"รองนพศิลป์" แถลงจับเครือข่าย "หมอบุญ" เจ้าของโรงพยาบาลดัง พร้อมพวกรวม 9 ราย พบใช้โบรกเกอร์ชักชวนลงทุนธุรกิจการแพทย์ 5 โครงการ อ้างผลตอบแทนสูงลิ่ว เหยื่อ 247 ราย สูญเงินกว่า 7.5 พันล้านบาท

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 พ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุม บก.น.1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผบก.น.1 และ พ.ต.อ.ศักยะ แสงวรรณ รอง ผบก.น.1 ร่วมกันแถลงผลการจับกุม เครือข่ายนายแพทย์บุญ วนาสิน หรือ หมอบุญ อายุ 86 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 5645/2567 ลงวันที่ 22 พ.ย. 67

ทั้งนี้ ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และธนาคารปฏิเสธไม่ให้ใช้เงินตามเช็คนั้น และพวก รวม 9 รายประกอบด้วย

1. น.ส.จิดาภา พุ่มพุฒ อายุ 53 ปี เลขาส่วนตัว

2. น.ส.ศิวิมล จาดเมือง อายุ 38 ปี ผู้จัดการเกี่ยวกับเอกสาร สัญญาต่างๆ และจัดการด้านการเงิน ตามคำสั่ง น.ส.จิดาภา

3. นางจารุวรรณ วนาสิน อายุ 79 ปี ภรรยาของนายแพทย์บุญ เป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาต่างๆ

4. น.ส.นลิน วนาสิน อายุ 51 ปี บุตรสาวของนายแพทย์บุญ และนางจารุวรรณ เป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาต่างๆ

5. นางอัจจิมา พาณิชเกรียงไกร อายุ 49 ปี เป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ คิงฟอร์ด เป็นผู้ชักชวนให้ร่วมลงทุน

...

6. นายภาคย์ วัฒนาพร อายุ 36 ปี เป็นเจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์ คิงฟอร์ด ร่วมกับนางอัจจิมา เป็นผู้ประสานงานให้คำปรึกษา ชักชวนลงทุน

7. นางภัทรานิษฐ์ ณ สงขลา อายุ 55 ปี เป็นนายหน้า และผู้ชักชวนแนะนำการลงทุน เป็นผู้จัดทำเอกสารเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงิน

8. นายธนภูมิ ชนประเสริฐ อายุ 36 ปี เป็นตัวแทนติดต่อชักชวนผู้เสียหาย เป็นผู้จัดทำสัญญา ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ สัญญาค้ำประกัน โดยทั้ง 8 ราย ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

พล.ต.ต.นพศิลป์ กล่าวว่า มีผู้เสียหายจำนวนมากเข้าแจ้งความที่ สน.ห้วยขวาง เริ่มจากห้วง เดือน ธ.ค.2566 1 คดี ถัดมาในปี 2567 ห้วงเดือน พ.ค. อีก 6 คดี, เดือนมิ.ย. 8 คดี และ ก.ค. 49 คดี และคดีเริ่มซับซ้อนยากมากขึ้น เนื่องจากผู้เสียหายเพิ่มมากขึ้น ในช่วงเดือน ส.ค. 75 คดี, ก.ย. 84 คดี, ต.ค. 60 คดี และ พ.ย.อีก 60 คดี รวม 520 คดี รวมผู้เสียหาย 247 ราย เบื้องต้นเป็นคดี พ.ร.บ.เช็ค

พนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง รับคำร้องทุกข์ไว้ จึงได้แต่งตั้ง คณะ บก.น.1 เป็นพนักงานสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน พบพฤติกรรมของนายแพทย์บุญ และพวกมีการระดมทุน ชักชวนจากตัวแทน บริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ว่าตนเป็นตัวแทนการระดมเงินลงทุน ให้นายแพทย์บุญ วนาสิน หรือ หมอบุญ และครอบครัว

