AI เร่งวิกฤตพลังงานครั้งใหม่ สหรัฐฯ อาจไปไม่ถึงฝัน Net-Zero ต้องเลือกระหว่าง “โลก” กับ “เทคโนโลยี"

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

AI เร่งวิกฤตพลังงานครั้งใหม่ สหรัฐฯ อาจไปไม่ถึงฝัน Net-Zero ต้องเลือกระหว่าง “โลก” กับ “เทคโนโลยี"

Date Time: 1 ต.ค. 2567 17:54 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • เมื่อสหรัฐฯ อาจไปไม่ถึงฝัน Net-Zero เพราะ AI ตัวเร่งวิกฤตพลังงานครั้งใหม่ รายงานฉบับใหม่ล่าสุดของ International Data Corporation (IDC) ระบุว่า Data Center จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้า สาเหตุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ความกังวลใหม่ที่ว่า “บริษัทเทคโนโลยี” อาจกลายเป็นตัวการทำร้ายโลกรายต่อไป

Latest


เมื่อ “สหรัฐอเมริกา” หนึ่งในชาติที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดในโลกและอีกหนึ่งสถานะของผู้นำโลกที่ตื่นตัวเรื่องปัญหาโลกร้อนและการโปรโมทวิถีชีวิตแบบ Sustainable กำลังเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหญ่ที่อาจทำให้การเอาชนะปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศและเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ “Net-Zero” ไม่สำเร็จ

IEA (สำนักงานด้านพลังงานระหว่างประเทศ) ระบุเอาไว้ว่า Data Center คิดเป็น 1 -1.5% ของการใช้ไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2022 และนั่นเป็นช่วงก่อนที่เรากำลังก้าวสู่ยุคของ AI ก่อนการเปิดตัว ChatGPT ในช่วงปลายปี

อย่างไรก็ตามผลสำรวจจากสถาบันหลายแห่งรายงานตรงกันในประเด็นน่าเป็นห่วงจากการขยายตัวของ Data Center และความต้องการพลังงานที่พุ่งขึ้นสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หลังจากที่สังคมโลกก้าวสู่ยุค AI นำมาซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากของบริษัทเทคโนโลยี หลายฝ่ายกังวลว่าระดับก๊าซคาร์บอนฯ ในชั้นบรรยากาศจะเพิ่มมากขึ้นหลังจากนี้

Data Center โครงสร้างเทคโนโลยีที่แลกด้วยไฟฟ้าและชั้นบรรยากาศ

ERPI (สถาบันวิจัยพลังงานไฟฟ้าสหรัฐฯ) คาดการณ์ในทิศทางเดียวกันว่า “Data Center จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ เป็นสองเท่าภายในสิบปีนี้” ขณะที่ ICF บริษัทที่ปรึกษาด้านโซลูชันพลังงาน คาดการณ์ว่า ความต้องการพลังงานในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น 9% ภายในปี 2028 และเพิ่มขึ้น 20% ภายในปี 2033 โดยอ้างถึงการเติบโตของ Data Center และการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น เพราะพลังงานไฟฟ้ายังเป็นพลังงานหลักๆ ที่ทำให้ AI และระบบนิเวศไปต่อได้

โดยก่อนหน้านี้ข้อมูลจาก Goldman Sachs ที่ระบุว่า การค้นหาข้อมูลด้วย ChatGPT ต้องใช้ไฟฟ้าในการประมวลผลเกือบ 10 เท่าของการค้นหาบน Google ซึ่งความต้องการพลังงานใน Data Center สำหรับ AI จะเพิ่มขึ้น 160% ภายในปี 2030 โดยมี Morgan Stanley ที่ได้คาดการณ์อย่างต่อเนื่องว่า การขยายตัวของ Data Center ทั่วโลกจะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ประมาณ 2.5 พันล้านเมตริกตันภายในปี 2030

นอกจากนี้รายงานฉบับใหม่ล่าสุดของ International Data Corporation (IDC) ที่เผยแพร่ในเดือนกันยายนนี้ได้คาดการณ์ว่า Data Center สำหรับ AI จะมีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ 40.5% จนถึงปี 2027 และการใช้ไฟฟ้าของ Data Center สำหรับ AI ทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตต่อปีที่ 44.7% ด้วยกำลังไฟที่ 146.2 เทราวัตต์ชั่วโมง (TWh) ภายในปี 2027

ผลวิจัยและการคาดการณ์เหล่านี้ล้วนเพ่งเล็งไปที่ “บริษัทเทคโนโลยี” ที่ได้กลายเป็นตัวการทำร้ายโลกรายต่อไป โดยก่อนหน้านี้ The Guardian ได้เปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่า ในช่วง 2020-2022 บริษัทเทคโนโลยีที่มี Data Center ของตนเองอย่าง Google, Microsoft, Amazon, Meta และ Apple มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงประมาณ 662% หรือเกือบ 7 เท่าจากที่รายงานอย่างเป็นทางการ

โดยมี Amazon เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดจากบริษัทเทคโนโลยีทั้ง 5 แห่ง โดยล่าสุดบิ๊กเทค อย่าง Google ได้ออกมาเปิดเผยไม่ต่างกันว่าในปี 2023 บริษัทปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 14.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13% จากปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตามบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายอ้างถึงการตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวที่ต้องเร่งจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเป้าหมายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปรับแนวทางในการใช้พลังงานสะอาดเพื่อขับเคลื่อน Data Center ที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวม

AI หิวพลังงาน อุปสรรคใหญ่ของการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

ปัจจุบันนักพัฒนาสายพลังงานในสหรัฐฯ พยายามอย่างหนักในการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั้งลมและแสงอาทิตย์ เพื่อหาพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่ลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ทว่า Data Center และความต้องการไฟฟ้าที่สูงขึ้น ส่งผลให้มาตรการการจำกัดหรือยุติการใช้ไฟฟ้าจากโรงผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแบบดั้งเดิมถูกยืดการดำเนินการออกไปอีก

ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ เลื่อนการปิดโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินออกไป นอกจากนี้การลงทุนใน Data Center ที่จะเพิ่มขึ้นจะยิ่งดันต้นทุนการดำเนินการให้สูงขึ้น พร้อมทั้งดึงให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย แน่นอนว่าเม็ดเงินยังไหลเข้าผู้ผลิตไฟฟ้าไม่ขาดสาย

รายงานล่าสุดของ BloombergNEF รายงานถึงความคืบหน้าของเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มถดถอยลง โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 อัตราการลดลงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 34% จากระดับเดิมในปี 2005 ห่างไกลจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 50-52% ภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตามข้อตกลง Paris Agreement จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลายฝ่ายมีความเห็นว่าเป็นเรื่องยากมากที่ระบบไฟฟ้าของสหรัฐฯ จะปลอดคาร์บอนฯ ภายในหกปีนี้....

Tara Narayanan นักวิจัยด้านพลังงานของ BloombergNEF กล่าวว่า ความต้องการพลังงานของ AI ที่เพิ่มขึ้น กลายเป็น “Big Disruption” ของการไปสู่เป้าหมาย นอกจากนี้โครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานไฟฟ้าที่ยังไม่สมบูรณ์ในประเทศกำลังพิสูจน์ให้เห็นว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นข้อจำกัดใหญ่ต่อความก้าวหน้าในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว ไม่เพียงแต่ในสหรัฐฯ แต่เกิดขึ้นกับทั่วโลก

ที่มาข้อมูล Financial Times Bloomberg 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