นานมาแล้วที่ระบบฉีดเชื้อเพลิงถูกนำมาใช้เพื่อปรับปรุงสมรรถนะของอากาศยาน เนื่องจากเครื่องยนต์ของอากาศยาน ต้องทำงานในระดับความสูง ภายใต้สภาวะอากาศที่แปรปรวน ทำให้คาร์บูเรเตอร์ ไม่มีความเหมาะสมที่จะทำงานภายใต้สภาวะการณ์ที่กดดัน การนำระบบฉีดเชื้อเพลิงมาใช้แทนคาร์บูเรเตอร์กลายมาเป็นระบบหัวฉีดเชื้อเพลิงที่มีความแม่นยำและให้กำลังได้ดีกว่า ในปี พศ 2493 ทีมแข่ง Mercedes-Benz ดัดแปลงระบบเชื้อเพลิงใหม่โดยถอดคาร์บูเรเตอร์ออกแล้วแทนที่ด้วยหัวฉีดเชื้อเพลิงแรงดันสูง ผลปรากฏว่ารถแข่ง Mercedes-Benz วิ่งเข้าเส้นชัยคว้าตำแหน่งชนะเลิศเป็นว่าเล่น จากนั้นเป็นต้นมา อุตสาหกรรมยานยนต์มีการปรับปรุงพัฒนาระบบเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง ระบบหัวฉีดในยุคแรกของเครื่องยนต์เบนซินลอกเลียนแบบหัวฉีดเชื้อเพลิงของเครื่องดีเซล คือ มีปั๊มเชื้อเพลิงที่มีวงจรการทำงานเหมือนกับเครื่องยนต์ดีเซลแถวเรียง แตกต่างกันตรงการฉีดเชื้อเพลิงของหัวฉีดไม่ได้ยิงตรงเข้าไปสู่ห้องเผาไหม้ แต่ฉีดเข้าไปที่ท่อร่วมไอดี หรือฉีดเข้าไปในท่อแยกไอดีบริเวณหลังลิ้นไอดี การฉีดเชื้อเพลิงในยุคแรกใช้แรงดันแค่ 4-6 บาร์ บริษัทผู้ที่ทำการคิดค้นระบบหัวฉีดเครื่องยนต์เบนซินเป็นเจ้าแรกๆก็คือ  Robert Bosch GmbH จากเยอรมนี ระบบนี้ถูกนำมาใช้ไม่นานนัก ซึ่งต่อมา Bosch ได้คิดค้นระบบหัวฉีดควบคุมด้วยอีเล็กทรอนิกส์ที่ทำงานได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีทั้งระบบ ดีเจ ทรอนิกส์ ระบบแอลเจ ทรอนิกส์ และระบบเคเจ ทรอนิกส์ .....

...

1- BMW S70/2 V12 NA 
เครื่องยนต์ V12 ขนาด 6.1 ลิตร แบบหายใจเองโดยไม่พึ่งพาเทอร์โบ เป็นขุมกำลังของ McLaren F1 ไฮเปอร์คาร์ในตำนาน เครื่องยนต์รุ่นนี้ ถือเป็นผลงานชิ้นเอกด้านวิศวกรรมของ BMW เครื่องยนต์ S70/2 ให้กำลัง 627 แรงม้าที่ 7,500 รอบต่อนาที ออกแบบอย่างพิถีพิถันโดยเฉพาะในจุดที่มีการเคลื่อนไหว เพื่อมอบประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือ เครื่องยนต์ V12 รุ่นนี้ ยังขึ้นชื่อในเรื่องน้ำหนักที่เบาและความแม่นยำในการทำงาน ทำความเร็วสูงสุด 386 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งกลายเป็นสถิติของรถยนต์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้ระบบดูดอากาศเข้าแบบ NA ที่ยืนหยัดมาหลายทศวรรษ
ทุกรายละเอียดของเครื่องยนต์ S70/2 สะท้อนให้เห็นถึงการแสวงหาความสมบูรณ์แบบ กลายเป็นอัญมณีแห่งประวัติศาสตร์ยานยนต์และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ McLaren F1 ได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ไปโดยปริยาย

...

