กรมอุตุฯ รายงานจังหวัดที่มีค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายภาค พบอยู่ในระดับอันตรายทั้งหมด ขณะที่ บางนา กรุงเทพฯ 53.9 องศาฯ เกือบแตะระดับ "อันตรายมาก"

วันที่ 12 เม.ย. 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานดัชนีความร้อนสูงสุดรายภาค และระดับเตือนภัย ดังนี้

ภาคเหนือ : เพชรบูรณ์ ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 46.8 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 43.2 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย

กทม.-ปริมณฑล : บางนา กทม. ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 53.9 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย

ภาคตะวันออก : ชลบุรี ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 52.3 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย

ภาคใต้ : ภูเก็ต ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 49 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย

ทั้งนี้ ดัชนีความร้อน คือ อุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้นว่า อากาศร้อนเป็นอย่างไร หรืออุณหภูมิที่ปรากฏในขณะนั้นเป็นเช่นไร โดยค่าดัชนี้ความร้อนนั้นคำนวณมากจากค่าอุณหภูมิอากาศ และค่าความชื้นสัมพัทธ์

โดยค่าดัชนีความร้อนที่ “อันตราย” นั้นอยู่ระหว่าง 41.0-53.9 องศาฯ ผลกระทบต่อสุขภาพคือ มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด (Heat stroke) ได้ หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

แต่หากค่าดัชนีความร้อนมากกว่า 54.0 องศาฯ ถือว่า "อันตรายมาก" อาจทำให้เกิดภาวะลมแดด (Heat stroke) ได้.

...