กองปราบแถลงจับนักธุรกิจชื่อดังเมืองเชียงใหม่ หลอกลงทุนอัญมณีสูญเงินกว่า 22 ล้านบาท ประวัติโชกโชนเคยถูกทางการแองโกลาจับติดคุกแต่ไม่หลาบจำ ยังกลับมาตุ๋นระดมเงินลงทุนอภิมหาโปรเจกต์ "รถไฟความเร็วสูง" โดนแม้กระทั่งนักการเมือง

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 67 ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พร้อมด้วย พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.มนูญ แก้วก่ำ ผกก.1 บก.ป., และ พ.ต.ท.กฤษฎา พลายละหาร สว.กก.1 บก.ป. ร่วมกันแถลงผลการจับกุม นายรวีโรจน์ ฤทธิโชติอนันต์ อายุ 57 ปี ตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ จ.794/2565 ลงวันที่ 28 พ.ย. 2565 ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงและร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม หลังจับกุมตัวได้ที่ห้องพักในโรงแรม ย่านเลียบทางด่วนรามอินทรา แขวงและเขตวังทองหลาง กทม.

พล.ต.ต.มนตรี กล่าวว่า เนื่องจากเมื่อปี 2558 นายรวีโรจน์ นักธุรกิจชื่อดังเมืองเชียงใหม่ ได้ร่วมกับพวกหลอกลวงเงินผู้คน โดยการแอบอ้างตัวเป็นกลุ่มนายทุนเจ้าของบริษัทการเงิน มีเงินฝากในธนาคารต่างประเทศคิดเป็นเงินไทยประมาณ 2 แสนล้านบาท สามารถให้เงินสนับสนุนกับผู้เสียหายซึ่งเป็นนักธุรกิจอัญมณีได้ หากมาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมอัญมณีแบบครบวงจรร่วมกับกลุ่มของผู้ต้องหา แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องจ่ายเงินค่าดำเนินการและค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการนำเงินเข้ามาในประเทศไทยให้กับกลุ่มผู้ต้องหาก่อน

พล.ต.ต.มนตรี กล่าวเสริมว่า เมื่อกลุ่มผู้ต้องหาเห็นว่าเหยื่อเริ่มมีท่าทีสนใจ จึงปลอมหนังสือค้ำประกันของธนาคาร HSBC (The Hongkong and Shanghai Bank) สาขานิวยอร์กขึ้นมา เพื่อนำมาแสดงให้ผู้เสียหายเห็นว่า มีเงินในบัญชีกว่า 8,775,105,000 ดอลลาร์อยู่จริง เหยื่อจึงหลงเชื่อยอมตกลงโอนเงินค่าดำเนินการให้เป็นเงินรวมกว่า 22 ล้านบาท แต่สุดท้ายเมื่อถึงกำหนดนัดจ่ายเงินทุนสนับสนุนดังกล่าว กลับไม่ได้รับเงินตามที่ตกลงกันไว้ ทั้งยังถูกบ่ายเบี่ยง ก่อนตัดขาดการติดต่อหนีหายไปในที่สุด ผู้เสียหายจึงรู้ตัวว่าถูกหลอก เข้าแจ้งความไว้ที่ กก.1 บก.ป.ก่อนจะมีการออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา แต่นายรวีโรจน์กลับไม่ยอมมาพบพนักงานสอบสวน

...

พ.ต.อ.มนูญ กล่าวต่อว่า ต่อมาเจ้าหน้าที่จัดกำลังลงพื้นที่สืบสวนสอบสวนแกะรอยกลุ่มขบวนการดังกล่าว จนทราบว่า หลังก่อเหตุดังกล่าวและถูกพนักงานสอบสวน กก.1.บก.ป.ออกหมายเรียกตัวแล้ว แต่นายรวีโรจน์กลับหลบหนีไปอยู่ที่ประเทศแองโกลา และถูกจับกุมพร้อมกับพวกในคดีปลอมแปลงเอกสารเช็คและฟอกเงิน จากกรณีนำเช็คปลอมจำนวน 50,000 ล้านดอลลาร์ เข้าเปิดบัญชีที่ธนาคารในประเทศแองโกลา เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนประกอบธุรกิจค้าขายสินค้าทางการเกษตร ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จนเกือบจะได้เซ็นสัญญากับรัฐบาลแองโกลา แต่เกิดถูกตรวจสอบพบเสียก่อน จึงถูกจับดำเนินคดี เมื่อปี 2561 จนเมื่อกลางปี 2565 พ้นโทษจำคุกที่ประเทศแองโกลาออกมา จึงหลบหนีเข้ามาในประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติอีกครั้ง แต่ยังคงมีพฤติกรรมหลอกลวงในลักษณะเช่นเดิมอีก ส่วนใหญ่จะเป็นการหลอกระดมเงินทุนมาร่วมลงทุนในธุรกิจรถไฟความเร็วสูง อ้างว่ากำลังจะจัดสร้างขึ้นในประเทศไทย หากใครสามารถระดมคนให้นำเงินมาร่วมลงทุนเพิ่มได้ จะได้รับผลตอบเเทนเป็นเงินจำนวน 5-10 ล้านบาท

ต่อมา เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้สืบทราบเบาะแสสำคัญว่าล่าสุด นายรวีโรจน์ได้นัดหมายกลุ่มอดีตนักการเมืองพรรคดังพรรคหนึ่งมาประชุมหารือ ที่โรงแรมย่านเลียบทางด่วนรามอินทรา พร้อมยังอ้างกับอดีตนักการเมืองกลุ่มนี้ว่า มีเงินฝากอยู่ในบัญชีธนาคารในต่างประเทศจำนวนมาก หากอดีตนักการเมืองกลุ่มนี้ยอมให้ความช่วยเหลือเรื่องคดี ที่ถูกออกหมายจับ จะนำเงินมาช่วยสนับสนุนพรรคในการจัดทำโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเกิดความศรัทธากับพรรคการเมืองดังกล่าวมากขึ้น ถือเป็นการตอกย้ำถึงพฤติกรรมการหลอกลวงแบบเดิมๆ เป็นภัยต่อผู้คนเป็นอย่างมาก จึงเร่งจัดกำลังลงพื้นที่เข้าตรวจสอบ ก่อนนำมาสู่การตามจับกุมตัวนายรวีโรจน์ดังกล่าว ทั้งนี้จากการสอบสวนเจ้าตัวยังให้การปฏิเสธ เจ้าหน้าที่จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป. ดำเนินการตามกฎหมายพร้อมขยายผลหาผู้เกี่ยวข้องต่อไป