2- Ford-Cosworth DFV (Double Four Valve)
เครื่องยนต์ Ford-Cosworth DFV (Double Four Valve) เปิดตัวในปี 1967 ถือเป็นเครื่องยนต์ฟอร์มูล่าวันที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์การแข่งขันความเร็วทางเรียบ จนถึงปี 1981 เครื่องยนต์นี้ยังคงเป็นกำลังสำคัญในกีฬาท้าความเร็วระดับโลก Ford-Cosworth DFV (Double Four Valve) เป็นที่รู้จักในเรื่องความน่าเชื่อถือ ประสิทธิภาพ และการออกแบบที่ค่อนข้างเบาแต่มีความซับซ้อน DFV เป็นเครื่องยนต์เบนซิน V8 ความจุ 3.0 ลิตร ให้กำลังประมาณ 480 แรงม้า ที่ 10,500 รอบต่อนาที ทำให้เครื่องยนต์รุ่นนี้เป็นที่นิยมในทีมแข่ง เนื่องจากมีการกำลังส่งกำลังที่ดีเยี่ยม มีความเสถียรและเป็นเลิศทางวิศวกรรม  DFV ขับเคลื่อนรถแข่งที่สามารถคว้าชัยชนะในการแข่งขันในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ถึง 1970 และต้นทศวรรษ 1980 ทีมอย่าง Lotus, Tyrrell และ Williams ใช้เครื่องยนต์รุ่นนี้จนประสบความสำเร็จ ในประวัติศาสตร์ฟอร์มูล่าวัน DFV กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จทางวิศวกรรม

...

3-Honda Civic Type R K20C1 
รถแฮทช์แบ็กสมรรถนะสูงที่สืบทอดตำนานของ Type R อันโด่งดัง มอบประสบการณ์การขับขี่ที่น่าตื่นเต้น ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย Type R 2024 ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เบนซินแถวเรียง 2.0 ลิตร เทอร์โบ รหัส K20 C1 เป็นเครื่องยนต์ของ Type R SK8 พัฒนาเพื่อเพิ่มกำลังขึ้นมาอีก 9 แรงม้า กำลังสูงสุด 320 แรงม้า ที่ 6500 รอบต่อนาที เทอร์โบมีประสิทธิภาพมากขึ้นสามเปอร์เซ็นต์ ด้วยการลดจำนวนใบพัดเทอร์ไบน์ ปรับรูปร่างส่วนที่เหลือใหม่หมด แรงบิดอยู่ที่ 420 นิวตันเมตร ในย่าน 2,600-4,000 รอบต่อนาที ไม่ใช่เครื่องยนต์จอมปั่นรอบที่หมุนได้อย่างเร็วจี๋ หรือได้รับการปรับแต่งมาดีที่สุด แต่ความสามารถในการขับ แรงดึงกระชากลากถู การพุ่งทะยาน และแรงยึดเกาะของ Type R ใหม่นั้นก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ในทุกช่วงรอบเครื่องยนต์ เป็นขุมพลังที่ยอดเยี่ยมสำหรับการใช้งาน ผ่านหนึ่งในกระปุกเกียร์แมนนวลธรรมดาสามัญที่ยอดเยี่ยมตลอดกาล K20 C1 ให้กำลัง 320 แรงม้า เกียร์ธรรมดา 6 สปีด ทำให้ Civic Type R เร่งความเร็วจาก 0 ถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในเวลาประมาณ 5 วินาที รักษาประสบการณ์การขับขี่ที่แม่นยำและน่าดึงดูดในรถตระกูล Type R รถรุ่นนี้มีระบบกันสะเทือนที่ปรับแต่งมาอย่างดี ขับเคลื่อนล้อหน้า และการออกแบบที่ดุดัน ทำให้เป็นรถแฮทช์แบ็กสมรรถนะสูงที่ขับสนุกที่สุดรุ่นหนึ่งในปัจจุบัน โดยเน้นที่สมรรถนะที่พร้อมสำหรับการแข่งขันและการใช้งานในชีวิตประจำวัน

...

