ประเทศไทยยังต้องเผชิญ “การลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม” ที่ได้ก่อให้เกิดการปนเปื้อนสารอันตรายสู่ “ดิน-แหล่งน้ำ” ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งมีชีวิตร้ายแรง แล้วพื้นที่สุ่มเสี่ยงสูงคงหนีไม่พ้น “ภาคกลางและภาคตะวันออก” มักปรากฏร่องรอยซากสารเคมีถูกทิ้งมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนใหญ่มักเป็น “พื้นที่ของเอกชน บ่อดินเก่า และที่รกร้างว่างเปล่า” ตามข้อมูลมูลนิธิบูรณะนิเวศรวบรวมมาตั้งแต่ปี 2560-30 มิ.ย.2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 395 เหตุการณ์ แบ่งเป็นปล่อยน้ำเสีย 260 เหตุการณ์ ทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม 90 เหตุการณ์ ทิ้งขยะติดเชื้อ 18 เหตุการณ์ ทิ้งขณะทั่วไป 27 เหตุการณ์

ถ้าแยกเป็นรายจังหวัดพื้นที่ทิ้งสูงสุด 5 อันดับ คือ จ.ระยอง 40 เหตุการณ์ จ.ชลบุรี 30 เหตุการณ์ จ.ปราจีนบุรี 27 เหตุการณ์ จ.สมุทรสาคร 26 เหตุการณ์ จ.นครราชสีมา 20 เหตุการณ์ โดยเฉพาะปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.มีปล่อยน้ำเสีย 25 เหตุการณ์ ทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม 10 เหตุการณ์ ขยะทั่วไป 3 เหตุการณ์

อย่างล่าสุดที่ “อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา” ในระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมปิดประกาศคำสั่งให้บริษัทเอกชนแก้ไขการประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม ก็พบเห็นกากถูกทิ้งกระจัดกระจายในโรงงานปล่อยทิ้งลงในร่องน้ำต่างๆ เรื่องลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมนี้ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ บอกว่า

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง

...

จริงๆแล้วภาพรวม “การลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม” สถานการณ์ผิวเผินดูเหมือนเงียบๆ แต่ว่าปัญหายังคงเกิดขึ้น “ส่งผลกระทบชุมชนร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง” ส่วนใหญ่เป็นโรงงานรีไซเคิลกากของเสียอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตแล้วลักลอบฝังกลบทั้งในโรงงาน และขนย้ายออกนอกพื้นที่ไปทิ้งในหลายจังหวัด

ไม่ว่าจะเป็น “ภาคกลางและภาคตะวันออก” โดยเฉพาะพื้นที่ EEC แล้วมีหลายกรณีสามารถตรวจเจอ “การลักลอบทิ้ง” เพียงแต่ว่าผู้ประกอบการมักอ้างไม่สามารถรับผิดชอบความเสียหายได้

ยิ่งกว่านั้น “กฎหมายยังไม่สามารถจัดการกับผู้กระทำผิดได้มาก” เช่นกรณีซุกซ่อนสารเคมีอันตรายหลายชนิดในโกดังเก่าใน อ.ภาชี จ.พระนคร ศรีอยุธยาจากบริษัทเอกชนเชื่อมโยงกับโรงงานรีไซเคิลกากของเสียอุตสาหกรรม ใน  อ.อุทัย กรณีเจ้าหน้าที่พบร่องรอยการเททิ้งกากอุตสาหกรรมในโรงงานไม่ได้บำบัดกำจัดอย่างถูกวิธี

ทั้งยังตรวจพบการต่อท่อสายยางและท่อพีวีซีจากบ่อกักเก็บของเหลวเททิ้งพื้นที่ภายนอก ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อพื้นที่เกษตรกรรมข้างเคียงที่นับเป็นการกระทำความผิดอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย

เมื่อตรวจสอบเพิ่มเติมกลับพบว่า “โรงงาน 2 แห่งนี้มีเจ้าของเดียวกัน” แถมยังเชื่อมโยงต่อเนื่องกับกรณีปัญหามลพิษเกิดจากโรงงานใน อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ และ ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา แล้วปัจจุบันก็ตกเป็นจำเลยในคดีที่ประชาชนฟ้องเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และให้หยุดประกอบกิจการด้วย

ทั้งยังเชื่อมโยงกรณีการลักลอบทิ้งในพื้นที่เอกชน  ต.บ้านดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี รวมถึงโรงงานรีไซเคิลกากของเสียอุตสาหกรรม อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ที่ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำกระทบพื้นที่เกษตรกรรมจนชาวบ้านฟ้องร้อง ทำให้ศาลจังหวัดระยองมีคำพิพากษาให้โรงงานชดใช้เงินให้ชาวบ้าน พร้อมฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้วย

ฉะนั้นแล้วทั้ง 5 เหตุการณ์ล้วนเป็นการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จาก “ผู้ประกอบการรายเดียวกัน” ที่ก่อปัญหาส่งผลกระทบทำให้ดิน แหล่งน้ำ และน้ำใต้ดินปนเปื้อนอย่างรุนแรง

ปัจจุบันนี้ทราบว่า “ผู้ประกอบการรายนี้ขายกิจการหนีความผิดแล้ว” แต่ด้วยลักษณะความผิดค่อนข้างสร้างความเสียหายต่อ “สิ่งแวดล้อมมหาศาล” แค่กรณีเฉพาะความเสียหายใน ต.บ้านดีลัง อ.พัฒนานิคม “กรมควบคุมมลพิษ” เคยประเมินการฟื้นฟูจุดนี้ให้กลับมาเหมือนเดิมต้องใช้เงินพันกว่าล้านบาท

