“สนธิ ลิ้มทองกุล” ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสภาทนายความ ตรวจสอบมรรยาท “ทนายษิทธา-ทนายเดชา” ระบุใช้ความรู้ทางกฎหมายเอารัดเอาเปรียบคนที่ไม่รู้กฎหมาย
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ที่สภาทนายความ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งสื่อเครือผู้จัดการและเจ้าของรายการสนธิทอล์ก, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ พร้อมทนายความ เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนให้พิจารณาสอบมรรยาททนายความกับนายษิทธา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม และนายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือทนายเดชา มีนายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ กำกับดูแลงานมรรยาททนายความ เป็นผู้รับเรื่อง จากนั้นนายสนธิพร้อมคณะได้เข้าพบกับ นายคณิต วัลยะเพ็ชร์ ประธานกรรมการมรรยาททนายความ โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที
จากนั้นนายสนธิให้สัมภาษณ์ว่า ดีใจมากที่สื่อมวลชนและตนได้ช่วยกัน ทำให้ความจริงปรากฏ และเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในสังคมไทย สิ่งที่นายษิทธาทำกับ น.ส.จตุพร หรือเจ๊อ้อย ไม่ใช่การฉ้อโกงหรือฟอกเงินอย่างเดียว แต่เป็นกระบวนการของคนที่รู้กฎหมาย แล้วใช้ความรู้ทางกฎหมายเอารัดเอาเปรียบคนที่ไม่รู้กฎหมาย โดยเฉพาะน.ส.จตุพร ที่มองว่าเป็นคนต่างจังหวัด ที่เจอกับนายษิทธาทางโซเชียลเฟซบุ๊ก สิ่งที่ทำเป็นการหลอกลวงประชาชนที่หลงเชื่อ
นายสนธิกล่าวว่า ตนยังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่โดนทนายความหลอกเป็น 100 ราย บางรายเป็นทนายความที่โดนไล่ออกแล้ว ประชาชนบางคนถูกหลอกจนหมดเนื้อหมดตัว ตนจึงรับไม่ได้แล้วความยิ่งใหญ่ของนายษิทธาในอดีตเป็นเรื่องที่คนไม่กล้าเข้าไปยุ่ง แต่เขาเข้าใจผิด สำหรับตนแล้วจะใหญ่แค่ไหนถ้าความอยุติธรรมเกิดขึ้น ตนจะไม่รีรอที่จะทำ ทั้งนี้ น.ส.จตุพรมอบอำนาจให้ตนดำเนินการเด็ดขาดกับเรื่องที่ได้แจ้งความนายษิทธาไว้ เกี่ยวกับการฉ้อโกงและฟอกเงิน รวมทั้งมีอำนาจในการแต่งตั้งทนายความด้วย
...
ด้านนายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ กำกับดูแลงานมรรยาททนายความ กล่าวว่า จากนี้จะส่งให้ประธานกรรมการมรรยาททนายความ ซึ่งประธานมรรยาททนายความจะมอบหมายให้รองประธานมรรยาททนายความท่านใดท่านหนึ่งพิจารณาว่าจะรับคำกล่าวหาหรือไม่ ถ้ารับก็จะเข้าสู่กระบวนการตั้งกรรมการสอบสวน แต่ก่อนตั้งกรรมการสอบสวนจะต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบ เพื่อแก้ต่างคำกล่าวหา จะทำให้การพิจารณาคดีมรรยาททนายความรวดเร็วขึ้น คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง ปกติแล้วการลงโทษก็จะมีตั้งแต่ตักเตือน, ภาคทัณฑ์ พักใบอนุญาตทนายความ 3 เดือน, 6 เดือน หรือ 3 ปี รุนแรงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาตทนายความ แต่ผู้ถูกกล่าวหาสามารถอุทธรณ์กับสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความหรือ รมว.ยุติธรรมหรือฟ้องศาลปกครองได้