เทเลนอร์ เอเชีย กลุ่มบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำระดับโลกจากนอร์เวย์ เจ้าของเดิม DTAC เปิดรายงาน “Digital Lives Decoded 2024 ของประเทศไทย" ฉบับล่าสุดที่ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีมือถือและการหล่อหลอมวิถีชีวิตคนไทยในช่วงปีที่ผ่านมา
มานิช่า โดกรา รองประธานอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กรและความยั่งยืนของเทเลนอร์ เอเชีย เปิดเผยว่า ชีวิตคนไทยขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล เป็นตลาดอันดับต้น ๆ ที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยใช้เวลาออนไลน์เกือบ 5 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 4 ชั่วโมง 35 นาที โดยใช้ ‘อุปกรณ์มือถือหรือสมาร์ทโฟน’ เป็นเครื่องมือหลักในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 99% ขณะที่ประเทศอื่นอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ที่เข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและแล็ปท็อป
โดยพบว่ากลุ่มอายุที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มากที่สุดนอกจากผู้ใช้ Gen Z (5 ชั่วโมง 42 นาที) Gen X (4 ชั่วโมง 28 นาที) และ Millennials (5 ชั่วโมง 13 นาที) ที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตในระดับสูงอยู่แล้วนั้น กลุ่มผู้ใช้รุ่น Baby Boomer ที่มีอายุ 61-64 ปียังใช้เวลากับอุปกรณ์มือถือเฉลี่ยสูงถึงวันละ 4 ชั่วโมง ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าประเทศอื่นอีกด้วย
นอกจากนี้รูปแบบการใช้งานของคนไทยมีความแตกต่างกับประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับคนไทยโทรศัพท์มือถือไม่ได้เป็นแค่อุปกรณ์สื่อสารแต่เป็นประตูสู่การเปลี่ยนผ่านสู่วิถีชีวิตแบบดิจิทัล ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในตลาดมือถือเป็นอย่างมากในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยผู้ใช้ชาวไทยเกือบ 70% มักจะใช้โทรศัพท์มือถือในการเชื่อมต่อโลกโซเชียล กว่า 64% ใช้เพื่อเข้าถึงความบันเทิง รวมถึงการหาข้อมูลเพื่อการศึกษาและการทำงาน และมากไปกว่านั้นยังว่า 60% ใช้เพื่อการเข้าถึงธุรกรรมทางการเงิน
สิ่งที่น่าสนใจจากรายงานได้เปิดเผยถึงสิ่งที่เรียกว่า "ความย้อนแย้งในด้านความเป็นส่วนตัว" หรือ "ภาวะ Privacy Paradox" ที่พบว่าผู้คนให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายบนโลกออนไลน์มากกว่าเรื่องความเป็นส่วนตัว
“เมื่อถามผู้ใช้ว่าพวกเขากังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ เกี่ยวกับการหลอกลวงทางออนไลน์หรือการขโมยตัวตนบนโลกออนไลน์หรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถามหนึ่งในสองคนตอบว่าใช่ อย่างไรก็ตามเราพบว่า การตระหนักถึงการละเมิดข้อมูลและปัญหาทางไซเบอร์ทั่วไปอื่นๆ ยังไม่สูงมากนัก พวกเขากังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงและตระหนักดีว่าความเสี่ยงเหล่านั้นคืออะไรและจะป้องกันตัวเองได้อย่างไร แต่พวกเขามักจะไว้วางใจผู้ให้บริการมากกว่า” มานิช่า กล่าว
รายงานระบุว่า คนไทยตระหนักดีถึงการหลอกลวงทางการเงินและการขโมยข้อมูลส่วนตัว ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้นๆ ในประเทศไทย อย่างไรก็ตามผู้ใช้ชาวไทยมีแนวโน้มน้อยที่สุดที่จะกังวลเกี่ยวกับวิธีการของบริษัทต่างๆ ในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของตนเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้
