รมว.ทส.“วราวุธ ศิลปอาชา” หนุน เครือข่ายป่าชุมชน 68 จังหวัด มุ่งสู่ 2 เป้าหมายหลัก สร้างเศรษฐกิจครัวเรือน สังคมมีสุข ชุมชนเข้มแข็ง มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ สังคมคาร์บอนต่ำ เน้นการสร้างประโยชน์ในหลายมิติจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสอดรับกับบริบทความเปลี่ยนแปลงของโลก
วันนี้ (15 ธันวาค ม 2564) เวลา 09.00 น. กรมป่าไม้ ได้จัดให้มีการสัมมนาออนไลน์ เรื่อง “การพัฒนาศักยภาพผู้นำเครือข่ายป่าชุมชน” เพื่อขับเคลื่อนการทำงานของเครือข่ายป่าชุมชนให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศมีความสมบูรณ์และยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ จำนวน 1,000 คน ประกอบด้วย ประธานเครือข่ายป่าชุมชน ตัวแทนสมาชิกเครือข่ายป่าชุมชนจาก 68 จังหวัดจากทั่วประเทศ รวมจำนวน 400 คน ภาคเอกชนและสื่อมวลชน 25 คน และ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในปฏิบัติงานด้านป่าชุมชนจำนวน 575 คน ในการนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ และปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ปี 2565 เป็นปีแห่งการปรับตัวและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”
ทั้งนี้ นายวราวุธ กล่าวในการปาฐกถาพิเศษว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบด้านการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู และใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยบูรณาการ และสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ รักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม และอำนวยประโยชน์อย่างยั่งยืน ภายใต้นโยบาย “ทส.ยกกำลังเอ็กซ์” มองไปข้างหน้าอย่างไร้ขีดจำกัด มุ่งสู่วิสัยทัศน์” ที่ช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามแนววิถีใหม่ ภายใต้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ด้วยการมุ่งเดินหน้าใน 2 เป้าหมายหลัก
“เป้าหมายที่ 1 การสร้างเศรษฐกิจครัวเรือน สังคมมีสุข ชุมชนเข้มแข็ง ประกอบด้วย การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนเพิ่มเติมภายใต้โครงการ คทช. จัดสรรที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายใหม่ให้ได้ 1.78 ล้านไร่ 2,700 หมู่บ้านทั่วประเทศ ควบคู่การสร้างป่าชุมชน เพื่อเป็นแหล่งรายได้ให้ชุมชน รวมทั้งการจัดที่ดินทำกินและอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การจัดตั้งป่าชุมชน การปลูกป่าเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน และการป้องกันไฟป่า ที่เป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกให้กับประเทศไทย เพื่อการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ตลอดจนยกระดับมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เพื่อเสริมรายได้ให้กับชุมชนรอบพื้นที่ พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวหลังการเปิดประเทศ การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตามมาตรการ ขาว-เขียว-เทา การพัฒนาแหล่งน้ำ และระบบกระจายน้ำผิวดินและการพัฒนาขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ คทช. พื้นที่โครงการในพระองค์ และโครงการพระราชดำริ และพื้นที่แล้งซ้ำซาก”
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายที่ 2 การมุ่งสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG Model) และสังคมคาร์บอนต่ำ ประกอบด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวหรือBio Circular Green Economy เป็นหัวใจที่จะต้องทำเพื่อฟื้นสภาพเศรษฐกิจและสามารถแข่งกับนานาประเทศ ทั้งนี้ ในการประชุมผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26 ประเทศไทยประกาศว่า จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Netzero GHG emission) ภายในปีค.ศ.2065 ตาม(ร่าง)ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand LT-LEDS) เพื่อร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย(ร่าง)ยุทธศาสตร์ดังกล่าวในส่วนของการพัฒนาศักยภาพการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยมีมาตรการการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมการปลูก และบำรุงรักษาป่าสำหรับองค์กรหรือบุคคลภายนอก การส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมปลูก และฟื้นฟูป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้เป็นไปตามเป้าหมายนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปีพ.ศ. 2580 ประกอบด้วย พื้นที่ป่าธรรมชาติ ร้อยละ35 พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ15 และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบทร้อยละ5 และยุทธศาสตร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการเพิ่มพื้นที่การดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้ได้ 120 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า (MtCO2eq) ในปี พ.ศ. 2580
“การสัมมนาที่กรมป่าไม้จัดขึ้นในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญ เพื่อเตรียมความพร้อมของเครือข่ายป่าชุมชน และเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน สู่การฟื้นฟูและปรับตัวในปี 2565 ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับตัวการทำงานรูปแบบใหม่ในหลายมิติไปพร้อมกับการสร้างรายได้ให้ชุมชน รวมไปถึงความสำคัญของพื้นที่ป่าชุมชนซึ่งเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกให้กับประเทศไทย เพื่อการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต และเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำประเทศไทยไปสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต ซึ่งการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ถือเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ฟื้นฟู จัดการบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน เป็นมรดกทางธรรมชาติส่งต่อให้ลูกหลานสืบไป” นายวราวุธ กล่าว
ด้าน นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของเครือข่ายป่าชุมชน ถือเป็นพลังภาคประชาชนที่สำคัญที่จะทำงานเคียงคู่กับภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันมีป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 จำนวน 11,327 ป่าชุมชน โดยชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม 13,028 หมู่บ้าน รวมเนื้อที่ 6.29 ล้านไร่ และกรมป่าไม้ได้มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายป่าชุมชนในการดูแล ปกป้องรักษาพื้นที่ป่าผ่านกระบวนการเสริมสร้างศักยภาพผู้นำเครือข่ายป่าชุมชนมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 168,576 คน จาก 10,742 หมู่บ้าน ในท้องที่ 68 จังหวัด และได้รับการรับรองให้เป็นเครือข่ายป่าชุมชนตามกฎหมาย โดยมีบทบาทตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ตามความในมาตรา 9 (4) ที่กำหนดให้กลุ่มผู้แทนประธานเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัดเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน มาตรา 23 (4) กำหนดให้ประธาน เครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัดเป็นกรรมการในคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด มาตรา 23 (5) กำหนดให้ผู้แทนคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนในจังหวัด จำนวนไม่ เกิน 3 คน เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง และมีการจดแจ้งเป็นเครือข่ายป่าชุมชน ระดับจังหวัด รวมทั้งสิ้น 68 จังหวัด
“ในส่วนของกรมป่าไม้นั้น ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนที่อยู่รอบๆ ป่าเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ในการ จัดตั้งป่าชุมชน โดยมีหน้าที่และสิทธิตามที่กฎหมายป่าชุมชนกำหนด ซึ่งสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมินิเวศในแต่ละท้องที่ และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวในที่สุด