4-Ferrari F136 V8
เครื่องยนต์ F136 ซึ่งรู้จักกันในชื่อเครื่องยนต์ Ferrari-Maserati ปรากฏตัวครั้งแรกภายใต้ฝากระโปรงของ Maserati Coupé รุ่นปี 2001 เครื่องยนต์นี้เปิดตัวครั้งแรกใน F430 สำหรับม้าลำพองในปี 2004 แต่ยังปรากฏใน Alfa Romeo 8C, Maserati Quattroporte, Ferrari California และ Maserati Gran Turismo รวมถึงรถยนต์รุ่นอื่นๆ อีกเพียบ เครื่องยนต์รุ่นนี้ได้ก้าวถึงจุดสูงสุดด้วย Ferrari 458 Speciale ที่สร้างความตื่นเต้นเร้าใจ โดยผลิตกำลังได้ 597 แรงม้าจากเครื่องยนต์ขนาด 4.5 ลิตร พร้อมรอบเครื่องที่ 9,000 รอบต่อนาทีอันน่าตื่นตา เครื่องยนต์ F136 ได้รับการพัฒนาจากความรู้ความชำนาญด้าน Formula 1 ของ Scuderia โดยผลิตในโรงงานเดียวกับที่ใช้ผลิตเครื่องยนต์ Grand Prix ของแบรนด์ และใช้ในรถแข่งมากมายหลายรุ่น เช่น GT3, GT2, A1GP และ Ferrari Challenge กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเป็นสัญญาณการสิ้นสุดของเครื่องยนต์ที่ยอดเยี่ยมรุ่นนี้ หลังจากได้รับรางวัลเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมระดับนานาชาติถึง 8 รางวัลตลอดระยะเวลาการผลิต 18 ปี นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ Maserati GranCabrio รุ่นปี 2019 เป็นรุ่นสุดท้ายที่ประจำการด้วยเครื่องยนต์ V8 F136 เช่นเดียวกับ Maserati Coupé รุ่นแรก

5-Alfa Romeo Twin-Cam สี่สูบแถวเรียง
Alfa Romeo Twin-Cam ถือเป็นต้นแบบของเครื่องยนต์ 4 สูบแบบดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมที่พบในรถยนต์สมัยใหม่หลากหลายรุ่น โดยได้รับการออกแบบโดย Giuseppe Busso เครื่องยนต์ Twin-Cam ขั้นสูงนี้เปิดตัวครั้งแรกภายใต้ตัวถังอันสวยงามของ Giulietta ปี 1954 ในรูปแบบเครื่องยนต์ 1.3 ลิตร เครื่องยนต์อัลลอยด์ทั้งหมดแบบดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมพร้อมห้องเผาไหม้ทรงครึ่งทรงกลมแทบจะไม่มีให้เห็นในรถยนต์ที่ผลิตขึ้นในเวลานั้น การมองการณ์ไกลของ Alfa Romeo ทำให้ Twin-Cam มีการผลิตต่อเนื่องยาวนานถึง 40 ปี โดยปรากฏตัวครั้งสุดท้ายในรุ่น 155 saloon ปี 1994 โดยปรากฏตัวในรุ่นที่ได้รับความนับถือมากที่สุดบางรุ่นของแบรนด์ในช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึง Giulia GTA, Duetto Spider และ 75 Evoluzione

6-Ferrari F40 
ภายใต้เส้นสายอันเป็นเอกลักษณ์ของ Ferrari F40 ซ่อนจิตวิญญาณที่แท้จริงของมันเอาไว้ นั่นก็คือเครื่องยนต์ V8 เทอร์โบคู่ที่ส่งกำลังแรงม้า 478 แรงม้า เครื่องยนต์นี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อความเร็วและความแม่นยำ โดยถือเป็นจุดสุดยอดของวิศวกรรมของ Ferrari ในช่วงทศวรรษ 1980 ผลักดันให้ F40 ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 323 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องยนต์ F40 ผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างศิลปะอิตาลีและประสิทธิภาพที่ล้ำสมัย ไม่ใช่แค่เครื่องยนต์ แต่เป็นชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์ยานยนต์ คุณกล้าที่จะปลดปล่อยพลังอันมหาศาลของมันหรือไม่ เครื่องยนต์เบนซิน V8 90 องศา เทอร์โบชาร์จ IHI + อินเตอร์คูลเลอร์ ความจุ 2,936 ซีซี (2.9 ลิตร 179.2 ลูกบาศก์นิ้ว) เป็นหัวใจของ Ferrari 288 GTO ที่ถูกนำมาขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น ปรับรอบการทำงานให้จัดจ้านกว่าเดิม สร้างกำลังสูงสุด 478 PS (471 แรงม้า 352 กิโลวัตต์) ที่ 7,000 รอบต่อนาที แรงบิด 577 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที อัตราทดเกียร์ กราฟแรงบิด และกำลังที่ส่งออกมา มีความแตกต่างกันไปในแต่ละคัน F40 ไม่มีตัวกรองไอเสีย จนถึงปี 1990 เมื่อกฎระเบียบด้านมลพิษของสหรัฐอเมริกา กำหนดให้ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาในท่อหรือแคทฯ เพื่อกรองไอเสีย ทำหน้าที่นำก๊าซไอเสียออกจากกระบอกสูบแต่ละชุด ในขณะที่ท่อตรงกลางทำหน้าที่นำก๊าซที่ปล่อยออกมาจากเวสต์เกตของเทอร์โบชาร์จเจอร์ เครื่องยนต์ V8 เทอร์โบคู่ของ F40 เป็นเครื่องยนต์อัดอากาศรุ่นสุดท้ายของ Ferrari จน Ferrari California T ออกขายในปี 2014

