การปะทุของ ภูเขาไฟฮังกา ตองกา–ฮังกา ฮา’อาปาย (Hunga Tonga–Hunga Ha’apai) ในตองกา ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคโพลีนีเชีย เมื่อ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นการปะทุของภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 และเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดนับจากการระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัว ที่ตั้งอยู่ระหว่างเกาะชวาและเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ.2426

นอกจากความช่วยเหลือจากนานาชาติจะหลั่งไหลเข้าไปยังพื้นที่ประสบภัย บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างแข็งขันที่จะชำแหละสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดสึนามิแบบพิเศษที่เกิดขึ้นกับภูเขาไฟในตองกา

ล่าสุด ทีมวิจัยนานาชาติซึ่งรวมถึงนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ในเวลส์ ได้เผยแพร่บทความใหม่ลงในวารสารเนเจอร์ (Nature) ว่า ได้ระบุกลไกที่แน่ชัดซึ่งทำให้เกิดสึนามิพิเศษที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังการปะทุครั้งมหึมาของภูเขาไฟตองกาเมื่อต้นปีนี้ กลไกที่สำคัญคือ Acoustic-Gravity Waves (AGW) หรือคลื่นเสียงพิเศษที่ยาวมากสามารถเคลื่อนที่ภายใต้ผลกระทบของแรงโน้มถ่วง พวกมันสามารถตัดผ่านตัวกลาง เช่น มหาสมุทรลึกหรือชั้นบรรยากาศด้วยความเร็วเสียง โดยเกิดจากการปะทุของภูเขาไฟหรือแผ่นดินไหวนั่นเอง

ทีมวิจัยเผยว่า จากการใช้ข้อมูลระดับน้ำทะเล บรรยากาศ และดาวเทียมจากทั่วโลกในช่วงเวลาที่เกิดการระเบิดของภูเขาไฟ ทีมแสดงให้เห็นว่า สึนามิถูกขับเคลื่อนโดย AGWs ที่เกิดจากการปะทุและเดินทางสู่ชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว และในทางกลับกันสูบฉีดพลังงานกลับคืนสู่มหาสมุทรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระบวนการนี้เองที่ทำให้มันมีขนาดใหญ่ขึ้น เดินทางไกลขึ้น เร็วมากขึ้น และนานมากขึ้น การปะทุของภูเขาไฟฮังกา ตองกา-ฮังกา ฮา’อาปาย ก็ถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมใต้ผิวน้ำตรงน้ำตื้น ทำให้พลังงานถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในรูปร่างคล้ายเห็ดใกล้กับผิวน้ำ ปฏิสัมพันธ์ของ AGW ที่มีพลังกับผิวน้ำจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในการศึกษาครั้งใหม่ ทีมวิจัยประเมินว่า สึนามิเดินทางเร็วกว่าจุดเริ่มต้นที่ภูเขาไฟ 1.5-2.5 เท่า โดยได้ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก แอตแลนติก และอินเดียในเวลาน้อยกว่า 20 ชั่วโมงด้วยความเร็วประมาณ 1,000 กม./ชม.

...

ทั้งนี้ นักวิจัยมองว่า สึนามิที่ตองกาได้เปิดโอกาสพิเศษในการศึกษากลไกทางกายภาพของการก่อตัวและการขยายตัวของสึนามิทั่วโลก ผ่านการสะท้อนด้วยคลื่นแรงโน้มถ่วงแบบเสียง การสะท้อนในระดับนี้จะทำให้ก้าวไปไกลกว่าการพิสูจน์แนวคิดด้านกลไกจะช่วยพัฒนารูปแบบการทำนายที่แม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาระบบเตือนแบบเรียลไทม์ และอาจนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีควบคุมพลังงานแบบใหม่อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม.

ภัค เศารยะ