Wikipedia  ไม่พึ่งเงินโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก อยู่รอดมาได้อย่างไรกว่า 23 ปี ?

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

Wikipedia ไม่พึ่งเงินโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก อยู่รอดมาได้อย่างไรกว่า 23 ปี ?

Date Time: 10 ต.ค. 2567 20:36 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • Wikipedia สารานุกรมออนไลน์ใหญ่สุดในโลก ไม่ต้องพึ่งเงินโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แล้วเขาหาเงินจากไหน ทำไมถึงยังอยู่ได้มากว่า 23 ปี แถมยังเป็นลูกรัก Google โดยทีไม่ต้องทำ SEO สร้างเนื้อหาเอาใจอัลกอรึทึม เพื่อขึ้นหน้าแรก แต่คนก็เข้าถึงเว็บมหาศาล เรื่องนี้เป็นมาอย่างไร แล้วอนาคตที่ AI ทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลเหมือนกันนั้น จะอยู่ต่อไปอย่างไร

Latest


เคยสงสัยกันไหมว่า Wikipedia สารานุกรมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อยู่รอดได้อย่างไรโดยไม่มีโฆษณา? ทำไมมันถึงปรากฏในผลการค้นหาของ Google เสมอ? แล้วในยุคที่ AI ก็ทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลได้เหมือนกันแบบนี้ เว็บไซต์นี้จะรับมืออย่างไร?

จุดเริ่มต้นของ Wikipedia

ย้อนกลับไปในปี 2000 มีหนุ่มเนิร์ดสองคนที่มีความฝันจะเปลี่ยนโลก ชื่อว่า ลาร์รี แซงเจอร์ นักศึกษาปริญญาเอกที่เพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ และ จิมมี เวลส์ นักธุรกิจไฟแรงด้านอินเทอร์เน็ต พวกเขามีไอเดียที่จะรวบรวมความรู้จากทั่วทุกมุมโลกมาไว้ในที่เดียว แถมจะแจกฟรีให้ทุกคนเข้าถึงได้

ทั้งสองคนจึงร่วมมือกันสร้างโปรเจกต์ชื่อว่า Nupedia ซึ่งเป็นสารานุกรมออนไลน์ที่พวกเขาหวังว่าจะเป็นแหล่งความรู้ฟรีที่ครอบคลุมทุกด้าน แต่ทำไปสักพัก Nupedia เจออุปสรรค คือ มีระบบการตรวจสอบเนื้อหาที่เข้มงวด ทำให้การสร้างบทความเป็นไปอย่างช้าและไม่เปิดกว้างพอสำหรับการมีส่วนร่วมจากคนทั่วไป

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2001 เมื่อแซงเจอร์ได้รู้จักกับแนวคิดของ "Wiki" ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ผู้ใช้สามารถแก้ไขเนื้อหาได้อย่างอิสระและรวดเร็ว ทั้งสองเลยตัดสินใจสร้างโปรเจกต์ใหม่ชื่อ "Wikipedia" ซึ่งเป็นสารานุกรมออนไลน์ที่เปิดสำหรับทุกคน

ต่อมา Wikipedia เติบโตอย่างรวดเร็วเกินคาด ด้วยรูปแบบที่เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างและแก้ไขเนื้อหา ทำให้ปริมาณบทความเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ความน่าเชื่อถือของ Wikipedia

แม้หลายคนจะมีความกังวลเรื่องความน่าเชื่อถือ ในประเด็นที่ว่าใครก็เข้าไปแก้ไขได้นั้น แต่ความจริงแล้ว Wikipedia มีระบบการตรวจสอบที่มีมาตรฐาน โดยมีนโยบายที่เข้มงวดในการใช้แหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ บทความทุกบทความต้องอ้างอิงถึงแหล่งข้อมูลภายนอกที่มีคุณภาพ ผู้แก้ไขบทความจะต้องระบุแหล่งที่มาของข้อมูล เพื่อให้ผู้อ่านสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้