ผู้ใช้ชาวไทยกว่า 75% กังวลเรื่องข้อมูลหลุดหรือการถูกหลอกเอาข้อมูล โดยระบุว่าพวกเขารู้สึกขาดการควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 68% และไม่ได้ตระหนักถึงการใช้เครื่องมือป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัวมากนัก เช่น VPN หรือตัวบล็อกโฆษณา หรือตัวเลือกหยุดการติดตามแอปหรือแชร์ข้อมูลส่วนบุคคล เพราะยังคำนึงถึงความต้องการในการเข้าถึงข้อมูลหรือข้อเสนอที่ปรับแต่งสำหรับบุคคลได้อย่างสะดวกมากกว่า
อัตราของประชากรไทยเชื่อใจเว็บไซต์ที่ตนใช้งานในแง่ของการที่เว็บไซต์เหล่านั้นจะสามารถปกป้องความเป็นส่วนตัวของพวกเขาได้ (โดยมีมากถึงกว่า 38% เทียบกับเพียง 21% ในประเทศสิงคโปร์) และมีแนวโน้มที่จะอนุญาตให้บริษัทเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเขาเพื่อแลกกับข้อเสนอและบริการส่วนบุคคล (6 ใน 10 เทียบกับประเทศมาเลเซีย และ 5 ใน 10 เทียบกับประเทศสิงคโปร์) ผลสำรวจแสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้งในด้านของความเป็นส่วนตัวที่แม้จะรู้ว่ามีความเสี่ยงแต่ยอมที่จะละทิ้งความเป็นส่วนตัวบางส่วนเพื่อการใช้งานที่ราบรื่น
เมื่อถามถึงข้อกังวลและมาตรการป้องกันสำหรับผู้ใช้ท่ามกลางตัวเลขการใช้งานที่สูงสุดในอาเซียน มานิช่า กล่าวว่า ปัจจุบัน เทเลนอร์ เอเชีย เป็นเจ้าของร่วมใน ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมและเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศไทย เราจับตาปัญหาเรื่องภัยคุกคามทางไซเบอร์ การแจ้งเตือนการฉ้อโกง และการหลอกลวงบนโลกออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้ข้อมูลตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยออนไลน์ของผู้ใช้งาน รวมถึงการแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการร่วมกับพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อีกทั้งยังมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยเพื่อจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์มาโดยตลอด โดยในปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการตรวจจับ Scam Call บนเครือข่ายและได้ทำการบล็อกบัญชีน่าสงสัยไปกว่า 250 ล้านสาย
“หน้าที่สำคัญของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนควรที่จะเพิ่มความตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัยด้านความเป็นส่วนตัวและผลกระทบของการไม่ป้องกันตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ใช้งานทุกระดับ เพราะปัญหาดังกล่าวเกิดกับผู้ใช้งานทุกช่วงวัย ไม่เกี่ยวกับใช้มากหรือใช้น้อย” มานิช่า กล่าวทิ้งท้าย
รายงาน "Digital Lives Decoded" จัดทำขึ้นเจาะลึกปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่แสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์มือถือช่วยให้ผู้คนใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลได้ดีขึ้นได้อย่างไร โดย Telenor Asia ได้มอบหมายให้ GlobalWebIndex (GWI) บริษัทที่ดำเนินงานวิจัยด้านผู้บริโภคระดับโลก ดำเนินการในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม พ.ศ. 2567 สัมภาษณ์ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 1,002 คนในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากการวิจัยตลาดอย่างต่อเนื่องของ GWI ในสิงคโปร์และทั่วโลกรวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย พม่า อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม โดยผู้ตอบแบบสำรวจไม่ได้มีการเปิดเผยชื่อ และไม่ได้เปิดเผยถึงการมีส่วนร่วมของ Telenor ในการศึกษาครั้งนี้
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ www.telenorasia.com/digitallivesdecoded
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -