เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยกับสำนักข่าว Bloomberg ถึงแผนการลงทุนในประเทศไทยของ Nvidia ที่เตรียมประกาศแผนการลงทุนในเดือนธันวาคมนี้ พร้อมระบุเพิ่มเติมถึงการเดินทางมาเยือนกรุงเทพฯ ด้วยตัวเองของ นายเจนเซ่น หวง อีกด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดการลงทุนที่ชัดเจนถึงตัวเลขและรายละเอียด
ก่อนหน้านี้ ไทย นับเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เข้าร่วมโครงการ “AI Nations” ของ NVIDIA โดยมีกระทรวงศึกษาธิการและกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำมาร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในด้านการวางผังเมือง สาธารณสุข และยานยนต์ไร้คนขับ
โดยข้อมูล ณ ปัจจุบันระบุว่า ความร่วมมือด้าน AI ของไทยกับ Nvidia เน้นไปที่การส่งเสริมการใช้งาน GPU สำหรับ AI และแอปพลิเคชันซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ผ่านการร่วมมือกับรัฐบาล สถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาชั้นนำเพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยด้าน AI - Machine Learning สำหรับพัฒนางานในด้านต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ เกษตรกรรมอัจฉริยะ ตามเป้าหมายเศรษฐกิจดิจิทัล
เมื่อพิจารณาถึงวิสัยทัศน์และแผนลงทุนที่ผ่านมาของ Nvidia ในประเทศอื่นๆ จะเน้นไปที่การสร้างความร่วมมือระดับรัฐเพื่อผลักดันการใช้งานเทคโนโลยี เช่น การจัดตั้งศูนย์อบรมสร้างกลุ่มบุคลากรให้มีความสามารถผ่านโปรแกรมการฝึกอบรมและความร่วมมือกับรัฐบาลและสถาบันการศึกษา การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเพื่อขยายผลการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีในประเทศนั้นๆ รวมถึงการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในประเทศที่มีดีมานด์เติบโตสูง ไม่ต่างจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่รายอื่น ๆ โดย Thairath Money รวบรวมไว้ดังนี้
สำหรับในภูมิภาคอาเซียนจะเห็นว่า Nvidia ต่อยอดความร่วมมือร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจและการปูทางงานวิจัยและพัฒนาในการศึกษาความเป็นไปได้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในภาคส่วนต่างๆ มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง สู่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีเพื่อใช้งานจริงในยุค AI ไม่ว่าจะเป็นเซิร์ฟเวอร์ ชิป สถานที่ให้พลังงาน ระบบการจัดการเพื่อการประมวลของข้อมูลขนาดใหญ่และซับซ้อน หรือที่ในปัจจุบันมักจะเรียกว่า “AI infrastructure” นั่นเอง
แน่นอนว่าการดำเนินงานของโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จำเป็นต้องมีองค์ประกอบที่สามารถรองรับการประมวลผลมหาศาล และหนึ่งในนั้นก็คือ ผลิตภัณฑ์และโซลูชันของ Nvidia...
ในช่วงที่ผ่านมา “เทคโนโลยี” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์เกี่ยวเนื่องไปถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ได้รับผลกระทบหนัก ตั้งแต่ยุคของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ถึงยุคของรัฐบาลภายใต้การบริหารของโจ ไบเดน จากกฎระเบียบควบคุมการส่งออกและหลากหลายมาตรการในการจำกัดการค้าร่วมกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน (รวมถึงฮ่องกงและมาเก๊า)
กล่าวคือ ข้อกำหนดเงื่อนไขการออกใบอนุญาตสำหรับผลิตภัณฑ์ที่จะส่งออก ทำให้ Nvidia ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าคงคลัง (เช่น Nvidia A100 และ H100, DGX) ไปยังจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดลูกค้าที่เป็นตลาดหลัก แม้ว่า Nvidia จะหาทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนที่ไม่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดการออกใบอนุญาตได้ แต่ก็ถูกกดดันด้วยเงื่อนไขเวลาในกระบวนการการผลิตและส่งมอบ
Nvidia ระบุว่า การควบคุมการส่งออกที่มากเกินไปส่งผลเสียต่อรายได้ธุรกิจ ความเสี่ยงในการลงทุนผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงของสหรัฐฯ เนื่องจากเมื่อถึงเวลาที่ชิปรุ่นใหม่พร้อมออกสู่ตลาด ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจต้องอยู่ภายใต้การควบคุมการส่งออก
ในขณะเดียวกัน การควบคุมดังกล่าวอาจทำให้การลงทุนในคู่แข่งต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นและแย่งตำแหน่งในตลาด รวมถึงความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการจากลูกค้า ไม่เพียงแต่ในจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดอื่นๆ เช่น ยุโรป ละตินอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใหม่ที่กำหนดนิยามเข้มงวดยิ่งขึ้น อาจเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อใดก็ได้ ทำให้ Nvidia พยายามสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน โดยการหันหัวเรือไปยังภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงการเพิ่มพอร์ตโฟลิโอธุรกิจที่อยู่นอกเหนือข้อกำหนด เช่น ผลิตภัณฑ์และโซลูชันเพื่อกลุ่ม Data Center
“อาเซียน” เริ่มกลายเป็นหมุดหมายใหม่ของ Nvidia ที่เห็นได้ชัดตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา หลังจากผลประกอบการที่พิสูจน์ให้เห็นถึงรายได้ที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้จากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าและบริการไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในไตรมาสล่าสุดสิ้นสุด ณ เดือนกรกฎาคม 2024 อยู่ที่ 5.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของรายได้นอกสหรัฐฯ ซึ่งสามารถทำรายได้มากกว่าจีน สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์และอุปทานที่มีศักยภาพเติบโตสูงในภูมิภาคนี้
จากเอกสาร ระบุว่า กลุ่มลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ของ Nvidia โดยตรง ได้แก่ ผู้ผลิตวงจร ผู้จัดจำหน่าย ผู้ผลิตอุปกรณ์แบบดั้งเดิม หรือ Original Device Manufacturers (ODM) และ Original Equipment Manufacturers (OEM) รวมถึงกลุ่มลูกค้าทางอ้อม ได้แก่ ผู้ให้บริการระบบคลาวด์ บริษัทอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้บริโภค องค์กร และหน่วยงานภาครัฐ
Nikkei Asia รายงานว่า การเดินทางพบปะพันธมิตรทางธุรกิจรายสำคัญในมาเลเซียและสิงคโปร์ของนายเจนเซ่น หวง เมื่อปีที่แล้ว เขาได้เปิดเผยถึงมุมมองและความเชื่อมั่นที่มีต่อภูมิภาคอาเซียนว่ามีศักยภาพสูงในฐานะตลาดของ AI และชิป
“ผมมีความเชื่อมั่นอย่างมากว่าเทคโนโลยีสำคัญๆ จำนวนมากจะถูกผลิตในภูมิภาคนี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเป็นเลิศในด้านการประกอบชิ้นส่วน การบรรจุภัณฑ์ การออกแบบระบบ การผลิตแบตเตอรี่ และมีความยอดเยี่ยมในด้านต่างๆ ของห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์ ดาต้าเซนเตอร์ การออกแบบและให้บริการซอฟต์แวร์จะกลายเป็นพื้นที่สำคัญในภูมิภาคนี้” เจนเซ่น หวง กล่าว
กอปรกับช่วงที่ผ่านมา เรียกได้ว่า อาเซียน กำลังก้าวเข้าสู่ยุคทองแห่งเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบเลยก็ว่าได้ หลังบรรดาบิ๊กเทคต่างตบเท้าเข้ามาเยี่ยมเยือน พร้อมประกาศแผนการลงทุนมหาศาลเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์และ Data Center รองรับการเติบโตของธุรกิจดิจิทัล และความต้องการใช้งานเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ "ไทย" ที่ได้กลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามเราคงต้องติดตามกันต่อไปว่าการเดินทางเยือนกรุงเทพฯ ของนายเจนเซ่น หวงในเดือนธันวาคมนี้ จะนำพาเม็ดเงินหรือโอกาสอะไรให้กับประเทศไทย
บทความที่เกี่ยวข้อง
ที่มาข้อมูล Nvidia , CNBC [1] , Nikkei Asia , Reuters
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -