเป็นแบบกล้องโดมธรรมดาและกล้องโดมแบบอินฟราเรด โดยกล้องโดมธรรมดาจะมีโหมด D/N สำหรับสลับดูภาพในตอนกลางวัน เป็นภาพสี และตอนกลางคืนเป็นภาพขาวดำ ส่วนกล้องโดมแบบมีอินฟราเรดในตัว สามารถมองเห็นในที่มืดสนิทได้ โดยมีระยะการมองผ่านทั่วไป อยู่ที่ประมาณ 15-20 เมตร

กล้องวงจรปิด แบบสปีดโดม (Speed Dome Camera) เป็นกล้องที่สามารถหมุนรอบตัวเองได้ ก้มเงยได้ ซูมขยายภาพได้ มีทั้งชนิดที่เป็นแบบติดภายนอกอาคาร และติดตั้งภายในอาคาร ควรติดตั้งกล้องวงจรปิดชนิดนี้เพื่อตรวจตราบริเวณโดยรอบของพื้นที่ การสั่งการหรือควบคุมกล้องวงจรปิดประเภทนี้ ต้องสั่งโดยเครื่องบันทึกหรือสั่งจากคีย์บอร์ดควบคุม

...

กล้องวงจรปิด แบบไอพี (IP Camera) กล้องชนิดนี้ได้รวมเอา Network Card ไว้ในตัวกล้องเป็น Web Server ในตัว มีทั้งแบบ ใช้สาย (wired) และไร้สาย (wireless) เป็นกล้องดิจิตอลที่สามารถควบคุมผ่านคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือได้โดยตรง สามารถทำการบันทึกที่คอมพิวเตอร์เครื่องใดก็ได้ที่ต่ออยู่ในวง LAN หรือ WAN หรือบันทึกลงที่ Network Video Recorder (NVR) ได้เช่นเดียวกัน

กล้องระบบไอพี IP (Network) ในอนาคตน่าจะเข้าแทนที่ระบบเดิม ซึ่งเป็นระบบอนาล็อกที่ใช้สายสัญญาณทั่วไปเพราะ IP มีความสามารถสูงในการส่งสัญญาณภาพออกมาได้คมชัด อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้าดับ หรือระบบล่ม กล้อง IP จะไม่สามารถเซ็ตใหม่ได้ง่าย เพราะระบบค่อนข้างซับซ้อน

อีกประเภท คือ กล้องซ่อน (Hidden Camera) จุดประสงค์หลักเพื่อใช้ซ่อน เพื่อไม่ให้มองเห็นว่ามีกล้องติดตั้งอยู่จุดใดบ้าง บางครั้งจึงเรียกว่า “กล้องรูเข็ม” ส่วนใหญ่ที่มีขายตามท้องตลาด ความละเอียดภาพไม่ค่อยสูงนัก รูปแบบโครงสร้างแตกต่างกันไป เช่น ซ่อนอยู่ใน Smoke Detector เป็นต้น

จริงอยู่ในโลกนี้ไม่มีอะไรหวังผลได้เต็มร้อย แต่อย่างน้อยถ้าหลายพื้นที่พร้อมใจกันติดตั้งกล้องวงจรปิด ก็ไม่ต่างกับสังคมไทยมี “ตาวิเศษ” ไว้ช่วยเป็นหูเป็นตาสอดส่องทุกหย่อมหญ้ามากขึ้น.