นอกจากนี้ ยังมีระบบการป้องกันหลายชั้นเพื่อป้องกันการแก้ไขแบบกวน ๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นบทความที่เป็นประเด็นอ่อนไหวหรือได้รับความนิยมสูงอาจถูกล็อกชั่วคราวป้องกันการแก้ไขจากผู้ใช้ใหม่ บทความของ Wikipedia มักจะถูกตรวจสอบโดยบรรณาธิการอาสาสมัครและผู้ใช้ที่มีประสบการณ์ ซึ่งทำหน้าที่ในการตรวจสอบการแก้ไขใหม่ ๆ ที่ถูกส่งเข้ามา ทำให้สามารถย้อนกลับการแก้ไขที่ไม่เหมาะสมได้ทันที

ปัจจุบัน Wikipedia ได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แถมเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ที่มีการเข้าชมมากที่สุดในโลกเช่นกัน โดยมีผู้เยี่ยมชมเฉลี่ย 4.5 พันล้านคนต่อเดือนในปี 2023 และเป็นสารานุกรมออนไลน์ที่มีมากกว่า 61 ล้านบทความใน 334 ภาษา

Wikipedia หาเงินอย่างไร?

จนถึงวันนี้ปี 2024 Wikipedia ก็อยู่มา 23 ปีแล้ว หลายคนสงสัยว่าเขาหาเงินจากไหน ทำไมถึงยังอยู่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเราใช้งานมันเป็นประจำ แต่ไม่เห็นโฆษณาเลย

Wikipedia แตกต่างจากแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ ที่มักจะหาเงินจากโฆษณาหรือการเก็บค่าบริการ แต่จริง ๆ วิกิพีเดีย ใช้โมเดลธุรกิจแบบไม่แสวงหากำไร โดยดำเนินงานภายใต้การดูแลของมูลนิธิ Wikimedia Foundation ที่จะเน้นการพึ่งพาการบริจาคและเงินสนับสนุนจากบุคคลและองค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะจากบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ เช่น Google, Apple, Microsoft และ Meta

รายได้หลักของ Wikipedia มาจากการบริจาคจากผู้คนและองค์กรทั่วโลก ในปีงบประมาณล่าสุด (2022-2023) Wikimedia Foundation ได้ระดมทุนกว่า 170 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการบริจาคเกือบ 15 ล้านครั้ง

เงินที่ได้มานั้น หลัก ๆ เขาเอาไปใช้เพื่อค่าตอบแทนพนักงาน ส่วนใหญ่ทำงานด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและประสบการณ์การใช้งาน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องบอกว่า Wikipedia ก็มีการออกแบบเว็บไซต์ที่เรียบง่ายมาก โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเพียงข้อความ ทำให้ต้นทุนในการดูแลรักษาค่อนข้างต่ำ

ที่น่าสนใจคือ Jimmy Wales ผู้ร่วมก่อตั้ง เคยกล่าวว่า การดูแลเว็บไซต์ทั้งหมดนั้นใช้ค่าใช้จ่ายเพียง 5,000 เหรียญต่อเดือน สำหรับการเข้าชมที่ 1.4 พันล้านครั้ง ซึ่งแม้ว่าทุกวันนี้จำนวนการเข้าชมจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ก็จะใช้ราวเดือนละล้านกว่าเหรียญ

แต่ Wikipedia หาเงินได้มากมายขนาดนั้น ถ้ามองแค่ต้นทุนของการดำเนินการแพลตฟอร์มนั้น ไม่น่าจะใช้หมด Wikipedia จึงกลายเป็นธุรกิจที่เงินสดล้นมือ ก็ไปจัดการให้มันงอกเงยด้วยการเอาไปลงทุนต่อก็มีรายได้เพิ่มมากเล็กน้อย

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการขายสินค้าของแบรนด์ และมีธุรกิจ Wikimedia Enterprise API เปิดตัวในปี 2021 บริการ API แบบชำระเงินสำหรับผู้ใช้ระดับองค์กรที่ต้องการใช้ข้อมูลในปริมาณมาก

ความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่าง Wikipedia และ Google

สังเกตไหมว่าเวลาค้นหาข้อมูลใน Google มักมีข้อมูลอ้างอิงจาก Wikipedia ปรากฏอย่างเด่นชัด? นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นผลจากความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างทั้งสององค์กร

ในช่วงแรก Google ช่วยลดอันดับเว็บไซต์ที่คัดลอกข้อมูลจาก Wikipedia โดยเฉพาะเว็บที่ทำเพื่อการโฆษณา

ต่อมาในปี 2007 Google เปิดตัว Knol โนล ซึ่งเป็นสารานุกรมที่เน้นเนื้อหาที่สร้างโดยผู้ใช้ และถูกมองว่าเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ Wikipedia แต่ Knol ไม่ประสบความสำเร็จและปิดตัวลงในปี 2012

หลังจากนั้น Google ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ Wikimedia Foundation หลายครั้ง และหันมาใช้ข้อมูลจาก Wikipedia เพื่อช่วยแก้ปัญหาข้อมูลเท็จใน YouTube ด้วย

โดยการนำเสนอข้อมูลที่ตรวจสอบได้และมีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ในปี 2021 Google และ Wikimedia Enterprise ได้เริ่มต้นความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการ โดย Google ถือเป็นหนึ่งในลูกค้ารายแรก ๆ ของบริการ Wikimedia Enterprise ที่ช่วยให้ Google สามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลจาก Wikipedia ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า Wikipedia ได้รับความไว้วางใจจาก Google อย่างมาก ทำให้มักปรากฏในอันดับต้น ๆ ของผลการค้นหาเสมอ โดยที่ Wikipedia ไม่ได้ออกแบบเนื้อหาเพื่อ SEO โดยตรง

แต่ปริมาณการเข้าชมเว็บไซต์ Wikipedia ส่วนใหญ่มาจาก Google ซึ่งทำให้ Wikipedia ได้รับการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้จำนวนมากทั่วโลก โดยไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือการโปรโมทใด ๆ นั่นเอง

Wikipedia อยู่อย่างไรในยุค AI?

แม้ว่า AI จะมีความสามารถในการสร้างเนื้อหาและให้ข้อมูล แต่ Wikipedia ยังคงมีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการฝึกฝนโมเดล AI หากไม่มีข้อมูลจากหน้า Wikipedia หลายล้านหน้า โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ก็ไม่สามารถได้รับการฝึกฝนอย่างเหมาะสมได้

Wikipedia ยังคงมีจุดแข็งสำคัญคือความน่าเชื่อถือ การตรวจสอบข้อมูลโดยมนุษย์ ความโปร่งใสในกระบวนการสร้างและแก้ไขเนื้อหา และการอัปเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์โดยชุมชนทั่วโลก

ในยุคที่ข้อมูลท่วมท้น Wikipedia ไม่เพียงแต่เป็นสารานุกรม แต่ยังเป็นเสาหลักที่ช่วยยึดโยงโลกดิจิทัลเข้าด้วยกัน คำตอบที่เราได้รับจากการค้นหาใน Google, Bing, Siri, Alexa หรือแม้แต่ ChatGPT ล้วนมีพื้นฐานมาจากข้อมูลที่ Wikipedia รวบรวมไว้

ด้วยรูปแบบการดำเนินงานที่เป็นเอกลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ และการสนับสนุนจากชุมชนทั่วโลก Wikipedia จึงยังคงยืนหยัดเป็นแหล่งความรู้อันทรงคุณค่าในยุคที่ AI กำลังเฟื่องฟู และดูเหมือนว่าจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต


ติดตามเรื่องราวความน่าสนใจในวงการธุรกิจและเทคโนโลยีได้ที่รายการ Digtial Frontiers กับ รดา ลภัสรดา ได้ที่ YouTube : Thairath Money



Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