ศิริราชก้าวตามรอยพระบรมศาสดา พร้อมมอบความรักให้แก่มนุษยชาติ “Love for Humanity by Siriraj @Kingdom of Bhutan” ร่วมผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้ผู้ป่วยด้อยโอกาสและถ่ายทอดวิชาการด้านการแพทย์ ณ ประเทศภูฏาน

อีกโครงการสำคัญที่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล นำการแพทย์ช่วยเหลือมนุษยชาติยังต่างแดน

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาคณะได้เดินทางไปทำหัตถการเปลี่ยน ข้อเข่าเทียมให้แก่ผู้ป่วยด้อยโอกาสในประเทศเนปาลจำนวน 33 ราย พร้อมกับถ่ายทอดองค์ความรู้การรักษาสู่แพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่ รพ.สิทธัตถะ เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล ความสำเร็จของโครงการก้าวแรกตามรอยพระบรมศาสดาปีที่ผ่านมาก่อประโยชน์อย่างมาก นำมาสู่การดำเนินโครงการเป็นปีที่ 2 ที่เราจะนำทีมแพทย์ไปผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้ผู้ป่วยด้อยโอกาสที่ประเทศภูฏาน ในฐานะมิตรประเทศ ที่มีความสัมพันธ์ทั้งในระดับพระราชวงศ์ รัฐบาล รวมถึงประชาชน อีกทั้งศิริราชมีลูกศิษย์ภูฏานหลายคนเป็นหมอกระดูกที่กลับไปทำงานที่นั่น จึงได้ประสานการดำเนินโครงการ ตั้งเป้าผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจำนวน 60 ราย 72 ข้อ ในวันที่ 21–26 พ.ย.2567 ณ Jigme Dorji Wangchuck National Referral Hospital, Bhutan

...

ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวว่า จำนวนผ่าตัด 72 ข้อนั้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ส่วนผู้ป่วย 60 คน ก็เป็นการ เฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 60 ปีของภาควิชาออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล การดำเนินการโครงการครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก พระราชภาวนาวชิรากร (หลวงพ่ออินทร์ถวายสันตุสสโก) เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย พระราชวชิรธรรมาจารย์ (หลวงพ่อสุธรรม สุธัมโม) เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด และพระพรหม ศากยวงศ์วิสุทธิ์ (หลวงพ่ออนิลมาน ธมฺม สากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เจ้าคณะภาค 6-7 ธรรมยุต และประชาชนทุกคนที่ให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง โดยครั้งนี้ทีมแพทย์ที่ไปประกอบด้วยหมอกระดูก 14 ท่าน วิสัญญี แพทย์ 4 ท่าน นักกายภาพบำบัดและทีมสนับสนุนการผ่าตัด 20 ท่าน และทีมสนับสนุนงานด้านต่างๆ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 70-80 คน และเชื่อว่าเราจะสานต่อโครงการให้เกิดขึ้นเป็นปีที่ 3 ซึ่งกำลังศึกษาข้อมูลว่าจะเป็นประเทศใดต่อไป

ด้าน ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า การเดินทางไปที่ภูฏาน เมื่อเปรียบเทียบกับ ครั้งแรกที่ประเทศเนปาล มีทั้งความยากขึ้นและง่ายขึ้น ความง่ายขึ้นเพราะเรามีลูกศิษย์อยู่ที่นั่น เป็นกำลังในการประสานงาน แต่สิ่งที่ยากคือความด้อยโอกาสของประชาชน เคสก็จะซับซ้อนยากขึ้น เราต้องผ่าตัดถึง 72 ข้อ มากกว่าครั้งที่แล้วถึงเท่าตัว เป็นความท้าทายในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพดีที่สุด เครื่องมือแพทย์ที่นำไปมีมากกว่าครั้งที่แล้วเป็นเท่าตัว แต่จำนวนบุคลากรเท่าเดิมหรือน้อยลงเล็กน้อย เราพยายามจะกระชับให้ทุกคนได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ที่สุด ซึ่งการผ่าตัดจะใช้ระยะเวลายาวมากขึ้นกว่าเดิม เป็นการผ่าตัด 3 วันเต็ม เป้าหมายหลักคือให้ประชาชนชาวภูฏานที่ขาดโอกาสได้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว และเรายังถ่ายทอดวิชาการความรู้ให้กับแพทย์ภูฏาน เพื่อนำความรู้ไปก่อประโยชน์ให้กับคนในประเทศ โครงการนี้เราประชุมวางแผนทำงานมากว่า 8 เดือน สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook : Love For Humanity By Siriraj Orthopaedics

...

“เป็นความตั้งใจของภาควิชาที่จะเดินตามรอยพระพุทธองค์ นำพาความเมตตาไปช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนภูฏานกลับมามีคุณค่าในตนเองดังเดิม และทำให้แพทย์ภูฎานมีศักยภาพเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นที่พึ่งพาของประชาชน” ศ.นพ.กีรติกล่าวถึงความมุ่งมั่น

...

ทีมข่าวสาธารณสุข พร้อมสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กับการส่งมอบบริการทางการแพทย์ให้กับผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ทั้งยังยกระดับพัฒนาการสาธารณสุขของมิตรประเทศให้เข้มแข็ง

เพราะความรักจากการให้ที่ไม่มีพรมแดน ยังประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นบนพื้นฐานความเท่าเทียมของมนุษยชาติ.

ทีมข่าวสาธารณสุข

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่