แม้แต่ในส่วน “การลักลอบทิ้งใน อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา” ก่อนหน้านี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเคยเชิญบริษัทรับกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรมมาหารือ 10 บริษัท เพื่อหาทางแก้ปัญหาฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนก็ไม่สามารถจัดการได้ ทำให้ปัจจุบันพื้นที่ทิ้งกากของเสียทั้ง 5 จุดยังคงปล่อยทิ้งไว้ไม่มีการดำเนินการใดๆ

เรื่องนี้คงต้องเฝ้าดู “รัฐบาลชุดใหม่” จะมีแผนนโยบายดำเนินการกับกลุ่มลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างไร? เพราะส่วนตัวรู้สึกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายดูเหมือนจริงจังแต่ก็ยังไม่เข้มงวดเด็ดขาด

...

สังเกตจากการลักลอบทิ้งกากของเสียฯ “ยังเป็นปัญหาในหลายระดับหลายพื้นที่” แล้วในเรื่องนี้ก็คงต้องกล่าวโทษหน่วยงานที่รับผิดชอบ “ไม่อาจบังคับใช้กฎหมาย ตรวจสอบ และกำกับกิจการโรงงานจริงจัง” ทำให้มีจุดบกพร่องเยอะแยะมากมายจนไม่สามารถติดตามตรวจสอบการกำกับดูแลได้อย่างเคร่งครัด

หนำซ้ำ “การดำเนินคดีผู้กระทำความผิดก็ไม่สามารถทำได้เท่าที่ควร” ส่วนหนึ่งก็มาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งความแล้ว “กระบวนการสอบสวนล่าช้ามักมีปัญหาติดขัด” กลายเป็นคนทำผิดไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ทำให้มีการกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้งอยู่เช่นนี้

เหตุนี้ทำให้ “หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน” มีการพูดคุยประเด็นผลกระทบการลักลอบทิ้งกากของเสียฯอันสร้างความเสียหายมหาศาล “ควรต้องมีมาตรการลงโทษกับโรงงานแหล่งกำเนิดด้วย” เพราะเป็นบุคคลจ้างให้โรงงานรีไซเคิลกากของเสียฯ “ขนย้ายไปกำจัด” แต่กลับไปไม่ถึงการกำจัดอย่างถูกต้อง

มีผลให้นำไปสู่ “ซุกซ่อนตามพื้นที่ต่างๆ หรือฝังกลบอย่างไม่ถูกวิธีในโรงงาน” ทำให้ดินปนเปื้อนใช้ประโยชน์ไม่ได้ แล้วสารอันตรายผิวดินซึมผ่านลงน้ำใต้ดิน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนตามมา

ประเด็นนี้ “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” จึงปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2566 โดยกำหนดความรับผิดชอบตั้งแต่ต้นทางโรงงานผู้ก่อกำเนิด ไปจนกว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจะได้รับการจัดการจนแล้วเสร็จต่างจากเดิมความรับผิดชอบสิ้นสุดเมื่อโรงงานผู้รับกำจัดได้รับมอบ

แล้วกฎกระทรวงฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2566 มีผลบังคับใช้วันที่ 1 พ.ย.นี้ “ผู้ก่อกำเนิดของเสียโรงงานทั่วประเทศ” ต้องรายงานประจำปีเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว

...

ในส่วน “ผู้รับบำบัดกำจัดของเสีย” โรงงานลำดับที่ 101,105 และ 106 ต้องจัดส่งรายงานประจำเดือนเกี่ยวกับการจัดการวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ อันจะมีผลนับถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น

ฉะนั้นประกาศกระทรวงฉบับใหม่นี้ “นับเป็นการขยับอีกขั้นในการเอาผิดผู้ก่อกำเนิดกากของเสียอุตสาหกรรม” แม้การลักลอบจะถูกฝังกลบไปนานเท่าใดก็ตาม แต่หากเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมภายหลัง “เจ้าหน้าที่รัฐ” สามารถสืบสวนสอบสวนย้อนหลังไปสู่ต้นกำเนิดปัญหาเจ้าของกากนั้นก็ต้องรับผิดชอบด้วยเช่นเดิม

ทำให้ในปีนี้ “การลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมน้อยลง” เพราะมีการเพิ่มบทลงโทษและเฝ้าระวังมากยิ่งขึ้น เพียงแต่ว่า “กฎกระทรวงบางฉบับยังเปิดให้ฝังกลบกากอุตสาหกรรมไม่อันตรายในโรงงานได้” แล้วเมื่อฝังกลบก็มักไม่มีใครตรวจสอบ ทำให้มีการลักลอบสอดไส้กากอุตสาหกรรมอันตรายฝังกลบลงไปด้วย

...

อย่างไรก็ดี ฝากถึง “รัฐบาลชุดใหม่” ต้องมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ทั้งต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหามลพิษจากการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมจริงจัง แล้วเร่งฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษบริเวณจุดลักลอบทิ้งนั้น โดยเฉพาะการติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีที่ต้องมีความเด็ดขาดทุกกรณี

ย้ำว่าเมื่อกฎกระทรวงออกมาแล้ว “หน่วยงานที่รับผิดชอบ” ต้องบังคับใช้กฎหมายในการติดตาม ตรวจสอบ และดำเนินคดีเฉียบขาดทุกกรณีกับ “ผู้ลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม” เพื่อให้คนทำผิดเกิดความเกรงกลัวต่อการกระทำนั้น.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม