Fast Radio Burst (FRB) คือคลื่นวิทยุที่สว่างวาบในช่วงเวลาสั้นๆ กินเวลาเพียงเสี้ยววินาที ทว่าก็ส่องสว่างกว่าคลื่นวิทยุแหล่งอื่นๆส่วนใหญ่ในจักรวาล นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสวินเบิร์น ในออสเตรเลีย เปรียบเปรยว่า คลื่นวิทยุใน FRB นั้นก็คล้ายกับคลื่นที่ใช้ในเตาไมโครเวฟ
เมื่อเดือน มิ.ย.2565 นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสวินเบิร์น และมหาวิทยาลัยแมคควอรี ในออสเตรเลีย เผยว่า จากการใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุแอสแคป (ASKAP) ในทะเลทรายของรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย ทำให้ตรวจพบคลื่นวิทยุ FRB และตั้งชื่อว่า FRB 20220610A ซึ่งตำแหน่งของมันถูกระบุโดยกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ยักษ์ของหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป ในชิลี นักดาราศาสตร์เผยว่า คลื่นวิทยุ FRB ดังกล่าวมีการระเบิดกินเวลาไม่ถึงมิลลิวินาที เทียบการปลดปล่อยพลังงานของมัน ก็เท่ากับที่ดวงอาทิตย์ของเราปล่อยพลังงานทั้งหมดออกมาตลอด 30 ปี ทีมยังระบุว่าคลื่นวิทยุ FRB ที่พบนี้ ดูจะเป็นการควบรวมของกาแล็กซีที่แสงวาบฉับพลันของมันใช้เวลาถึง 8,000 ล้านปีเพื่อมาถึงเรา
นั่นทำให้ FRB 20220610A กลายเป็นคลื่นวิทยุ FRB ที่เก่าแก่ที่สุด และไกลที่สุดในบรรดา FRB ที่เคยตรวจพบมา ซึ่งข้อมูล FRB ที่มีข้อมูลอยู่ก่อนหน้านี้คือเกิดขึ้นเมื่อ 5,000 ล้านปีก่อน นั่นหมายความว่า FRB 20220610A มีอายุมากกว่า 3,000 ล้านปี และมันยังเกิดขึ้นมานานกว่าครึ่งอายุของจักรวาล ที่มีอายุประมาณ 13,800 ล้านปี และยังเกิดมานานกว่าโลกที่มีอายุประมาณ 4,500 ล้านปี.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่