“สมคิด” ชูความเป็นปึกแผ่นของซีแอลเอ็มวีที ให้ลืมความขัดแย้งและเป็นคู่แข่ง พร้อมวางแผนแม่บทของภูมิภาคร่วมกัน สร้างอำนาจต่อรองกับประเทศมหาอำนาจ กำหนดราคาข้าว สร้างสกุลเงิน เชื่อมนโยบาย “วันเบลท์ วันโรด” ของจีน เดินหน้าสู่ความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ซีแอลเอ็มวีที พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของเอเชีย” ว่ากลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่น โดยมีแผนแม่บทร่วมกันของภูมิภาค แล้วเดินตามแผนร่วมกัน เพื่อให้เศรษฐกิจเดินไปข้างหน้า และต้องลืมความขัดแย้งในอดีต รวมถึงความไม่ไว้วางใจระหว่างกัน ความคิดในการแข่งขันหรือเป็นคู่แข่งกัน แล้วมองอนาคตร่วมกัน ไว้เนื้อเชื่อใจกัน เดินไปข้างหน้าด้วยกัน เพราะเมื่อซีแอลเอ็มวีที มีความแข็งแรง การส่งออก เศรษฐกิจภายในประเทศ การท่องเที่ยว การเมือง และอำนาจต่อรองของภูมิภาค จะมีเพิ่มขึ้นและแข็งแรงขึ้น เมื่อซีแอลเอ็มวีทีแข็งแรงก็จะเป็นกาวใจให้อาเซียนเชื่อมโยงกับจีน เป็นไปตามนโยบาย “วันเบลท์ วันโรด” และเชื่อมโยงกับอินเดียผ่านทางพม่า รวมถึงการเชื่อมโยงกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นด้วย

“จีนกำลังเชิญให้รัฐมนตรีของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มซีแอลเอ็มวีทีไปประชุม “วันเบลท์ วันโรด” ในเดือน พ.ค.นี้ โดยมีทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงคมนาคม เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายในการพัฒนาร่วมกัน”

นายสมคิดกล่าวว่า ความเป็นปึกแผ่นของภูมิภาคซีแอลเอ็มวีที จะช่วยให้มีอำนาจในการต่อรองกับประเทศมหาอำนาจ ซึ่งในอนาคตถ้าประเทศในภูมิภาคไม่มีการพัฒนาเรื่องดิจิทัล และการทำงานที่ใช้ความรู้ คนในประเทศจะยิ่งจนลงเรื่อยๆ ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือจากประเทศมหาอำนาจ เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ควรช่วยเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านต่างๆ ไม่ใช่แค่สร้างทักษะฝีมือแรงงานเท่านั้น “ในอนาคตชาวนากัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนมา และไทย ต้องการทำการค้าขายผ่านอินเตอร์เน็ต หากยังใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น จะอยู่ได้อย่างไร และหากเราเป็นปึกแผ่น เราสามารถกำหนดว่า ต้องการอะไรในการประชุมระหว่างประเทศ ไม่ใช่ ไปวิ่งตามประเทศมหาอำนาจ”

...

ทั้งนี้ ปัจจุบันการค้าชายแดนมีความสำคัญด้วย โดยไทยมีชายแดนติดกับประเทศเมียนมายาวมาก แต่คนเมียนมายังยากจนอยู่ และสิ่งที่จะทำให้คนเมียนมามีรายได้สูงขึ้น คือ การค้าขายชายแดน และการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษเข้าด้วยกัน การทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวร่วมกัน ประชาชนของทั้งสองประเทศจะมีรายได้ดีขึ้น รวมทั้งการค้าชายแดนทั้งกับลาวและกัมพูชา อย่ามัวแต่คิดว่าใครจะได้เปรียบ อุปสรรคต่างๆ ต้องปรับแก้ให้เอื้อต่อกัน เช่น การขนถ่ายสินค้า ระหว่างกัน การใช้แรงงานเพื่อนบ้าน การใช้เงินสกุลร่วมกันในอนาคต เป็นต้น

นายสมคิดกล่าวว่า ในอนาคตต้องเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ร่วมกันระหว่างกลุ่มประเทศ และการประชุมร่วมกันระหว่างประเทศ ควรมีเรื่องยุทธศาสตร์เศรษฐกิจร่วมกัน เช่น ถ้าต้องการนักท่องเที่ยว ก็ให้ทำเป็นแพ็กเกจแหล่งท่องเที่ยวร่วมกัน นักท่องเที่ยวมา 5-6 วัน สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้หลายประเทศ เป็นต้น เป็นหุ้นส่วนในเชิงการท่องเที่ยวร่วมกัน รวมถึงการเป็นหุ้นส่วนสร้างให้สินค้าเกษตรมีราคาร่วมกันได้ ทั้งที่ประเทศในภูมิภาคซีแอลเอ็มวีที เป็นกลุ่มประเทศที่ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก แต่ชาวนาในแต่ละประเทศยังมีความยากลำบากอยู่ ซึ่งต่อไปต้องวางยุทธศาสตร์ราคาสินค้าเกษตรร่วมกันด้วย เพื่อกำหนดราคาเอง รวมถึงการเชื่อมโยงเรื่องถนน สนามบิน และการพัฒนาระบบดิจิทัล

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เกิดขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงให้ซีแอลเอ็มวีทีเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว เพราะจะช่วยให้ทุกประเทศที่มีท่าเรืออยู่เป็นท่าเรือแห่งการขนถ่ายสินค้า อีอีซีจะช่วยให้เกิดการเกื้อกูลเชื่อมโยงท่าเรือของประเทศในภูมิภาค ประเด็นเหล่านี้จะต้องมีการหารือกันในการประชุมระดับภูมิภาค เช่น อาเซียนซัมมิท เพื่อให้เกิดการวางยุทธศาสตร์ร่วมกันในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการเมืองระหว่างประเทศในอนาคตข้างหน้า ไม่ใช่แค่การไปโรดโชว์ หรือทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เท่านั้น “ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวีที เติบโต 6-8% ถือว่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประชากรรวมแล้ว 230 ล้านคน และชนชั้นกลางกำลังเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จึงมีนัยสำคัญเชิงเศรษฐกิจสูงมาก และช่วงนี้เป็นช่วงที่ถูกจังหวะเวลามากสำหรับความร่วมมือในภูมิภาค”.