"ตำรวจไซเบอร์" เตือน 3 ภัยออนไลน์ ที่มิจฉาชีพใช้ "การเกษียณอายุราชการ" ออกกลอุบายหลอกลวงตุ๋นเหยื่อเอาทรัพย์สิน เผยตั้งแต่ 1 มี.ค. 65-17 ก.ย. 66 หลอกเหยื่อเสียหายรวมกันกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 66 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ตามที่ในช่วงเดือน ก.ย. ของทุกปี จะมีข้าราชการต่างๆ ครบกำหนดอายุการรับราชการ หรือที่เรียกว่าเกษียณอายุราชการนั้น ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มีมิจฉาชีพมักนำมาใช้หลอกลวงประชาชน หรือนำมาแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย โดยจากการตรวจสอบสถิติผ่านระบบศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ที่ผ่านมา พบ 3 เรื่องที่มิจฉาชีพนำมากล่าวอ้าง หรือแอบอ้างในการหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน ดังนี้
1. หลอกลวงให้ร่วมลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยมิจฉาชีพจะสร้างช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แอบอ้างบุคคลหรือบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการลงุทน หลอกลวงผู้เสียหายให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ทองคำ เหรียญดิจิทัล พลังงาน เป็นต้น โดยมีการใช้คำโฆษณาสวยหรู อ้างว่าเป็นการลงทุนของผู้สูงวัยใกล้เกษียณอายุ เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินหลักพันบาท แต่ได้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว
2. หลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์มือถือ โดยมิจฉาชีพจะโทรศัพท์ไปยังผู้เสียหาย ซึ่งเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ หรือกำลังจะเกษียณอายุราชการ แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง แจ้งว่าจะขอทำการตรวจสอบข้อมูลการรับบำนาญให้ทำการลงทะเบียนยืนยันตัวตน หรือแจ้งว่าจะได้รับเงินประกันบำนาญ ให้ทำการอัปเดตข้อมูล จากนั้นหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันกรมบัญชีกลางปลอม "Digital Pension" ผ่านเว็บไซต์ปลอมหรือลิงก์ที่ส่งให้ จากนั้นให้กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน สแกนใบหน้า และให้สิทธิการเข้าถึง และควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ กระทั่งมิจฉาชีพโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย
...
3. หลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) โดยมิจฉาชีพจะสร้างโปรไฟล์สื่อสังคมออนไลน์เป็นชาวต่างชาติ เป็นข้าราชการทหาร หน้าตาดี หลอกลวงผู้เสียหายให้หลงรัก มีความเชื่อใจ อยากมาใช้ชีวิตเกษียณอายุกับผู้เสียหายในประเทศ ต่อมาอ้างว่าจะส่งสิ่งของมาให้ แต่ภายในกล่องเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง หลอกผู้เสียหายให้โอนเงินจ่ายค่าขนส่ง ค่ารับรองต่อต้านการฟอกเงิน ค่าภาษีไปให้กับมิจฉาชีพ
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 65-17 ก.ย. 66 การหลอกลวงให้ร่วมลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 4 จำนวน 26,827 เรื่อง หรือคิดเป็น 8.18% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 14,313 ล้านบาท การหลอกลวงติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบฯ มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 9 มีจำนวน 8,158 เรื่อง หรือคิดเป็น 2.49% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 862 ล้านบาท และการหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 12 มีจำนวน 2,621 เรื่อง หรือคิดเป็น 0.80% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 881 ล้านบาท
บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ส่งข้อความสั้นหรือโทรศัพท์ไปหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง
โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมายังคงพบว่ามีการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง มิจฉาชีพมักจะเปลี่ยนเนื้อเรื่อง เปลี่ยนชื่อหน่วยงานไปตามวันเวลา หรือสถานการณ์ในแต่ละช่วง ไม่ว่าจะเป็นการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ แอบอ้างโครงการของรัฐ การหลอกลวงให้อัปเดตข้อมูลเพื่อยืนยันตัวบุคคล หรือหลอกลวงสร้างสื่อสังคมออนไลน์ ปลอมเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ อาศัยความความโลภ ความไม่รู้ของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง
ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกันการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวดังต่อไปนี้
1. ระมัดระวังการชักชวนจากคนที่เพิ่งรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า หรือเป็นคนต่างชาติหน้าตาดี ที่เข้ามาตีสนิทแล้วชวนให้ลงทุนบนแพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชันต่างประเทศ อ้างว่าลงทุนแล้วได้ผลกำไรสูง การันตีผลกำไรแน่นอน
2. มิจฉาชีพมักอ้างว่ารู้จักผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน โดยบุคคลที่มักนำรูปและชื่อมาแอบอ้างนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียง หรือมีความรู้ด้านการลงทุน พร้อมสร้างเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกลวงเหยื่อ
3. หลีกเลี่ยงการลงทุนหรือข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นไปได้ พึงระลึกไว้เสมอว่า "ไม่มีสิ่งใดได้มาโดยง่าย โดยเฉพาะเรื่องเงิน" และ "การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ"
4. ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ได้ที่ www.sec.or.th/seccheckfirst
5. ระวังการกดลิงก์ที่แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือที่ส่งมาให้ทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือช่องทางที่ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันของหน่วยงานนั้นๆ
6. ระวังการรับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่รู้จัก โดยมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ให้ตรวจสอบก่อนว่ามาจากหน่วยงานนั้นจริงหรือไม่ ผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้นโดยตรง
...
7. การติดตั้งแอปพลิเคชันผ่าน App Store หรือ Play Store จะมีความปลอดภัยมากกว่า แต่จะต้องตรวจสอบว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวเป็นของหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ ป้องกันมิจฉาชีพสร้างแอปพลิเคชันปลอมนั้นขึ้นมา
8. ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลอื่น ไม่กรอก หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวลงบนสื่อสังคมออนไลน์
9. หมั่นติดตามข่าวสารของทางราชการอยู่เสมอ