เครื่องบินของรัสเซียที่เราคุ้นเคยกัน ถ้าเป็นเครื่องบินพาณิชย์ก็จะเป็นตระกูล Ilyushin และ Tupolev เช่น IL-86 IL-96 TU-154 TU-204 และ TU-214 ถ้าเป็นเฮลิคอปเตอร์ เราก็ชินกับพวก Sikorsky CH-53D (Sea Stallion) หรือ Sikorsky CH-53E (Super Stallion) ที่ยกสัมภาระได้ถึง 1.63หมื่นกิโลกรัม
เราได้ยินชื่อ Antonov ที่เป็นเครื่องบินทหารที่ออกแบบมาเพื่อบรรทุกสัมภาระหนักในระยะทางไกล หรือเครื่องบินที่สร้างโดย Mikojan Gurevich ที่เป็นพวกตระกูล Mig เครื่องบินรบรัสเซียชื่อดังก็ Sukhoi ที่เรารู้จักในนาม Su เช่น Su-30 Su-34 หรือ Su-35
รัสเซียมีเนื้อที่กว้างขวางใหญ่โตถึง 17 ล้าน ตร.กม. การเดินทางส่วนใหญ่จึงต้องใช้เครื่องบินกันเป็นหลัก ใครที่ตระเวนไปตามต่างจังหวัดของรัสเซียก็อาจจะแปลกใจ ที่พบเครื่องบินจอดกันระเกะระกะ เหมือนรถโดยสารแดงบ้านเรา รัสเซียมีเครื่องบินเยอะมาก แต่ละเมืองก็จะมีสนามบินของตัวเองซึ่งก็ไม่ได้ทันสมัย โอ่อ่า เหมือนกับสนามบินในประเทศอื่น
บางประเทศอาจจะมองว่าการเดินทางโดยเครื่องบินเป็นเรื่องของคนมีฐานะ แต่ที่รัสเซียไม่ใช่ เป็นเรื่องพื้นๆ เพราะคนรัสเซียโดยทั่วไปก็เดินทางด้วยเครื่องบินแทบทั้งนั้น
ที่มีอุบัติเหตุก็มักเกิดแถบเทือกเขาสูง เช่น พ.ศ.2555 ผมยังจำได้ว่า เครื่องบิน AN-28 บินข้ามเขาคัมชัตคาและไปตกในป่า มีคนตาย 10 ศพ จากการตรวจกล่องดำก็พบว่า ตอนที่เครื่องบินตก นอกจากนักบินจะเมามายแล้ว ยังเกิดจากความเก่าของเครื่องบิน
ตอนที่ยังเป็นสหภาพโซเวียต นักบินโซเวียตขับเครื่องบินกันปรู๊ดปร๊าด พ้นรันเวย์ได้ก็เชิดหัวเครื่องขึ้น ตอนจะลงก็ดิ่งปักหัวลง ผู้โดยสารต้องใช้มือยันเบาะบ้าง ยึดเบาะบ้าง พอเครื่องบินแตะรันเวย์ ผู้โดยสารทั้งลำจะปรบมือกันยาวนาน เป็นการขอบคุณและให้เกียรตินักบิน
...
ตอนที่สหภาพโซเวียตแตก ทั้ง 15 สาธารณรัฐก็แบ่งเครื่องบินกัน นักบินส่วนใหญ่เป็นชาวสลาฟต่างโยกย้ายไปรับสัญชาติสหพันธรัฐรัสเซีย ทำให้ประเทศเกิดใหม่หลายแห่งมีนักบินไม่พอหรือที่มีอยู่ก็ไม่มีความชำนาญ และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีข่าวเครื่องบินตกกันบ่อยๆ
พูดถึงคัมชัตคา ชื่อนี้เป็นทั้งคาบสมุทร แม่น้ำ และทิวเขา คาบสมุทรคัมชัตคาอยู่ในทวีปเอเชีย ยื่นเป็นแนวยาวไปทางใต้ระหว่างทะเลโอคอตสค์กับทะเลเบริง ยาวจนสุดปลายที่แหลมโลปัตคา ห่างจากเมืองชัมชูทางตอนเหนือสุดของเกาะคูริล แถวนี้ละครับคือจังหวัดคัมชัตคา ที่มีป่าไม้เยอะ มีปลาแยะ แม่น้ำที่เกิดจากทิวเขาสเรดินนืยเครเบตที่ไหลไปลงทะเลเบริง ซึ่งมีความยาว 769 กิโลเมตร เราก็เรียกว่าแม่น้ำคัมชัตคาด้วย
ส่วนคัมชัตคาที่เป็นทิวเขา ทั้งแนวตะวันออกและแนวตะวันตก มีภูเขาไฟหลายลูก เช่น ยอดเขาคลีอูเชฟสกายาซอฟคาที่สูงเกือบ 5,000 เมตร ซึ่งสูงที่สุดในไซบีเรีย
6 กรกฎาคม 2564 เครื่องบิน AN-26 บินจากเมืองปิตรา ปัฟลัฟสค์-คัมชัตสกี จะไปยังเมืองปาลานา ทั้งสองเมืองอยู่ในคาบ สมุทรคัมชัตคา พอถึงคราวจะแลนดิ้ง ก็ไปชนหน้าผา นายกเทศมนตรีปาลานาตายพร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ นอกจากทัศนวิสัยไม่ดีแล้ว ผมว่าเครื่องบินรัสเซียตามเมืองชนบทยังเก่าอีกด้วย อย่างลำที่เพิ่งตกเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี่ ใช้งานตั้งแต่ พ.ศ.2525 นานตั้ง 39 ปี เป็นของประเทศอื่นก็เลิกใช้ไปนานแล้วครับ
สมัยก่อนตอนที่พวกเรายังเด็ก ทุกครั้งที่ไปสนามบินดอนเมือง เพื่อรับพ่อซึ่งกลับมาจากรัสเซีย เราจะได้กลิ่นบุหรี่ตามเสื้อผ้า หน้าผมของพ่อ พ่อเล่าว่าบนเครื่องบิน มีการสูบบุหรี่กันควันโขมง แต่ปัจจุบันนี้ทราบว่าไม่มีแล้ว การปฏิบัติต่างๆของการบินรัสเซียเข้ามาตรฐานสากลแล้ว
ที่นำเรื่องนี้มาเขียน เพราะระยะหลัง (ก่อนวิกฤติโควิด-19) มีคนไทยไปเที่ยวเมืองชนบทในรัสเซียกันมากขึ้น บางท่านมีประสบการณ์นั่งเครื่องบินเก่า 30-40 ปี จากเมืองหลวงไปต่างเมือง ก็มีทั้งถ่ายรูป ทั้งมีเรื่องเล่ามาโพสต์ในโซเชียลมีเดียกันอย่างน่าสนใจ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com