"อนุทิน" ดูแล อสม. เดินหน้าโครงการตรวจสุขภาพประจำปี หากพบความเสี่ยงด้านสุขภาพ พร้อมส่งเข้าระบบรักษา ชี้ จ่ายยาต้องให้แพทย์วินิจฉัย ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรับ "ยาฟาวิฯ" ทุกราย

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 65 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ "kick off ตรวจสุขภาพ อสม." โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงฯ บุคลากร เจ้าหน้าที่ และ อสม. เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

โดย นายอนุทิน กล่าวว่า โครงการที่เกิดขึ้นเพื่อต้องการให้เกิดความมั่นใจว่า อสม.ทั่วประเทศได้รับความเอาใจใส่ในเรื่องของสุขภาพ โดยที่ผ่านมามีการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องนี้ การตรวจสุขภาพของ อสม. สามารถประเมินตนเองได้ผ่านแอปพลิเคชัน เมื่อพบว่ามีความเสี่ยงจะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเพื่อรักษา ซึ่งเราต้องการให้ อสม.มีสุขภาพดี โดยสุขภาพที่ดีนั้นจะเป็นตัวอย่างกับประชาชน หาก อสม.ป่วย หรือมีโรค ย่อมไม่สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ดังนั้นสำหรับ อสม. นอกจากท่านจะต้องดูแลประชาชนแล้ว ท่านยังจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชนด้วย

...

"เรามุ่งหวังให้ อสม.1.05 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในชุมชนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีด้านสุขภาพให้กับครอบครัวและชุมชน ให้คนในพื้นที่มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศชาติมีความแข็งแรงเช่นกัน" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องของการรักษาผู้ป่วยโควิดฯนั้น ขอให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลไม่มีการแทรกแซงในเรื่องของการแพทย์ ทุกอย่างที่กำหนดมาเป็นแนวทางที่มาจากการตัดสินใจของทั้งฝ่ายวิชาการและฝ่ายปฏิบัติ ทุกอย่างมีเหตุผลทางการแพทย์รองรับ จึงทำให้เกิดความมั่นใจ ตนขอให้ความมั่นใจว่า กระทรวงสาธารณสุข แพทย์ และผู้บริหาร ให้ความสำคัญกับสุขภาพที่ดีของประชาชนเป็นหลัก

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนในเรื่องที่มีข่าวว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่พอนั้น ไม่ใช่ความจริง เตียงก็ยังมีอยู่ แต่จะบริหารทรัพยากรทางสาธารณสุขอย่างไรที่จะทำให้เกิดความมั่นใจว่าทรัพยากรเหล่านี้มีไว้สำหรับผู้ที่ต้องการจริงๆ เช่น ผู้ป่วยสีเขียว การที่ใช้ระบบ HOME ISOLATION ก็ถือว่าเป็นการรักษาที่มีความเหมาะสม เนื่องจากไม่มีอาการ จึงไม่จำเป็นต้องไปครองเตียงในโรงพยาบาล ปล่อยให้เตียงว่างสำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรงดีกว่า ที่สำคัญเราไม่ได้มีแค่โรคโควิดฯโรคเดียว จึงต้องเหลือเตียงสำหรับรักษาโรคอื่น สุดท้ายผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือประชาชน

เมื่อถามถึงโครงการ "เจอ แจก จบ" หรือการจัดสรรยาแก่ผู้ป่วยโควิดฯกลับไปทานที่บ้าน นายอนุทิน กล่าวชี้แจงว่า คำว่า "เจอ แจก จบ" ไม่ได้หมายความว่า "จบ" แบบไม่ได้รักษา "เจอ" คือ เจอคนไข้ "แจก" คือ แจกยาและเวชภัณฑ์และแจกคำแนะนำ และ "จบ" คือ จบด้วยตัวเอง จบด้วยการดูแลตัวเอง แต่ก็อยู่ภายใต้การดูแลของหมอ มั่นใจได้ว่าทุกคนจะไม่ถูกทอดทิ้ง สามารถเข้าถึงแพทย์ได้ ส่วนยานั้นต้องให้หมอทำการวินิจฉัยก่อน และจัดยาที่เหมาะสม เนื่องจากคนป่วยโควิดฯไม่จำเป็นต้องรับยาฟาวิพิราเวียร์ทุกคน.