“สาธารณรัฐฟิลิปปินส์” ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มีปัญหากบฏแบ่งแยกดินแดนรุนแรงที่สุดชาติหนึ่งในอาเซียน รวมทั้งที่เกาะมินดาเนาทางภาคใต้สุดที่มีพรมแดนติดกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งหลายรัฐบาลพยายามแก้มาตลอด จนกระทั่งมีการลงนาม “ข้อตกลงสันติภาพ” ระหว่างรัฐบาลชุดก่อน กับ “แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร” (เอ็มไอแอลเอฟ) กบฏมุสลิมกลุ่มใหญ่ที่สุด

21 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดการลงประชามติครั้งสำคัญในพื้นที่ใหญ่ซึ่งชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมบนเกาะมินดาเนา เพื่อให้ประชาชนตัดสินว่าจะตั้ง “ภูมิภาคปกครองตนเองบังซาโมโร” (Bangsamoro Autonomous Region) หรือ “บีเออาร์” ขึ้นมาแทน “ภูมิภาคปกครองตนเองในเขตมุสลิมมินดาเนา” (Autonomous Region in Muslim Mindanao) หรือ “เออาร์เอ็มเอ็ม” เดิมที่ตั้งขึ้นตามข้อตกลงสันติภาพหรือไม่

การลงประชามติครั้งนี้มีผู้มีสิทธิลงคะแนนกว่า 2.8 ล้านคน ถามประชาชนว่าจะรับหรือไม่รับ “กฎหมายก่อร่างรัฐบังซาโมโร” (Bangsamoro Organic Law) หรือ “บีโอแอล” ที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ลงนาม ในปี 2561 เพื่อให้ตั้ง “บีเออาร์” ที่มีอำนาจปกครองตนเองเพิ่มขึ้นมากจาก “เออาร์เอ็มเอ็ม” เดิม

หนุนปกครองตนเอง  –  ชาวบ้านรุมถ่ายรูปประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ที่กรุงมะนิลา ก่อนมีการลงประชามติบนเกาะบอร์เนียว ซึ่งดูเตร์เตสนับสนุนให้เพิ่มอำนาจเขตปกครองตนเองของชาวมุสลิมบังซาโมโร (เอพี)
หนุนปกครองตนเอง – ชาวบ้านรุมถ่ายรูปประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ที่กรุงมะนิลา ก่อนมีการลงประชามติบนเกาะบอร์เนียว ซึ่งดูเตร์เตสนับสนุนให้เพิ่มอำนาจเขตปกครองตนเองของชาวมุสลิมบังซาโมโร (เอพี)

...

ผลประชามติเป็นทางการคาดว่าประชาชน จะรับบีเออาร์ท่วมท้น จากนั้นจะมีการลงประชามติในพื้นที่เล็กกว่าอื่นๆที่เหลือบนเกาะมินดาเนาใน 6 ก.พ.นี้ ว่าจะเข้าร่วมบีเออาร์หรือไม่ ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่จะโอเค

หลังประชามติรับบีเออาร์ รัฐบาลกลางจะตั้ง “องค์กรเปลี่ยนผ่านบังซาโมโร” (Bangsamoro Transition Authority) ขึ้น เพื่อบริหารภูมิภาคนี้ชั่วคราวก่อนจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ 80 ที่นั่งในปี 2565 และสภาจะเลือก “มุขมนตรี” (Chief Minister) กับคณะรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าเอ็มไอแอลเอฟจะผงาดขึ้นมาเป็นใหญ่

บีเออาร์จะมีอำนาจด้านนิติบัญญัติ บริหาร และงบประมาณของตนเองเต็มที่ ส่วนด้านนโยบายต่างประเทศ ความมั่นคง และการเงินการคลัง ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลาง นอกจากนี้ ยังจะมีการยุบกองทัพและปลดอาวุธกว่า 40,000 ชิ้นของเอ็มไอแอลเอฟและกองโจรกับพลเรือนกลุ่มอื่นๆด้วย

ก่อนถึงวันนี้ กบฏมุสลิมบนเกาะมินดาเนา ซึ่งมีเอ็มไอแอลเอฟและ “แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร” (เอ็มเอ็นแอลเอฟ) กบฏกลุ่มใหญ่อันดับ 1 และ 2 เป็นหัวหอก จับอาวุธต่อสู้แยกดินแดนมานับ 50 ปี ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 มีผู้เสียชีวิตกว่า 120,000 คน! โดยขณะนี้เอ็มเอ็นแอลเอฟยังเจรจาสันติภาพถาวรกับรัฐบาลอยู่

เขตมุสลิมมินดาเนาหรือ “บังซาโมโร” มีชาวมุสลิมไปตั้งรกรากตั้งแต่พ่อค้าชาวอาหรับเดินทางไปถึงที่นั่นเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 13 ปัญหาความไม่สงบทำให้ภูมิภาคนี้ไร้เสถียรภาพ ไร้โอกาส ถูกทอดทิ้ง ขาดโครงสร้างพื้นฐาน มีคนตกงานและไร้การศึกษาสูงที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน โดยมีครอบครัวยากจนสูงกว่า 50% เทียบกับทั้งประเทศที่ 21.6% ส่วนอัตราผู้เข้าโรงเรียนก็ต่ำสุดแค่ราว 30% เทียบกับ 68% ทั่วประเทศ

ภูมิภาคนี้จึงอ่อนไหวเปราะบาง ตกเป็นเหยื่อกลุ่มหัวรุนแรงที่เป็นสาขาหรือแนวร่วมของเครือข่าย “กองกำลังรัฐอิสลาม” (ไอเอส) ได้ง่าย เช่นกลุ่มดอว์ลา อิสลามิยาห์ (ดีไอ) กลุ่มนักรบเสรีภาพอิสลามบังซาโมโร (บีไอเอฟเอฟ) และกลุ่มอาบู ไซยาฟ ซึ่งเข้าไปเกณฑ์สมาชิกใหม่โดยเฉพาะเยาวชนอย่างได้ผล

ประชามติ  –  ชาวบ้านชูกำปั้นด้วยความโกรธแค้น หลังจับได้ว่าชายคนหนึ่งเวียนไปลงคะแนนหลายรอบ ระหว่างการลงประชามติที่เมืองโกตาบาโต เพื่อเพิ่มอำนาจการปกครองตนเองในพื้นที่ชาวมุสลิมบังซาโมโร บนเกาะบอร์เนียว เมื่อ 21 ม.ค. (เอเอฟพี)
ประชามติ – ชาวบ้านชูกำปั้นด้วยความโกรธแค้น หลังจับได้ว่าชายคนหนึ่งเวียนไปลงคะแนนหลายรอบ ระหว่างการลงประชามติที่เมืองโกตาบาโต เพื่อเพิ่มอำนาจการปกครองตนเองในพื้นที่ชาวมุสลิมบังซาโมโร บนเกาะบอร์เนียว เมื่อ 21 ม.ค. (เอเอฟพี)

...

กบฏซึ่งมีหลายสิบกลุ่มก่อความรุนแรงมายาวนาน ที่ลือลั่นที่สุดครั้งหนึ่งคือกรณีกลุ่มอาบูไซยาฟ ที่ขึ้นชื่อเรื่องลักพาตัวชาวต่างชาติไปเรียกค่าไถ่และฆ่าตัดคอ ร่วมกับกลุ่ม “เมาเต้” และพันธมิตรท้องถิ่นและนักรบต่างชาติที่เป็นแนวร่วมไอเอส บุกยึดเมือง “มาราวี” เมื่อเดือน พ.ค.2560 เพื่อหวังตั้ง “รัฐอิสลาม” ขึ้น

รัฐบาลดูเตร์เตต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกที่มินดาเนาจนถึงบัดนี้ และใช้เวลาถึง 5 เดือนกว่าจะยึดเมืองมาราวีคืนได้ พวกกบฏตายกว่า 800 คน ทหารตำรวจพลีชีพกว่า 160 นาย เมืองมาราวีกว่าครึ่งพังราบ ชาวบ้านลี้ภัยกว่า 350,000 คน พวกกบฏที่รอดตายจากมาราวีบางส่วนหนีไปอิรักและซีเรีย รอเวลาหวนกลับมารวมกลุ่มกันใหม่ ส่วนพวกที่เหลือก็ยังโจมตีประปราย รวมทั้งวางระเบิดห้างสรรพสินค้าที่เมืองโกตาบาโตเมื่อ 31 ธ.ค.2561

การตั้งบีเออาร์แม้จะไม่ใช่ “ยาวิเศษ” รักษาได้สารพัดโรค แต่ทุกฝ่ายหวังว่าภูมิภาคนี้จะดีขึ้นทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ เพราะจะมีอำนาจมากขึ้นในการบริหาร จัดการงบประมาณและทรัพยากรธรรมชาติ มีการจ้างงานและการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมและเหมืองแร่อันอุดมสมบูรณ์

ดูเตร์เตก็เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากมินดาเนา มีคุณย่าเป็นชาวบังซาโมโร เขายังเป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมืองดาเวาในมินดาเนา มีผลงานโดดเด่นจากการกวาดล้างอาชญากรรมและยาเสพติดแบบ “กำปั้นเหล็ก” และ “ศาลเตี้ย” จนได้เป็นผู้นำประเทศในที่สุด

ดูเตร์เตยังมีสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้นำกบฏมินดาเนาหลายกลุ่ม ในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2559 เขายอมอ่อนข้อ โดยชูนโยบายตั้ง “บีเออาร์” หวังยุติปัญหาความไม่สงบที่รัฐบาลก่อนๆแก้ไม่ได้ และตั้งเป้าจะทำให้เมืองดาเวาที่เคยไร้ขื่อแปกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่รุ่งโรจน์

...

ดูเตร์เตยังมีเวลากุมอำนาจอีก 3 ปี ถ้า “บีเออาร์” ทำให้เกิดสันติภาพถาวรที่มินดาเนาได้ จะเป็นผลงานชิ้นโบแดง ซึ่งนอกจากจะยุติปัญหากบฏแบ่งแยกดินแดนได้ ยังอาจเป็นต้นแบบสู่การตั้งระบอบการปกครอง “สหพันธรัฐฟิลิปปินส์” ในอนาคตด้วย!

บวร โทศรีแก้ว