หลุมดำ (Black hole) มักจะไม่สามารถมองเห็นได้อย่างสมบูรณ์ แต่เมื่อวัตถุตกกระทบก็อาจเปล่งแสงเป็นคลื่นวิทยุและคลื่นรังสีเอ็กซ์ออกมา เมื่อเร็วๆนี้มีการค้นพบที่น่าทึ่งโดยยานสำรวจอวกาศไกอา (Gaia) ขององค์การอวกาศยุโรป หรืออีเอสเอ ที่ถูกส่งออกไปปฏิบัติภารกิจถ่ายภาพวัตถุอวกาศ ซึ่งนักดาราศาสตร์จากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาด–สมิธ โซเนียน ในสหรัฐอเมริกา และนักดารา ศาสตร์จากสถาบันมักซ์ พลังค์ ในเยอรมนี เผยว่า การใช้ข้อมูลจากภารกิจไกอาทำให้ค้นพบกลุ่มหลุมดำใกล้โลกที่สุด 2 แห่ง
หลุมดำเหล่านี้ถูกตั้งชื่อว่า Gaia BH1 และ Gaia BH2 ซึ่งหลุมดำแรก Gaia BH1 อยู่ห่างจากโลกของเราเพียง 1,560 ปีแสง ในกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) ส่วนหลุมดำ Gaia BH2 อยู่ห่างโลกออกไป 3,800 ปีแสง ในกลุ่มดาวคนครึ่งม้า (Centaurus) หลุมดำทั้ง 2 แห่งถูกค้นพบโดยการศึกษาการเคลื่อนที่ของดาวฤกษ์ข้างเคียงที่มีการแกว่งส่ายแปลกๆในช่วงที่ดาวเคลื่อนที่บนท้องฟ้า การแกว่งแปลกประหลาดนี้ บ่งชี้ว่าพวกมันกำลังโคจรรอบวัตถุขนาดใหญ่มากและนั่นก็คือหลุมดำ ขณะที่หอสังเกตการณ์รังสีเอ็กซ์จันทราขององค์การนาซา สหรัฐฯ และกล้องโทรทรรศน์วิทยุเมียร์แคต ในแอฟริกาใต้ ที่เป็นเครื่องมือตรวจหาแสง ก็ไม่สามารถตรวจพบสัญญาณใดๆจากหลุมดำ ซึ่งนักดาราศาสตร์ระบุว่าเป็นหลุมดำชนิดใหม่ที่ไม่เปล่งแสงใดๆ ก็ทำให้แทบมองไม่เห็น
นักดาราศาสตร์เผยว่า แม้จะตรวจไม่พบอะไรเลย แต่ข้อมูลนี้ ก็มีค่ามาก เพราะบอกได้หลายอย่างเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรอบๆหลุมดำ และหลุมดำชนิดใหม่ที่ไม่เปล่งแสงนั้น อาจเป็นเพราะพวกมันอยู่ไกลจากดาวฤกษ์ข้างเคียงมาก และหลุมดำ Gaia BH1 และ Gaia BH2 ก็มีวงโคจรที่แยกออกจากกันอย่างกว้างขวางที่สุด.
(Credit : ESA/Gaia/DPAC; CC BY-SA 3.0 IGO, CC BY-SA 3.0 IGO)
...