ผู้เสียหายถูกโบรกเกอร์ติดต่อชักชวนลงทุน ร่วมกับนายแพทย์บุญกับพวก อ้างว่าลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจทางการแพทย์ มี 5 โครงการ 1.โครงการสร้างศูนย์มะเร็ง ย่านปิ่นเกล้า พื้นที่ 7 ไร่ ใช้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท 2.โครงการเวลเนสเซ็นเตอร์ ย่านพระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างที่พักอาคารสูง 52 ชั้นรองรับผู้สูงอายุ 400 ห้อง มูลค่า 4-5 พันล้านบาท 3. สร้างโรงพยาบาลในสปป.ลาว รวม 3 แห่งเวียงจันทน์ 2 แห่ง, จำปาสัก 1 แห่ง 4. เข้าร่วมลงทุนกับโรงพยาบาลในเวียดนาม โดยใช้งบลงทุน 4-5 พันล้านบาท และ 5.การสร้างเมดิคอลอินเทลลิเจนท์ บางละมุง ชลบุรี ทำหน้าที่ด้านไอที มูลค่า 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากผู้เสียหายร่วมลงทุนแล้ว ผู้ร่วมลงทุนในปี 2566 จะได้กำไร 700 ล้านบาท ปี 2567 อาจเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท ในช่วงดังกล่าววันที่ 2-4 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา นายแพทย์บุญได้สร้างโปรไฟล์น่าเชื่อถือ

สำหรับ 5 โครงการดังกล่าว หลังระดมทุนเรียบร้อยแล้ว จะให้ผู้เชี่ยวชาญ บริษัทไทยเมดิคอลกรุ๊ป จำกัด หรือ TMG ดูแลโครงการทั้งหมดเนื่องจากมีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ เข้ามาบริหารต่อ ยังมีแผนการนำเข้าบริษัทตลาดหลักทรัพย์ในปี 2567

แต่พฤติกรรมในการหาแหล่งเงินทุน ของหมอบุญ และพวกกับมีลักษณะการไปกู้ยืมเงินกับแหล่งเงินกู้ โดยมีภรรยา และลูกสาว เป็นผู้ค้ำประกัน เซ็นสลักหลังในเช็คทุกฉบับ มอบให้ผู้เสียหาย ในช่วงแรกมีการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูง ให้กับบางส่วนบางคน ต่อมาไม่มีการจ่ายเลย อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังพบว่า หลังจากได้เงินทุน 7,500 ล้าน พบว่าให้โบรกเกอร์ทยอยไปถอนเงินครั้งละเป็นร้อยล้าน โดยโบรกเกอร์จะได้ดอกเบี้ย และเปอร์เซ็นต์เป็นค่าตอบแทน ประมาณ 1 แสนบาท ต่อ 10 ล้านบาท การกระทำทั้งหมอบุญและโบรกเกอร์ จะไปชักชวนผู้ร่วมลงทุน ที่เป็นนักเล่นหุ้น กระเป๋าหนัก

ต่อมามากองบังคับการตำรวจนครบาล 1 แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนขึ้น โดย พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. สั่งการให้ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น., พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รอง ผบช.น. เร่งดำเนินการโดยด่วน เนื่องจากมีผู้เสียหายจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายสูง ผู้ที่เสียหายมากที่สุดที่ร่วมลงทุนมากที่สุดมากถึง 600-700 ล้าน เป็นนักธุรกิจที่หลงเชื่อว่าจะมีการลงทุนจริง รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งหมด 247 คน ความเสียหาย 7,564 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 ถึงเดือนตุลาคม 2567

ส่วนเงินจำนวนดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีการนำไปใช้จ่ายในธุรกิจเครือข่ายโรงพยาบาลที่มีอยู่จริง 4-5 โรงพยาบาล จะต้องไปตรวจสอบ รวมถึงต้องไปตรวจสอบในช่วงที่มีการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ว่าเงินดังกล่าวไปอยู่ที่ไหน

...

นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบว่า นายแพทย์บุญ มีรถยนต์ 19 คัน พบว่าหายไป ส่วนอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงโฉนดที่ดิน พบมี 21 แปลง พบว่ามีการยักย้ายถ่ายเทไปยังคนในครอบครัว จะต้องมีการตรวจสอบว่า ทรัพย์สินดังกล่าวได้มาในช่วงปี 2567 หรือไม่

สำหรับผู้ร่วมขบวนการโดยศาลอาญาได้ออกหมายจับมี 9 ราย ประกอบด้วยกลุ่มที่ 1 คือ นายแพทย์บุญ วนาสิน, นางจารุวรรณ ภรรยาของนายแพทย์บุญ, น.ส.นลิน อายุ 51 ปี บุตรสาวของนายแพทย์บุญ กลุ่มสอง คือ น.ส.ศิวิมล ผู้จัดการเกี่ยวกับเอกสารสัญญาต่างๆ และจัดการด้านการเงิน และกลุ่มที่ 3 โบรกเกอร์ คือ นางอัจจิมา เจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ เป็นผู้ชักชวนให้ร่วมลงทุน, นายภาคย์ เจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์ ผู้ประสานงานให้คำปรึกษาชักชวนลงทุน, นางภัทรานิษฐ์ เป็นนายหน้าและผู้ชักชวนแนะนำการลงทุน ผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกัน และนายธนภูมิ อายุ 36 ปี ซึ่งเป็นตัวแทนติดต่อชักชวนผู้เสียหาย เป็นผู้จัดทำสัญญา ซึ่งขณะนี้ตำรวจจับได้แล้ว 6 ราย และได้มีการนำตัวส่งศาลอาญาฝากขังเรียบร้อยแล้ว

ส่วนหมอบุญได้ประสาน ตม. พบว่าเดินทางออกจากไทยตั้งแต่ 29 กันยายน เวลา 14.25 น. เส้นทางกรุงเทพ-ฮ่องกง ล่าสุดทราบว่านายแพทย์บุญ เดินทางต่อจากฮ่องกงไปจีนแล้ว อยู่ระหว่างการประสานตำรวจสากล ส่วนลูกเมียอยู่ระหว่างติดตามตัวคาดว่าอยู่ในประเทศไทย

สำหรับพฤติการณ์ หมอบุญชุดสืบสวนพบว่า พยายามจ่ายเช็คให้กับเจ้าหนี้ โดยใช้เช็คที่ผู้เสียหายไม่สามารถนำไปใช้ดำเนินการขึ้นเงินได้ เพื่อหลีกเลี่ยงในเรื่องความผิดการฟอกเงิน ที่มีอัตราโทษสูง และจะต้องถูกยึดอายัดทรัพย์ อีกทั้งพฤติกรรมกลุ่มผู้ต้องหายังทำการตลาด ซื้อโฆษณา สื่อออนไลน์ สำนักพิมพ์หลายแห่ง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือโดยการออกสื่อทั้งลงเว็บไซต์และให้สัมภาษณ์ และบอกกล่าวครอบครัว คนใกล้ชิด และโบรกเกอร์ตัวแทนในการระดมทุน อ้างว่าตนมีบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งจดทะเบียนถูกต้องในตลาดหลักทรัพย์ สร้างความน่าเชื่อถือ และการระดมทุนได้ค่าตอบแทนสูงมากกว่าสถาบันการเงิน

...

อย่างไรก็ตาม จะพยายามถึงที่สุดในการตามล่าตัว ตามหาทรัพย์สินกลับมาคืนผู้เสียหายให้ได้ ฝากถึงผู้ที่จะลงทุน ก่อนร่วมลงทุนให้ตรวจสอบอย่างละเอียดว่าโครงการต่างๆ จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่.