มีงานทำก็ดีแล้ว อย่าไปคิดเยอะ...อยากสบายตอนแก่ต้องรู้จักออมเงิน...อย่าเสี่ยงกับการลงทุนในตลาดหุ้น...อย่าไปทำเยอะเอาแค่พอดี เหล่านี้ล้วนแต่เป็นมโนคติที่หลอกลวง ทำให้คนจนและชนชั้นกลางยิ่งจนลงเรื่อยๆ สวนทางกับคนรวยที่รวยเอาๆ

“โรเบิร์ต ที. คิโยซากิ” ผู้เขียนหนังสือขายดีตลอดกาล “พ่อรวยสอนลูก” ตีแผ่ความจริงถึงหลังฉากของ “การเงินลวงโลก” ที่เต็มไปด้วยความ FAKE ทั้งเงินจอมปลอม, ครูจอมปลอม และทรัพย์สินจอมปลอม ล้วนแต่เป็นกับดักที่คอยหยุมหัวคนธรรมดาๆให้โงหัวไม่ขึ้นจากความจน!!

พูดให้ถูกก็คือ แก๊งโจรปล้นโลกบนยอดพีระมิดกำลังฉกฉวยความมั่งคั่งของคนส่วนใหญ่ที่ฐานพีระมิด ผ่านรัฐบาล, ระบบการศึกษา, เงิน, ศาสนา, ธนาคาร และตลาดหุ้น โดยสร้างมโนคติลวงโลกอันจอมปลอม

ทำไมคนรวยต้องปิดหูปิดตาคนจนไม่อยากให้มีความรู้ทางการเงิน? ภายใต้โลกการเงินที่ซับซ้อน และผันผวนมากขึ้นทุกวัน “คิโยซากิ” ตีแผ่วิธีการที่แก๊งโจรปล้นโลกขโมยความมั่งคั่งไปจากคนจนและชนชั้นกลางแบบไม่ให้รู้เนื้อรู้ตัว ผ่านเงินที่พวกเขาแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ, แรงงาน, ภาษี, เงินออม และเงินบำนาญ ซึ่งหวังเป็นที่พึ่งสุดท้ายยามเกษียณ

มันคือฝีมือล้วนๆของ “นักพนันผู้บริหารบ่อน” ในยุคทศวรรษ 1950-1960 ชาวโลกถูกฝังหัวว่ามีแต่นักพนันเท่านั้นที่ลงทุนในตลาดหุ้น ขณะที่คนส่วนใหญ่หวาดกลัวตลาดหุ้น และไว้ใจเงินออมในบำนาญของรัฐว่าปลอดภัย “พ่อจน” ยังคงออมเงินต่อไป ขณะที่ “พ่อรวย” ตระหนักว่าเงินเป็นพิษ และถูกออกแบบมาให้ฉกฉวยความมั่งคั่งของใครก็ตามที่ทำงานเพื่อเงิน, ออมเงิน หรือลงทุนในกองทุนที่สนับสนุนโดยรัฐบาล

หลังปี 1990 อัตราดอกเบี้ยในอเมริกาเริ่มลดลง คนออมเงินกลายเป็นผู้แพ้นับแต่นั้นมา ขณะที่เหล่านักพนัน ซึ่งนำโดยธนาคารกลาง, นายแบงก์ใหญ่ และกระทรวงการคลังของอเมริกา เริ่มพิมพ์เงินมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปกป้องตัวเองและเพื่อนผู้ร่ำรวยของพวกเขา การพิมพ์เงินดอลลาร์ไม่หยุด ทำให้คนจนและชนชั้นกลางยิ่งจนลง เพราะเงินจอมปลอมก่อให้เกิดเงินเฟ้อ และเงินเฟ้อทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ที่ลดลง

...

ตัดภาพไปดูตลาดหุ้นหลังปี 1971 พบว่าดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถึงแม้ตลาดหุ้นทั่วโลกจะเผชิญวิกฤติใหญ่อีกหลายครั้ง ตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี 1998, วิกฤติดอตคอม ในปี 2000 และวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ในปี 2008 ธนาคารกลางทั่วโลกและรัฐบาลอเมริกาก็ยังคงพิมพ์เงินออกมาไม่หยุด เพื่อปกป้องตัวเองกับพวกพ้อง ซ้ำร้ายมีการออกพระราชบัญญัติให้นายธนาคารสามารถเอาเงินออมของคนจนและชนชั้นกลางไปลงทุนในบ่อนยักษ์ได้ เกมนี้ผู้พ่ายแพ้ย่อยยับจึงหนีไม่พ้นนักลงทุนมือสมัครเล่นหลายล้านคนที่กระโดดเข้าสู่บ่อนใหญ่ของธนาคารและตลาดหุ้น ซึ่งครอบครองโดยคนรวย แม้แต่ผู้จัดการกองทุนจอมปลอมที่ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำก็กลายเป็นผู้แพ้ ไม่ต่างจากคนจนและชนชั้นกลางที่ก้มหน้าก้มตาทำงานหนักเพื่อให้ได้เงินจอมปลอม, ออมเงินจอมปลอม และลงทุนในทรัพย์สินจอมปลอม

เรื่องน่าเป็นห่วงของคนรุ่นหลังก็คือ ชาวเบบี้บูมในอเมริกามีชีวิตที่ง่าย เพราะเติบโตมาในช่วงเศรษฐกิจเติบโตที่สุดในประวัติศาสตร์โลก แต่ลูกหลานของพวกเขากลับมีหนทางยากลำบากรออยู่ โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียล หรือคนเจน Y ที่เริ่มต้นเป็นผู้ใหญ่พร้อมกับการแบกภาระหนี้สินเพื่อการศึกษา และยังได้มรดกเป็นหนี้สาธารณะก้อนมหึมา ซึ่งเป็นหายนะทางการเงินที่ตกทอดมาจากรุ่นพ่อแม่ และปู่ย่าตายายของพวกเขา

วิธีบดขยี้พวกชนชั้นกลางไม่ให้โงหัวขึ้นคือ การกดพวกเขาให้อยู่ท่ามกลางภาระทางภาษีและเงินเฟ้อ รัฐบาลอเมริกาต้องการเงินเฟ้อเพื่อจ่ายหนี้สาธารณะด้วยเงินดอลลาร์ที่เสื่อมค่าลง โดยไม่สนว่าเงินเฟ้อทำลายเงินออม, ขัดขวางการวางแผนทางการเงิน และบั่นทอนการลงทุนของคนฐานพีระมิด

ทำไมเกิดวิกฤติเมื่อไหร่คนรวยยิ่งรวยขึ้น ก็เพราะเวลาตลาดหุ้นร่วง คนจนและชนชั้นกลางจะถูกขจัดออกไป ขณะที่เป็นโอกาสให้คนรวยได้ขอยืมเงินและซื้อหุ้นคืนจากพวกแมลงเม่าในราคาถูกแสนถูก...คนยอดพีระมิดเขียนสคริปต์ไว้หมดแล้ว อยู่ที่ว่าจะชักใยโลกไปทางไหน.

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม