นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย ผู้นำด้านการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก มอง “ไทย” เป็นผู้นำในเรื่องระบบการชำระเงินที่ไม่แพ้ใครในภูมิภาค พร้อมชี้ให้เห็นว่า ความมั่นใจในการชำระเงินแบบดิจิทัลของคนไทยจะยิ่งส่งเสริมการให้บริการของ Visa ต่อจากนี้
แม้ว่าจำนวนการทำธุรกรรมที่ร้านค้าจะเพิ่มสูงขึ้น แต่การทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นเป็นการชำระเงินแบบออนไลน์ทั้งสิ้น ปัจจุบันคนไทยชินกับการชำระเงินด้วย Online Payment ซึ่งมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนแซงหน้าการชำระเงินด้วยเงินสด โดยมีปัจจัยหลักคือการเกิดขึ้นของ พร้อมเพย์ “PromptPay”
“ย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วในยุคแรก ๆ ของการเปลี่ยนผ่านสู่ “Internet Banking” และยุคของ “Digital Wallet” ที่ได้สร้างสีสันให้กับวงการผ่านกรณีศึกษาด้านการเงิน ซึ่งเปิดโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับคนไทยที่หลากหลายมากขึ้น ต่อเนื่องด้วยยุคของการชำระเงินแบบเรียลไทม์ “PromptPay” ที่ทำให้การเงินไทยก้าวกระโดดอย่างแท้จริง”
แม้จะเป็นฟินเทคยุคแรก ๆ แต่ก็ต้องรับมือกับดิสรัปชันและความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลของอุตสาหกรรมเงินในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา Visa มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องผ่านผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ บัตรเดบิต บัตรเครดิต บัตรพรีเพด รวมไปถึงเครือข่ายระบบการชำระเงินสำหรับผู้บริโภคและธุรกิจที่หลากหลาย อาทิ Tap-To-Pay, Click-To-Pay, Visa Direct, Visa Cross-Border Solutions เป็นต้น
นายปุณณมาศ กล่าวว่า Visa ได้ประโยชน์จาก PromptPay ในฐานะระบบชำระเงินดิจิทัลของคนไทยที่มีบทบาทในการสร้างความมั่นใจให้กับคนไทยในเรื่อง Digital Payment เป็นอย่างมาก เพราะสิ่งที่ยากที่สุดคือการสร้างความมั่นใจให้กับคนไทยในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชำระเงิน รวมไปถึงรูปแบบการใช้งานผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนไป เช่น บัตรเดบิต คนยกเลิกบัตรเดบิตเพิ่มมากขึ้นทุกปี สืบเนื่องจากความต้องการที่จะกดเงินจากตู้เอทีเอ็มน้อยลงและไม่ต้องการที่จะจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีอีกต่อไป
ทั้งนี้เรื่องการปรับตัวของ Visa ในยุคที่อุตสาหกรรมฟินเทคไทยมีการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น มีผู้ให้บริการเทคโนโลยีและโซลูชันชำระเงินรายใหม่ ๆ หลากหลายมากขึ้น ตนมองว่า ภาพรวม ณ ปัจจุบันล้วนเป็นโอกาสของ Visa ที่จะมีช่องทางในการนำเสนอบริการให้กับธุรกิจการเงินหรือสถาบันการเงินไปสู่ผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยืนยันว่า Visa ไม่ได้อยู่ในจุดที่แข่งขันกับพาร์ทเนอร์ผู้ให้บริการ แต่เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาระบบชำระเงินแบบดิจิทัลทั้งธนาคาร ร้านค้า และพาร์ทเนอร์ผู้ให้บริการ
ปัจจุบัน Visa ในฐานะผู้นำด้านการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระหว่างผู้บริโภค ร้านค้า สถาบันการเงิน และหน่วยงานภาครัฐมากกว่า 216 พันล้านรายการต่อปีในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งเครือข่ายที่เชื่อมต่อกับสถาบันการเงินอีกราวกว่า 14,500 แห่ง ปัจจุบันปริมาณยอดการทำธุรกรรมทั้งหมดทั่วโลกอยู่ที่ 2.97 แสนล้านรายการ หรือคิดเป็น 9,409 รายการต่อวินาที ขณะที่ผลรวมสุทธิของปริมาณการซื้อขายหรือการทำธุรกรรมอยู่ที่ 15.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นายปุณณมาศ กล่าว
