Nvidia จับมือบริษัทชิปตระกูลอัมบานี หวังปูทางเป็นกระดูกสันหลังอุตสาหกรรมชิปและ AI ในอินเดีย

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

Nvidia จับมือบริษัทชิปตระกูลอัมบานี หวังปูทางเป็นกระดูกสันหลังอุตสาหกรรมชิปและ AI ในอินเดีย

Date Time: 25 ต.ค. 2567 11:34 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • Nvidia เตรียมจัดหาชิป AI ให้กับ Reliance Industries จับมือเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทชิปของ Mukesh Ambani มหาเศรษฐีที่รวยเป็นอันดับหนึ่งในอินเดีย พร้อมสนับสนุนกลุ่มบริษัทอื่นๆ ที่กำลังดำเนินการเรื่อง AI Infrastructure เพื่อขยายการจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วอินเดียอย่าง Infosys และ Tata

Latest


ดูเหมือนว่า Nvidia ยักษ์ใหญ่ชิปจากสหรัฐอเมริกากำลังรุกหนักซีกโลกตะวันออกอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดภายในงานประชุมสุดยอดด้านปัญญาประดิษฐ์ในอินเดียที่จัดขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ มีรายงานว่า Nvidia ได้ประกาศแผนร่วมมือครั้งใหญ่ในอินเดียร่วมกับ Reliance Industries บริษัทผลิตชิปเบอร์ต้นในอินเดียของมหาเศรษฐีอันดับหนึ่ง Mukesh Ambani พร้อมเปิดเผยถึงแผนกระชับความสัมพันธ์ในระยะยาวเพื่อกระตุ้นการนำเทคโนโลยีของ Nvidia มาเปิดตลาดใหม่ในหนึ่งประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

รายงานระบุว่า Nvidia จะทำการจัดหาชิปประมวลผลสำหรับเวิร์คโหลดด้าน AI โดยเฉพาะชิปรุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง “Blackwell” ให้กับดาต้าเซ็นเตอร์ขนาด 1 กิกะวัตต์ที่ Reliance Industries กำลังสร้างในรัฐคุชราตทางตะวันตกของอินเดีย รวมถึงการจัดหาชิป AI สำหรับศูนย์ข้อมูลที่จะครอบคลุมไปถึงแผนการขยายธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่รายอื่นๆ ในประเทศ นำโดย Yotta Data Services และ Tata Communications 

นายเจนเซ่น หวง (Jensen Huang) ซีอีโอ Nvidia กล่าวว่า "อินเดียเป็นระดับโลกในเรื่องการออกแบบชิปอยู่แล้ว อินเดียพัฒนา AI อยู่แล้ว แทนที่จะเป็นผู้รับจ้างผลิตหรือเป็นช่วยใครผลิตอินเดียจะกลายเป็นผู้ส่งออก AI ในอนาคต" 

เขากล่าวว่า อินเดียมีศักยภาพในการส่งมอบองค์ประกอบสำคัญตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน AI โปรแกรมซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และข้อมูล รวมถึงกลุ่มผู้ใช้จำนวนมาก ซึ่งแตกต่างจากบทบาทในการส่งออกซอฟต์แวร์ทั่วไป

นอกจากนี้การพัฒนา AI ในอินเดียยังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโมเดลด้วยภาษาท้องถิ่นที่หลากหลายเพื่อตอบสนองกลุ่มประชากรในประเทศ ตั้งแต่สตาร์ทอัพไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ในอินเดียต่างมุ่งเน้นไปที่การสร้างโมเดล AI ที่ใช้ภาษาต่างๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและใช้งานได้จริง เขายกตัวอย่าง Tech Mahindra บริษัทด้านไอทีของอินเดียรายแรกที่ใช้โมเดล AI ภาษาฮินดีเพื่อพัฒนาโมเดล AI แบบกำหนดเองที่เรียกว่า Indus 2.0 ซึ่งเน้นไปที่ภาษาถิ่นหรือภาษาที่พูดกันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ

Nvidia เคยจัดตั้งศูนย์วิศวกรรมและการออกแบบในอินเดีย รวมถึงสำนักงานในเมืองสำคัญๆ เช่น ศูนย์กลางเทคโนโลยีอย่างเบงกาลูรูและไฮเดอราบาด ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว Reliance Industries และ Nvidia ได้ให้คำมั่นสัญญาร่วมกันว่าจะพัฒนา Supercomputer AI ในอินเดียและสร้างโมเดล LLM รองรับภาษาท้องถิ่น

นอกเหนือจากนี้ Nvidia ยังเป็นพันธมิตรกับยักษ์ใหญ่ด้านไอที เช่น Infosys, TCS และ Wipro ในการฝึกอบรมนักพัฒนากว่า 5 แสนคนในการพัฒนาปรับใช้โมเดล AI โดยใช้ซอฟต์แวร์ของ Nvidia ขณะเดียวกัน Reliance Industries และ Ola Electric ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่เตรียมใช้ "Omniverse" ของ Nvidia เพื่อทดสอบการทำงานของโรงงานในโลกเสมือนจริงด้วยเช่นกัน

ความทะเยอทะยานด้าน AI ของอินเดีย 

อินเดียได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญที่เคลื่อนไหวเรื่อง AI ด้วยจำนวนประชากรกว่า 1.4 พันล้านคนที่มีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น เกษตรกรรม การศึกษา และการผลิต ขณะเดียวกันการผลักดันจากภาครัฐที่ทุ่มงบมูลค่า 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใต้ภารกิจ IndiaAI เพื่อสร้าง AI Infrastructure ที่สำคัญต่อการพัฒนา AI และการนำเทคโนโลยีออกสู่เชิงพาณิชย์

ความเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าจะยังเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากอุตสาหกรรมชิปของอินเดียยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เงินทุนจำนวนมากในการจัดตั้งโรงงาน การก่อสร้างจริงมักใช้เวลาหลายปี อีกทั้งการดำเนินการดังกล่าวต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษ

แต่อินเดียกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ตั้งแต่ Nvidia, Microsoft, Meta รวมถึงบริษัทชิประดับโลกจำนวนมากเข้ามาลงทุนและจัดตั้งโรงงานในอินเดีย เนื่องจากนโยบายที่มีเป้าหมายเร่งผลักดันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และแข่งขันกับศูนย์กลางที่สำคัญในภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นจุดแข็งในการเป็นตัวเลือกที่ดีแทนจีน เนื่องจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ที่มาข้อมูล BloombergReuters 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