จากการเสวนาเรื่อง “มหานครการศึกษา... Digital Economy ทิศทางการศึกษาของกรุงเทพมหานครในอนาคต” ผ่านระบบออนไลน์ จัดโดยสำนักการศึกษา กรุงเทพฯ

ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) กล่าวว่า โจทย์สำคัญของ กทม.คือเน้นการจัดการศึกษา เพื่อให้ได้ทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถในเรื่องทักษะดิจิทัล ส่วนการผลิตครูต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายและนโยบายในการปฏิบัติ ต้องปฏิรูปกลไกในการผลิตครู พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เปลี่ยนโฉมการผลิตครูให้เป็นครูยุคใหม่ให้ได้ ซึ่งครูยุคใหม่ที่ผลิตออกมานั้นไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เพราะเน้นกระบวนการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูร่วมกับสถานศึกษาที่มีมาตรฐาน ทั้งยังเน้นทักษะดิจิทัล ทักษะภาษาอังกฤษ และทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ดังนั้น เมื่อครูรุ่นนี้จบออกมาก็เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการผลิตเด็กที่พึงประสงค์ได้ สิ่งที่ฝ่ายบริหารต้องดูคือ ครูที่อยู่ในระบบศึกษา ซึ่งต้องมีการอบรม พัฒนาทักษะ ให้ความรู้ใหม่ๆ

ด้าน ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รอง ผอ.สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า ทิศทางการศึกษาเปลี่ยนไปเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกประกาศ ศธ. ให้ โค้ดดิ้งเป็นรายวิชาเรียนใหม่ ให้เด็กตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมศึกษาต้องเรียนทั่วประเทศ ซึ่งการเรียนโค้ดดิ้งเป็นการสร้างรากฐานความคิดให้เข้มแข็ง ช่วยให้เด็กคิดอย่างมีเหตุและผล สามารถต่อยอดทุกเรื่องได้ แต่ต้องยอมรับว่าโรงเรียนทั่วประเทศรวมถึงโรงเรียน กทม.มีคุณภาพที่แตกต่างกันมาก ดังนั้น การศึกษาในอนาคตจะต้องเตรียมบุคลากรให้มีทักษะโค้ดดิ้ง มีเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ขณะที่ตัวครูต้องปรับจากการเป็นผู้สอนก็เป็นผู้ช่วยหรือเสริมความรู้ให้แก่เด็ก.

...