ทั้งนี้ Visa ได้อัปเดตข้อมูลล่าสุดจากการศึกษาเรื่อง “ทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี” (Visa Consumer Payment Attitudes Study) ที่ฉายภาพให้เห็นถึงพฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภคในภูมิภาคและโมเมนตัมของเทคโนโลยีด้านการเงินของไทยที่ได้กลายเป็นประเทศผู้นำด้าน “Online Payment” เบอร์ต้นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหลาย ๆ ด้าน
จากผลสำรวจผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ (ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ กัมพูชา) พบว่า 89% ของผู้บริโภคใช้แอปพลิเคชัน “Mobile Banking” ยังเป็นตัวเลือกที่คนเลือกใช้มากที่สุดในทุกประเทศ โดยประเทศที่ปริมาณการใช้งานเยอะที่สุดคือ “ไทย” ซึ่งพบว่า 97% ของคนไทยใช้งานแอปพลิเคชัน Mobile Banking อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้น ตามด้วยเวียดนาม 95% และอินโดนีเซีย 90% นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมการชำระเงินที่น่าสนใจ อาทิ
อย่างไรก็ตามแม้ “การชำระเงินแบบเรียลไทม์” จะเป็นที่รู้จักและมีอัตราการยอมรับสูงในอาเซียน แต่ผู้บริโภคยังคงสงวนท่าทีในการเลือกชำระเงินในรูปแบบนี้ โดยข้อกังวลลำดับต้น ๆ ที่ทำให้พวกเขาลังเลคือ ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย เช่น การดำเนินการเพื่อขอเงินคืนยังคงซับซ้อน หากมีการทำธุรกรรมที่ผิดพลาดเกิดขึ้น นอกจากนี้บางส่วนยังชอบชำระเงินดิจิทัลรูปแบบอื่นมากกว่า เช่น บัตรเครดิต/บัตรเดบิต และบางส่วนยังขาดความเข้าใจในการใช้งาน
นอกจากนี้ รายงานระบุว่า ผู้บริโภคในอาเซียนมีความคิดเห็นว่าการก้าวสู่ “สังคมไร้เงินสด” จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในปี 2023-2028 โดยผู้ตอบแบบสอบถามในไทยมองว่าสังคมไร้เงินสดอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่อื่นภายในสามถึงสี่ปีข้างหน้านี้
จากข้อมูลระบุว่า 72% ของคนในภูมิภาคที่ตอบแบบสอบถาม ตอบว่าพวกเขาสามารถใช้ชีวิตประจำวันอยู่ได้แม้ไม่ต้องใช้เงินสด นำโดยสามอันดับแรกที่คนเริ่มพกเงินสดน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คือ เวียดนาม มาเลเซีย ไทย ตามลำดับ นำหน้าสิงคโปร์ โดย นายปุณณมาศ กล่าวว่า แม้ว่าการพัฒนาเชิงโครงสร้างไม่ได้เทียบกับสิงคโปร์ที่ขึ้นชื่อเรื่องประเทศที่โปรโมทเรื่องสังคมไร้เงินสดมาก่อนหน้านี้ แต่กลับมีสถิติการพกเงินสดและอัตราการใช้งาน Digital Payment ที่โตก้าวกระโดดมากกว่า โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด
ยกตัวอย่างไทยที่ PromptPay ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนภาพระบบการชำระเงินในขณะนั้น สะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมไร้เงินสดไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเจริญของประเทศโดยทีเดียว แต่ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของระบบการชำระเงินที่มีบวกกับทัศนคติความพร้อมของผู้คนที่พร้อมจะใช้บริการนั้น ๆ ควบคู่ไปพร้อมกัน
"ทั้งนี้การชำระเงินแบบดิจิทัลได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกในการชำระเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชำระผ่านบัตรคอนแทคเลส สมาร์ทโฟน และการสแกนคิวอาร์โค้ด รวมทั้งเรายังเห็นการชำระเงินแบบดิจิทัลได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ตั้งแต่ร้านอาหารขนาดย่อมไปจนถึงผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ โดย Visa มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศการชำระเงินเพื่อมอบประสบการณ์การชำระเงินดิจิทัลที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ให้แก่ทุกคนในทุกที่ทุกเวลา"
บทความที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -