ร้าน “โชห่วย–ไฮบริด” จำชื่อนี้ไว้ ให้แม่นๆ คาดหวังกันว่าจะเป็นทางรอดทางใหม่ของ “ธุรกิจคนตัวเล็ก” อยากได้สินค้า อะไร...เชิญได้ที่ร้านค้าชุมชนไทยบนโลกออนไลน์ ส่งตรงถึงบ้านคุณ
ทำความเข้าใจง่ายๆก็คือ “โชห่วย–ไฮบริด” จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางหรือจุดรวบรวมคำสั่งซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคและผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่นของผู้บริโภค เมื่อซื้อสินค้าแล้ว...ผู้ซื้ออาจไปรับสินค้าด้วยตนเองที่ร้าน หรืออาจให้ร้านจัดส่งให้โดยผ่านบริการของไปรษณีย์
ต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ ร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) เพื่อยกระดับร้านค้าชุมชนโดยใช้เทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการ (โชห่วยไฮบริด)
ความคืบหน้าที่เกิดขึ้น “รัฐบาล” มี “ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ” เพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 20,000 แห่ง ที่ได้ติดตั้งเครื่องรูดบัตร (อีดีซี) แล้ว และจะขอเพิ่มอีก 20,000 เครื่อง เพื่อนำมาติดตั้งให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐรายใหม่ที่จะเข้าร่วมโครงการ 20,000 แห่ง ภายใน 2 เดือน
ในจำนวนนี้จะเป็น “ร้านชุมชน” ที่อยู่ในกองทุนหมู่บ้าน 10,000 แห่ง...ทั้งหมดจะถูกยกระดับให้ใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการเป็นโชห่วยไฮบริดทั้งหมด
โครงการเสริมสร้างศักยภาพร้านค้าชุมชนไทยสู่โชห่วย-ไฮบริดเสริมพื้นฐานการทำธุรกิจให้ร้านค้าชุมชน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า จะใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ Omni-Channel ดึง...“ออฟไลน์” และ “ออนไลน์”...ดูดลูกค้า และช่วยให้เกิดศูนย์กลาง (Hub) กระจายสินค้าในร้านและผลิตภัณฑ์ชุมชนไปสู่มือผู้บริโภคด้วยแพลตฟอร์มของไปรษณีย์ไทย และผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตของ DEPA
...
“โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมอย่างจริงจังเพื่อผลักดันเศรษฐกิจฐานรากของไทยผ่านร้านค้าชุมชนให้สามารถเผชิญความท้าทายต่อการแข่งขันที่รุนแรงทั้งสถานการณ์การตลาดในประเทศและต่างประเทศ ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องติดอาวุธทางความคิด มีการวางแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการร้านค้าสมัยใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้ร้านค้าชุมชนมีโอกาสเติบโต...”
นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจของตนเอง แล้วยังครอบคลุมเศรษฐกิจในท้องถิ่นด้วย
แนวทางการดำเนินการ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
จากการวิเคราะห์ข้อมูลของธุรกิจในท้องถิ่นเพื่อนำมากำหนดแนวทางการส่งเสริมของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ร้านค้าชุมชนไทยมักจะพบกับอุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจ 3 ด้าน คือ 1) ด้านการตลาด การขายสินค้าที่ไม่ตรงใจผู้บริโภค ภาพลักษณ์การจัดร้านที่ไม่สวยงามมีระเบียบ 2) ด้านโลจิสติกส์/สินค้าคงคลัง ไม่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี และ 3) ด้านข้อมูลเพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจ ไม่มีการจัดทำรายงานข้อมูลทางการเงิน หรือสินค้าคงเหลือ ทำให้ไม่มีข้อมูลเพียงพอเพื่อนำมาวางแผนและตัดสินใจทางธุรกิจได้
“โชห่วย–ไฮบริด” มุ่งขจัดอุปสรรค...ตอบโจทย์การสร้างความเติบโตให้ร้านค้าชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยใช้การตลาดยุคใหม่อย่าง ‘Omni–Channel’ เข้ามาช่วยบริหารธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผสมผสานเทคโนโลยีที่เป็นเครื่องมือทางการตลาดให้ร้านค้าชุมชนสามารถเข้าถึงลูกค้าจากทุกช่องทาง ที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ลงพื้นที่ 4 ภาค...เชียงใหม่, กรุงเทพฯ, อุดรธานี, สงขลา เพื่อให้ความรู้ทางวิชาการแก่ร้านค้าชุมชนและด้านปฏิบัติในการลงมือปรับภาพลักษณ์ ณ ร้านค้าจริง
ตอกย้ำชัดเจนว่า ร้านโชห่วย-ไฮบริด จะทำหน้าที่เป็นฮับหรือจุดรวบรวมคำสั่งซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภค...ผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่น การชำระเงินผ่านทางระบบออนไลน์ของผู้บริโภคในชุมชนและระบบการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ผ่านความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะดำเนินการติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในหมู่บ้าน และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
ที่ต้องเร่งพัฒนาก็คือแพลตฟอร์ม “การซื้อ–ขาย” สินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่สามารถนำมาปรับใช้กับร้านค้าโชห่วยและร้านค้าชุมชน ประกอบกับเสริมความรู้ให้กับร้านค้าชุมชนด้านบริหารจัดการเครือข่ายโลจิสติกส์ของสินค้าตั้งแต่ต้นทางจนกระทั่งถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งเป็นจุดแข็งของไปรษณีย์ไทยที่จะมาช่วยให้ร้านค้าชุมชนสามารถจำหน่าย... กระจายสินค้าได้ครอบคลุมทั่วประเทศ
“โชห่วย–ไฮบริด” จะช่วยพลิกโฉมและเชื่อมโยงร้านค้าชุมชนหรือร้านโชห่วยในท้องถิ่นให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ด้วยเทคโนโลยี สร้างผู้ประกอบธุรกิจหรือธุรกิจของคนตัวเล็กๆ ให้มีความเข้มแข็งสะท้อนความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่สำคัญ “ร้านค้าชุมชน” จะสามารถอยู่ร่วมกับ “ร้านค้าสมัยใหม่ (Modern Trade)” ได้ รวมถึงปรับตัวให้ดำเนินธุรกิจบนช่องทาง “ออฟไลน์” และ “ออนไลน์” อย่างยั่งยืน
“โชห่วย–ไฮบริด” เพิ่มศักยภาพร้านค้าชุมชนกระจายสินค้า อีกด้านหนึ่ง ผู้ผลิต...สินค้าชุมชนก็ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างมาตรฐานแบรนด์ไทยให้เติบโตไปด้วยกันให้ได้ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ท้องถิ่น สังคม พนักงาน และผู้บริโภค
“บ้านมะขาม” หนึ่งในตัวอย่างสินค้าแบรนด์ไทยที่ใครยากจะเลียนแบบ น้อมนำแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9...พอเพียง...พัฒนาบ้านเกิด...เกื้อกูลชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่ม...อำนวยประโยชน์ให้ผู้เกี่ยวข้อง... เติบโตไปด้วยกันได้อย่างน่าสนใจ บ่งบอกถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ “มะขาม” เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้า
...
ประเด็นสำคัญปัจจุบันได้กลายเป็นสินค้าแบรนด์ไทยประเภทอาหารทานเล่นที่ติดปากผู้บริโภคทั้งประเทศ รวมถึงดังไกลไปต่างประเทศ โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย กลุ่มประเทศอาเซียน และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง แต่ใครจะรู้ว่า...กว่าจะถึงวันนี้ “บ้านมะขาม” ต้องผ่านความท้าทาย การเปลี่ยนแปลงมากมายแค่ไหน
แรกๆก็มีปัญหามาก เช่น การไม่เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรในพื้นที่ วัตถุดิบหลัก...มะขามหวานมีไม่พอ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมา...มะขามแกะเมล็ดมีตัวมอด รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ต้องอาศัยความอดทน...ความพยายามทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ ใช้หลักเกื้อกูลกันที่ให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
การถ่ายทอดความรู้ต่างๆ การจ้างงานคนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพื่อกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชน ไม่ต้องเดินทางไปทำงานนอกพื้นที่ การสร้างห้องเย็นเก็บผลผลิต การรับซื้อ ประกันราคา สร้างมูลค่าเพิ่ม
สิ่งสำคัญคือการสร้างความเจริญให้กับชุมชน เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความจริงใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด “บ้านมะขาม” จึงเป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่องด้วยความแข็งแกร่งจนถึงปัจจุบัน
ข้อสำคัญของความสำเร็จคือการรักษาคุณภาพสินค้าบวกกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่มีความต้องการที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยยึดหลัก... “การผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภค” ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นระยะ
“โอทอป”... “เอสเอ็มอี” ... “สินค้าชุมชน” ไหนจะนำไปเป็นตัวอย่างการพัฒนาก็ไม่สงวนสิทธิ์แต่ประการใด เพื่อเดินหน้าไปสู่การพัฒนาที่ “มั่นคง...มั่งคั่ง...ยั่งยืน”.
...