โอกาสท่ามกลางวิกฤติปี 63
ในวิกฤติ มีโอกาสเสมอ!
ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่กำลังคุกคามมนุษยชาติและคนไทยอย่างน่าวิตก สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนในสังคม
การ “เซ็ตซีโร่” ระบบการจัดการศึกษา เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
1 เม.ย.2563 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่รับผิดชอบมหาวิทยาลัย จึงถือเป็นวันดีเดย์ การจัดการเรียนการสอนแบบ “ออนไลน์” ในระดับมหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบ โดยจะจับมือกับบริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลก ยกระดับการเรียนการสอนออนไลน์ โดยใช้เครื่องมือเฉพาะทางแบบครบวงจร ผ่านระบบ “Interactive Virtual Classroom” หรือ คุณสมบัติห้องเรียนเสมือนจริง สามารถโต้ตอบได้
“หลายมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ เริ่มเปิดการเรียนการสอนออนไลน์บ้างแล้ว แต่อีกกว่า 100 สถาบันที่กระจายอยู่ในภูมิภาคทั่วประเทศ อาจยังไม่มีความพร้อม ดังนั้น ทีมเจ้าหน้าที่จากไมโครซอฟท์จะเข้าไปอบรมการใช้งานโปรแกรมให้กับทุกมหาวิทยาลัยรวมถึงการดูแลนิสิตนักศึกษาที่มีปัญหาการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ทำให้ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน มหาวิทยาลัยกว่า 150 แห่งและนิสิตนักศึกษาประมาณ 2 ล้านคน จะสามารถเรียนผ่านออนไลน์ได้สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์” ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาฯ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมและว่า
...
โครงการจัดการเรียนการสอนออนไลน์นั้น ไมโครซอฟท์จะเป็นผู้ออกแบบโครงสร้างของระบบ Interactive Virtual Classroom For Higher Education ให้กับกระทรวงการอุดมฯ ซึ่งทางกระทรวงจะได้รับ Software License Microsoft Office 365 A1 (on Cloud) ไม่จำกัดจำนวนผู้ใช้ โดยทางไมโครซอฟท์ จะจัดทำเนื้อหาแนะนำการติดตั้งการใช้งานภาษาไทย จัดหาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำการติดตั้งและใช้งานร่วมกับบริษัท LannaCom โดยทั้งหมดไม่คิดค่าใช้จ่าย
ส่วนระยะเวลาดำเนินโครงการ สามารถเริ่มได้ทันที กระทรวงการอุดมฯ จะได้สิทธิในการใช้ระบบทั้งหมดหลังจากได้ดำเนินการติดตั้งเรียบร้อย ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมฯ กับไมโครซอฟท์
“แอปพลิเคชันไมโครซอฟท์ทีม กับบริการไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ 365 เอ 1 (Microsoft Office 365 A1) รองรับการ ใช้งานบนระบบคลาวด์แบบไม่จำกัดจำนวนผู้ใช้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยทั้ง 150 แห่ง และนิสิต นักศึกษาอีก 2 ล้านกว่าคน ได้ใช้โปรแกรมไมโครซอฟท์ทีมในการเรียนการสอนออนไลน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จะถูกนำมาใช้เป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับการเรียนการสอน ซึ่งคุณสมบัติจะเหนือกว่าระบบประชุมทางไกลผ่านวิดีโอทั่วไป อาทิ OneNote Class Notebooks สมุดบันทึกรายวิชาสำหรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ Microsoft White board กระดานดิจิทัลที่ใช้วาดเขียนพร้อมกันได้หลายคน Student Analytics ระบบวิเคราะห์การเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้อาจารย์ผู้สอนได้วัดระดับความสนใจและการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนของนิสิต-นักศึกษาแบบเรียลไทม์ พร้อมวิเคราะห์หาตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ต่อไป รองรับระบบการบ้านและการให้คะแนนในทุกขั้นตอน ทั้งยังเปิดให้ผู้เรียนสามารถตรวจสอบคะแนนจากการสอบและชิ้นงานต่างๆที่ส่งไปได้เสมอเพื่อความสะดวกสบายรองรับการเปิดห้องสนทนาประจำกลุ่ม สำหรับการแบ่งกลุ่มทำงานในวิชานั้นๆเป็นต้น”ดร.สุวิทย์ ระบุ
หันมาทางสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้มีการประกาศความพร้อม สอนออนไลน์แล้ว อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.นี้เป็นต้นไป เช่นเดียวกับจุฬาลงกรณ์ฯ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ส่วนสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นต้น
ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) กล่าวว่า คณาจารย์ทั่วประเทศมีความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง เบื้องต้นวิธีที่ง่ายที่สุดคือการสอนแบบไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก แต่อาจต้องเพิ่มลูกเล่นในการสอนผ่านหน้าจอให้น่าสนใจ นอกจากนี้ยังต้องผสมผสานกับการสั่งงานทางแอปพลิเคชันไลน์ เป็นต้น
...
ส่วน ผศ.จรูญ ถาวรจักร์ อธิการบดีสถาบันราชภัฏอุดรธานี และประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งมีความพร้อม ระบบที่เตรียมรองรับก็ไม่ได้ซับซ้อน สามารถทำได้โดยผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งนักศึกษามีใช้ทุกคน ส่วนระบบอินเตอร์เน็ตก็ใช้ระบบโครงการเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา หรือยูนิเน็ต เป็นหลัก ไวรัสโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติแต่ก็เป็นโอกาส
ขณะที่ ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ประธานที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) กล่าวว่า มั่นใจว่า มทร.จะไปรอดกับการเข้าสู่การเรียนการสอนระบบออนไลน์ แม้จะมาเร็ว แต่เราก็มีความพร้อม เช่น มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน ลงทุนเตรียมระบบต่างๆรองรับมา 2-3 ปีแล้วกว่า 77 ล้านบาท
...
“ทีมข่าวอุดมศึกษา” มองว่า นี่คือจุดพลิกผันของระบบการศึกษาไทยโดยการใช้เทคโนโลยีมาจัดการเรียนการสอน การสอนจากในห้องเรียนสู่นอกห้องเรียนที่หลายประเทศทั่วโลกใช้กันแล้ว
โดยการเริ่มต้นจัดการเรียนการสอนออนไลน์ของประเทศไทย จะทำให้ทั้ง “ผู้สอน” และ “ผู้เรียน” คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีกับการศึกษา
และนั่นหมายถึงจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษาชาติเพื่อรองรับโลกในศตวรรษที่ 21 ของไทยที่มาเร็วกว่าที่คิดไว้.
ทีมข่าวอุดมศึกษา