ทำไม “ไทย” กลายเป็นที่มั่น Data Center บิ๊กเทคแห่ลงทุนแล้วเกือบ “แสนล้านบาท”

Tech & Innovation

Tech Companies

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

Tag

ทำไม “ไทย” กลายเป็นที่มั่น Data Center บิ๊กเทคแห่ลงทุนแล้วเกือบ “แสนล้านบาท”

Date Time: 1 ต.ค. 2567 10:19 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • Data Center คืออะไร สำคัญอย่างไร? ทำไม “ไทย” เนื้อหอมกลายเป็นประเทศที่มั่น เปิด 5 ข้อได้เปรียบที่ทำให้ผู้ให้บริการ Data Center และ Cloud Service แห่ลงทุนโครงสร้าง พร้อมขยายเครือข่ายระดับภูมิภาครวมมูลค่า 98,539 ล้านบาท คนไทย ธุรกิจไทย จะได้ประโยชน์อย่างไร ? แล้วตอนนี้ใครมาลงทุนบ้างแล้วบ้าง ?

Latest


Data Center คืออะไร สำคัญอย่างไร?

Data Center หรือ ศูนย์ข้อมูล สถานที่ทางกายภาพที่ออกแบบมาเพื่อรองรับฮาร์ดแวร์หรือเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของระบบไอทีที่จำเป็นสำหรับการจัดเก็บและรักษาข้อมูลดิจิทัลขององค์กรธุรกิจ เปรียบได้กับที่อยู่ของข้อมูลดิจิทัลหรือพูดง่ายๆ ก็คือ “บ้านของข้อมูล” ยิ่งองค์กรใหญ่ ข้อมูลเยอะ ระบบ Data Center ยิ่งมีความสำคัญ

Data Center มักจะมีการให้บริการรูปแบบ Co-Location เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเสถียรมากที่สุด มีระบบไฟฟ้าที่ดีไหลผ่านตลอดเวลา มีพลังงานสำรอง ควบคุมโดยวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ และต้องอาศัยการเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อใช้ในการรับ-ส่งข้อมูลด้วยความปลอดภัยขั้นสุดยอด

โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการคลาวด์หลายรูปแบบครอบคลุม IaaS, PaaS และ SaaS ทั้งส่วนบุคคลและสาธารณะในประเทศไทยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เทรนด์การใช้งานด้าน AI, Cloud Computing, Data และ IoT เพิ่มมากขึ้น ทั้งในภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานรัฐบาล ส่งผลให้ความต้องการด้านการบริหารจัดการ ตลอดจนเครื่องมือ และพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเติบโตต่อเนื่องตามมาอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งปัจจุบันยิ่งเห็นได้ชัดหลังจากการเกิดขึ้นของ ChatGPT และ Generative AI

Data Center โอกาสใหม่ ภาพฝัน ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค

Data Center ถูกมองเป็นกระดูกสันหลังยุคดิจิทัลของไทย ตามข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยว่า “ไทย” เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของการลงทุนในธุรกิจ Data Center ทั้งจากผู้เล่นระดับท้องถิ่นและผู้เล่นระดับโลก

โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขนาด Data Center ต่อจำนวนประชากรในไทยเติบโตไปแล้วกว่า 54% และไทยอยู่อันดับ 3 ของอาเซียน พร้อมคาดว่า ในช่วงปี 2567-2570 การลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ของไทยจะมีมูลค่ามากกว่า 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.1% ของ GDP แต่ยังเป็นรองมาเลเซีย

โดยตลาดบริการ Data Center ไทยน่าจะเติบโตเฉลี่ยกว่า 31.2% ต่อปี ซึ่งอัตราการเติบโตระดับนี้บ่งชี้ถึงโอกาสที่เป็นไปได้สำหรับนักลงทุนที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ความต้องการ Data Center ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เข้มข้นขึ้น ปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้น และการส่งเสริมการลงทุนผ่านแรงจูงใจจากภาครัฐ ทำให้ Data Center ขึ้นแท่นเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่มีบทบาทในการเป็น “โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล” ที่จำเป็นสำหรับการรองรับระบบนิเวศ AI