7- Martini Brabham BT44B
BT44B รถแข่งฟอร์มูลาวันที่ใช้แข่งขันในฤดูกาลปี 1975 โดยมีนักขับชื่อดังอย่าง Carlos Reutemann และ Carlos Pace เป็นผู้ขับ รถแข่งคันนี้ ได้รับการออกแบบโดย Gordon Murray มีตัวถังทรงลิ่มเพรียวบาง เพื่อให้มีอากาศพลศาสตร์ที่เหมาะสมมากที่สุด ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ Ford Cosworth DFV V8 ในตำนาน ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่ทรงพลังและถูกนำมาใช้ในรถแข่งฟอร์มูลาวันของยุคนั้น รถ BT44B เครื่องยนต์ Ford DFV เต็มไปด้วยรายละเอียดอย่างพิถีพิถันจากการจัดวางสายไฟ ระบบไอเสีย และรายละเอียดของระบบระบายความร้อน BT44B ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดย Carlos Pace คว้าชัยชนะในการแข่งขัน Brazilian Grand Prix ปี 1975 ช่วยให้ทีม Brabham จบการแข่งขันในอันดับที่สองในรายการ Constructors' Championship ในปี 1975 การออกแบบลายรถ Martini Racing ช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้กับรถแข่งรุ่นนี้ และกลายเป็นหนึ่งในดีไซน์ที่น่าจดจำที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการ F1

8- Mazda R26B 4Roter
เครื่องยนต์สูบหมุนหรือเครื่องยนต์โรตารีแบบ 4 โรเตอร์ของ Mazda เมื่อ 29 ปีที่ผ่านมา สร้างปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในวงการมอเตอร์สปอร์ตโลก ด้วยรถ Mazda 787B วางเครื่องยนต์โรตารี 4 โรเตอร์ อัดอากาศด้วยเทอร์โบ อนุพันธ์จักรกลรถแข่งเอนดูแรนซ์สมรรถนะสูงรุ่น 787B เป็นรถแข่งในประเภทกรุ๊ป C ถูกสร้างขึ้นโดยทีมแข่งของ Mazda สำหรับใช้ในการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบระยะไกล ในรายการสปอร์ตเวิลด์แชมเปียนชิพของประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นรถแข่งคันนี้ได้ถูกปรับแต่งอย่างดี และส่งลงทำการแข่งขันในรายการแข่งรถแบบ 24 ชั่วโมง หรือ Le Mans ประจำฤดูกาล 1990-1991 รถแข่ง Mazda 787B ซึ่งมีน้ำหนักรวมทั้งคันแค่ 850 กิโลกรัม เครื่องยนต์โรตารี ให้กำลังถึง 700 แรงม้า ในช่วงแรกๆ ของการสร้างรถแข่งเลอมังค์ Group C Mazda ใช้เครื่องยนต์โรตารี 13B แบบเดียวกับที่ใช้ขับเคลื่อนรถ Mazda บางรุ่นที่วิ่งบนท้องถนนกับรถแข่ง GT แต่การขยายขีดความสามารถ และแก้ไขข้อบกพร่องตลอดช่วงที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมา หมายความว่าเมื่อ ถึงเวลาที่ 787B วิ่งแข่งอยู่ในสนาม Circuit de la Sarthe เครื่องยนต์ของมันคือสิ่งมหัศจรรย์ทางเทคโนโลยี โรเตอร์สี่ตัว แต่ละตัว มีหัวเทียนสามหัว พอร์ตไอดีที่ผ่านการปรับแต่งอย่างถูกต้อง อุปกรณ์ต่อพ่วงพวกระบบอัดอากาศ ซีลปลายแบบเซรามิก ท่อไอดีสามารถยืดหรือสไลด์แบบผันแปรได้อย่างต่อเนื่อง โดยเลื่อนจากยาวไปสั้น และย้อนกลับอย่างราบรื่น เพื่อให้มั่นใจถึงแรงบิดช่วงกลางต่อเนื่องไปจนถึงรอบสูงสุด ไม่ใช่คุณภาพโดยทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์โรตารี รวมถึงกำลังสูงสุด จุดเด่นของเครื่องยนต์ตัวนี้ก็คือ การหมุนในรอบสูงเพื่อสร้างแรงบิด โดยไม่คำนึงถึงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงหรือการปล่อยมลพิษ และนั่นคือส่วนสำคัญของชัยชนะในรถแข่ง 787B

หลังจากการเปิดตัวที่น่าผิดหวังของรถแข่ง Mazda 787 ในปี 1990 Mazda กลับมาทำการบ้านใหม่หมดเกี่ยวกับระบบส่งกำลัง รวมถึงการปรับแต่งใหม่ทั่วทั้งคัน นั่นคือสิ่งสำคัญที่ต้องได้รับการปรับปรุงสำหรับ 787B ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ซึ่งสรุปได้ว่า สิ่งที่นักแข่งในทีมต้องการ จากรถที่พวกเขากำลังขับด้วยความเร็วสูงบนสนามแข่ง ก็คือ ความน่าเชื่อถือ, ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง, ความเหมาะสมกับวงจรของการแข่งขัน, อัตราเร่ง, ความเร็วในการเข้าโค้ง, ความสะดวกสบายของคนขับและอื่นๆ ละแล้ว เมื่อรวบรวมข้อมูลทุกอย่างจนครบ วิศวกรของ Mazda ก็ลงมือทำ 

หัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Mazda ต้องการแรงม้าอีก 100 แรงม้าจาก 630 แรงม้า ในรุ่น 787 รวมถึงต้องการลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง อีก 10 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ เพื่อยืดระยะเวลาในการเข้ามาเติมเชื้อเพลิง ต้องขอบคุณการยกเครื่องครั้งใหญ่ ซึ่งมีการปรับปรุงมากกว่า 80 รายการ รวมถึงท่อไอดีแบบยืดหดได้ และหัวเทียนสามหัวต่อโรเตอร์ วิศวกรของ Mazda จัดการกับเครื่องยนต์จนได้แรงม้าเพิ่มเข้ามาอีก 70bhp เป็นการปรับแต่งเพื่อความทนทานสำหรับการแข่งขันระยะไกล (เครื่อง 4 โรเตอร์ตัวนี้ สามารถดันม้าได้ถึง 900 ตัว หากปรับแต่งอย่างถูกต้อง) เครื่องยนต์โรตารีรุ่นนี้ สามารถหมุนได้ 6,000 รอบต่อนาที ไปจนถึง 9,000 รอบต่อนาที ซึ่งหมายถึงแรงบิดสูงสุดอย่างน้อย 95 เปอร์เซ็นต์ จะเกิดขึ้นในรอบสูงสุด นั่นหมายความว่า เครื่องยนต์ของรถแข่ง 787B จะสามารถทนอยู่ได้ตลอดทั้งการแข่งขันนาน 1 วันเต็มๆ

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการแข่งขันที่เต็มไปด้วยค่าใช้จ่าย หมายความว่านักแข่งต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจและวุฒิภาวะอย่างมาก ในโค้งความเร็วต่ำ พวกเขาต้องเหยียบคันเร่งอย่างนุ่มนวล เพื่อประหยัด!! เครื่องยนต์ R26B มีเสียงครวญครางในรอบสูงและพุ่งทะยานพร้อมเสียงทุ้มต่ำเหมือนจักรยานยนต์ในรายการ MotoGP หรือเสียงท่อท้ายของรถแข่ง F1 ที่ใช้เครื่องยนต์ V12 เป็นเสียงที่ใช้คำอธิบายได้ดีที่สุดว่า เสียงของปีศาจที่แผดร้อง เป็นเสียงที่ทำให้ 787B กลายเป็นที่รักของผู้ชมในสนามแข่ง

9- Aston Martin Valkyrie RA V12 Cosworth
เมื่อพูดถึงเครื่องยนต์ V12 รอบจัดจ้าน สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจหลงลืมก็คือ สำนัก Cosworth สร้างเครื่องยนต์V12 ได้เหนือชั้นกว่าแบรนด์รถชั้นนำของโลก ไม่น่าแปลกใจที่เครื่องยนต์ RA V12 พัฒนาโดย Cosworth ถูกยกไปประจำการอยู่ในปีศาจไฮเปอร์คาร์ Aston Martin Valkyrie รวมถึง Niki T50 เครื่องยนต์ V12 ความจุ 6.5 ลิตร กำลังสูงสุด 1000 แรงม้า ที่ 10500 รอบต่อนาที แรงบิด 740 นิวตันเมตร ที่ 7,000 รอบต่อนาที เครื่องยนต์ตัวนี้เสริมประสิทธิภาพสูงสุดด้วยระบบไฮบริดจาก Rimac มีกำลังเพิ่มขึ้นอีก 160 แรงม้า แรงบิดเพิ่มอีก 280 นิวตันเมตร ทำให้ Valkyrie เป็นรถไฮเปอร์คาร์ที่เร้าใจสุดๆ ผสมผสานกับเสียงร้องครางโหยหวยของกระบอกสูบและลูกสูบทั้ง 12 ตำแหน่ง เมื่อนำมาผสมผสานกับแชสซีส์ที่ออกแบบโดย Adrian Newey (ซึ่งวิศวกรของ Aston บอกว่าใกล้เคียงกับรถ F1 มากกว่ารถวิ่งบนท้องถนนรุ่นอื่น) ทำให้ Aston Martin Valkyrie เครื่องยนต์ RA V12 Cosworth  กลายเป็นไฮเปอร์คาร์จอมทำลายล้างที่ไม่น่าจะถูกกฎหมายสำหรับใช้งานปกติทั่วไปบนถนน เสียงคำรามของเครื่อง RA V12 โจมตีประสาทสัมผัสจนหูแทบแตก นับเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ V12 ที่ดีที่สุดเท่าที่มีมาบนโลกใบนี้เลยทีเดียว

10- GMA T.50s Niki Lauda!
สำหรับ T50s เป็นรถที่เบามา มีน้ำหนักทั้งคันเพียง 852 กิโลกรัม และขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ที่ผ่านการปรับแต่งจาก Cosworth สำนัก Gordon Murray Automotive วิจัยและพัฒนาขุมกำลังที่มีแรงบิดมหาศาลโดยไม่พึ่งพาระบบอัดอากาศ เครื่องยนต์เบนซิน V12 ความจุ 3.9 ลิตร ที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าเครื่องยนต์ BMW V12 แบบไม่มีระบบอัดอากาศที่วางอยู่ใน McLaren F1 มีกำลัง 541 กิโลวัตต์ หรือ 735 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 485 นิวตันเมตร พลังงานในรูปของแรงฉุดลากสูงสุดจากเครื่องยนต์ตัวใหม่ ดูเหมือนจะไม่ได้รุนแรงอะไรเมื่อดูจากตัวเลขของแรงบิด แต่อย่าลืมว่า T50s หนักแค่ 852 กิโลกรัม อัตราส่วนแรงม้า ต่อน้ำหนักของรถจึงทำได้เหนือกว่ารถซุปเปอร์คาร์ทั่วไป เครื่องยนต์ V12 ไม่มีเทอร์โบ ถูกปรับแต่งจนสามารถหมุนได้เร็วจี๋พอๆ กับจักรยานยนต์ซุปเปอร์ไบค์ใน Moto GP ถึง 12,100 รอบต่อนาที เครื่องยนต์วางกลางลำ ขับเคลื่อนล้อหลัง จับคู่ต่อเชื่อมกับกับเกียร์ Xtrac paddle-shift 6 สปีด เครื่องยนต์ V12 ที่มีสูบมากถึง 12 ตำแหน่ง ถูกป้อนอากาศด้วยช่องอากาศเหนี่ยวนำ RAM ประสิทธิภาพสูง ซึ่งติดตั้งอยู่บนหลังคา ชุดท่อระบายไอเสียที่เน้นความเบาเป็นพิเศษ ท่อของ T50s ผลิตจากแมคนีเซียมอัลลอย ช่วยลดน้ำหนักในจุดนี้ลงไปได้อีก 15 กิโลกรัม