ทั้งนี้การเติบโตของธุรกิจ Data Center และ Cloud Service จะส่งผลเกี่ยวเนื่องยังธุรกิจอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทานและสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งทางตรงและทางอ้อมในสายงานด้านโทรคมนาคม สาธารณูปโภค พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงกลุ่มที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการจัดหาและจำหน่ายอุปกรณ์ไอที ผู้รับเหมาก่อสร้างและวางระบบขั้นสูง กลุ่มผู้ให้บริการด้านระบบ System Integrator รูปแบบต่างๆ

อีกทั้งช่วยสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ให้กับคนไทย และเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าถึงบริการ Cloud ที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูง รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น ช่วยเร่งกระบวนการ Digital Transformation สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้ความเร็วสูงในการรับ-ส่งข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งต่อยอดให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค “Digital Economy Hub”

ไทย จุดยุทธศาสตร์ใหม่ แห่ลงทุน 9.8 หมื่นล้านบาท

ก่อนหน้านี้ผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลกจะมี “สิงคโปร์” เป็นประเทศเป้าหมายในการลงทุนจัดตั้ง Data Center และ Cloud Service ระดับภูมิภาคในภูมิภาคเอเชีย ทำให้สำนักงานใหญ่ของบริษัทจากตะวันตกส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์จนนับเป็นประเทศที่มี Data Center จัดตั้งอยู่มากที่สุดในภูมิภาค อย่างไรก็ตามในช่วงสองปีมานี้ “ไทย” ได้กลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์หรือ Strategic Location แห่งใหม่ของบรรดาผู้ให้บริการระดับโลกที่เข้ามาลงทุนทั้งด้านโครงสร้างและเครือข่ายการให้บริการ

ประเทศไทยกลายเป็นตัวเลือกที่มีประสิทธิภาพสำหรับการลงทุนเพื่อขยายการให้บริการเพิ่มเติมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรองรับการขยายตัวของ AI  การเติบโตของธุรกิจบริการด้านดิจิทัลและการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูลที่กำลังเติบโตสูงในภูมิภาค

การมีจุดให้บริการที่ครอบคลุมช่วยรองรับความเสี่ยงจากการเชื่อมโยงเครือข่ายซึ่งอาจจะอยู่ในอีกภูมิภาคที่มีระยะห่างในเรื่องพื้นที่และสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถรองรับผู้ใช้งานจากทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

5 ข้อได้เปรียบไทย

  • ทำเลดี ไทยอยู่ในจุดศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะศักยภาพในการเป็น Connecting Hub สำหรับกลุ่มประเทศ CLMVT ที่มีประชากรรวมกันกว่า 250 ล้านคน
  • มั่นคง มีความมั่นคงปลอดภัยสูง มีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติต่ำ Data Center เป็นธุรกิจที่ต้องการความมั่นคงสูง เพราะต้องรักษาข้อมูลสำคัญของลูกค้าในปริมาณมหาศาล ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องนี้ เนื่องจากไม่มีแผ่นดินไหว ไต้ฝุ่น หรือภัยพิบัติรุนแรงเหมือนหลาย ๆ ประเทศ อีกทั้งไทยมีความเป็นกลาง ไม่ใช่ประเทศคู่ขัดแย้งในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบด้านดิจิทัลที่มีมาตรฐานสากล เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และกฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security Act) ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน
  • โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง ทั้งระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร และมีศักยภาพในการจัดหาพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการลงทุน Data Center รวมถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงติด 1 ใน 10 ของโลก และเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดในอาเซียน สามารถรองรับการส่งข้อมูลได้ในปริมาณสูง
  • ดีมานด์สูง สัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับสูงถึง 88% ของประชากร มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียกว่า 70% ของประชากร ประชาชนมีทักษะในการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบดิจิทัล เช่น PromptPay, Mobile Banking, e-Payment รวมทั้งการใช้แอปพลิเคชันเพื่อรับสิทธิตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ตลาดดิจิทัลในประเทศขยายตัวสูง ทั้งดีมานด์เรื่องการทำ Digital Transformation การสนับสนุนจากนโยบาย "Cloud First Policy" ของรัฐบาล ตามวิสัยทัศน์ “Ignite Thailand” ในการเพิ่มศักยภาพการลงทุนด้านเทคโนโลยี สร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมให้ประเทศ พร้อมกับทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมในประเทศให้มีการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เพื่อสร้างความพร้อมในการแข่งขันระดับโลก
  • กฎหมายเอื้อ สิทธิประโยชน์ที่จูงใจจาก BOI ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การอนุญาตให้ถือครองที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน การลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับบุคลากรทักษะสูง การบริการข้อมูลและช่วยจัดหาสถานที่ตั้งโครงการ การช่วยประสานงานในการขอใบอนุญาตจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบจากกติกาภาษีใหม่ (Global Minimum Tax) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกให้ความสำคัญ

นอกจากนี้เราได้มีการก่อตั้ง “สมาคมดาต้าเซ็นเตอร์แห่งประเทศไทย” ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ หรือ เรียกโดยย่อว่า “TDCC” พร้อมตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรม Data Center ให้เป็นอุตสาหกรรมหลักสำคัญของประเทศและสร้างเครือข่ายผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลขึ้นในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลาง Data Center ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใน 3 ปีอีกด้วย

ใครลงทุนบ้าง บิ๊กเทค AWS, Microsoft, Google มาหมดแล้ว

ปัจจุบันเราเริ่มเห็นผู้ให้บริการขนาดใหญ่ระดับไฮเปอร์สเกลเลอร์เข้ามาลงทุนพร้อมกับประกาศกลยุทธ์พร้อมปักธงลงทุนสร้าง Data Center พร้อมด้วย Cloud Service Platform ระดับภูมิภาคในประเทศไทย ยิ่งรายใหญ่เข้ามาเปิดตลาด ก็ยิ่งเพิ่มความน่าดึงดูดให้กับเจ้าอื่น ๆ ตามมา ขณะเดียวกันบริษัทสัญชาติไทยหลายรายก็เริ่มกระโดดเข้ามาลงทุนในสนามนี้เช่นเดียวกัน

“ข้อมูลจาก BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) เมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้ รายงานว่า โครงการ Data Center และ Cloud Service ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI รวม 37 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนรวมอยู่ที่ 98,539 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง”

โดยมีบริษัทชั้นนำระดับโลกได้เข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในประเทศไทยแล้วหลายราย ได้แก่ Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุน Data Center ในไทยกว่า 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2580 โดยในเฟสแรก ได้ลงทุนสร้าง AWS Region แล้ว 3 แห่ง เงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท

ตามด้วย Microsoft ผู้ให้บริการระดับโลกได้ประกาศแผนลงทุน Data Center แห่งแรกในประเทศไทยแล้ว โดยปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขลงทุนและอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดร่วมกับ BOI และทีมงานของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ Data Center ระดับภูมิภาคที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยจะเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ที่อยู่ใน Fabric เดียวกับ Microsoft ทั่วโลก ทำให้องค์กรสามารถเข้าใช้ AI-Cloud Data Center Services ที่ไทยได้จากทั่วโลก

โดย Google นับเป็นรายล่าสุดที่ประกาศแผนลงทุน Cloud Region แห่งแรกในประเทศไทย พร้อมด้วยงบลงทุนมูลค่า 36,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบ Cloud และ Data Center ในกรุงเทพฯ และชลบุรี เพื่อรองรับความต้องการใช้งาน Google Cloud และนวัตกรรม AI ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงบริการยอดนิยมของ Google เช่น Search, Maps และ Workspace ที่คนไทยและคนทั่วโลกใช้งานในชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ NextDC จากออสเตรเลีย ลงทุน 13,700 ล้านบาท STT GDC จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,500 ล้านบาท Evolution Data Center จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,000 ล้านบาท Supernap (Switch) จากสหรัฐอเมริกา ลงทุน 3,000 ล้านบาท Telehouse จากญี่ปุ่น ลงทุน 2,700 ล้านบาท One Asia จากฮ่องกง ลงทุน 2,000 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจการให้ บริการคลาวด์ (Cloud Service) มีบริษัทชั้นนำที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เช่น Alibaba Cloud ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และ Huawei Technologies ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท

นอกจากบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศแล้วยังมีผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสูงอีกหลายรายที่ลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ด้วย เช่น บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์, บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย และ บริษัท GSA ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Gulf, Singtel และ AIS, บริษัท อีโวลูชั่น ดีซี (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Evolution Data Centres, เซ็นทรัลพัฒนา และ NT หรือโทรคมนาคมแห่งชาติ

บทความที่เกี่ยวข้อง 

ที่มาข้อมูล KPMG  , BOI (1) (2) (3) 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   


Author

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)
Technology & Digital Economy Team , The Columnist of BrandStory