รัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติ 3.5 พันล้านเหรียญให้ Intel ผลิตชิปสำหรับกองทัพ ช่วยคุย Nvidia - AMDใช้บริการ

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

รัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติ 3.5 พันล้านเหรียญให้ Intel ผลิตชิปสำหรับกองทัพ ช่วยคุย Nvidia - AMDใช้บริการ

Date Time: 16 ก.ย. 2567 16:16 น.

Video

ตลาดหลักทรัพย์ฯ 50 ปี สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างไร ? | Money Issue

Summary

  • บริษัทชิปสหรัฐฯ ต่อต้านรัฐบาลกลางทุ่มเงิน 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้ Intel ที่ครึ่งปีหลังส่อแววขาดทุนหนัก จับตา Pat Gelsinger ซีอีโอของ Intel เสนอแผนปรับโครงสร้าง-ขายออกธุรกิจ ต่อบอร์ดสัปดาห์นี้

Latest


กระทรวงกลาโหมอนุมัติเงินอุดหนุนมูลค่า 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้ Intel ผลิตชิปสำหรับกองทัพ หลังแผนการสร้างโรงงานผลิตและประกอบชิปแห่งใหม่ในสหรัฐฯ ของ Intel เผชิญอุปสรรค อย่างไรก็ตามกลับมีเสียงต่อต้านถึงทิศทางของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ทุ่มเงินมหาศาลให้ Intel ในครั้งนี้

สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการลับชื่อ “Secure Enclave” ที่รัฐบาลเดินหน้าจัดตั้งโรงงานผลิตชิปขั้นสูงเพื่อใช้ในการทหารและด้านข่าวกรอง โดยโครงการนี้ว่ากันว่าจะครอบคลุมพื้นที่หลายรัฐ รวมถึงแอริโซนา ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงหล่อแห่งที่อยู่ระหว่างการสร้างของ Intel

ปัจจุบัน Intel กำลังสร้างโรงหล่อใหม่ทั้งหมดสี่แห่งในสหรัฐอเมริกา (Arizona, Ohio, New Mexico และ Oregon) เพื่อมุ่งไปที่การรับผลิตชิปให้กับซัพพลายเออร์รายอื่นๆ

โดย Intel เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับเงินทุนมูลค่าสูงถึง 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากรัฐบาลไบเดนตามพระราชบัญญัติ Chip & Science Act เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า Intel จะได้รับเงินกู้เพิ่มเติมอีกสูงถึง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับแผนการสร้างโรงงานดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายภายในสิ้นปีนี้

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดระบุว่าการประชุมครั้งล่าสุดระหว่าง Pat Gelsinger ซีอีโอของ Intel และ Gina Raimondo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือร่วมกันถึงการผลักดันการผลิตชิปในประเทศ อีกทั้ง Intel จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นอย่างดีสำหรับแผนการสร้างโรงงานหล่อในสหรัฐฯ 

โดย Raimondo ได้สนับสนุนให้บริษัทชิปรายใหญ่อย่าง Nvidia และบริษัทออกแบบชิป AMD พิจารณาการผลิตที่โรงงานของ Intel ต่อเนื่องจากความพยายามของรัฐบาลในการสนับสนุนให้บริษัทในสหรัฐฯ ลดการพึ่งพา TSMC และหันมาเพิ่มการผลิตภายในประเทศมากยิ่งขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ Raimondo เรียกพบนักลงทุนจำนวนหนึ่งเพื่อเน้นย้ำถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมชิปในประเทศ ตลอดจนการผลักดันให้ Intel ในฐานะผู้ผลิตชิปสหรัฐฯ ที่กำลังเดินหน้าสร้างโรงหล่อให้กลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง ขณะที่ Gelsinger ได้แสดงความผิดหวังต่อ Raimondo ตัวแทนรัฐบาลที่หลายบริษัทในสหรัฐฯ พึ่งพา TSMC ผู้รับผลิตชิปรายใหญ่จากไต้หวัน

ทั้งนี้ยังไม่ชัดเจนว่า Intel จะผลิตชิปรุ่นใดให้กับกองทัพและดูเหมือนว่าประเด็นดังกล่าวจะมีเสียงต่อต้านจากผู้ผลิตชิปรายอื่นๆ ที่กังวลเรื่องการพึ่งพา Intel ของรัฐบาลสหรัฐฯ แม้ว่าบริษัทกำลังเผชิญกับผลประกอบการที่ย่ำแย่ ซึ่งฉุดให้ราคาหุ้นร่วงลงไปกว่า 60% ในปีนี้

อีกทั้งยังมีรายงานว่าการสร้างโรงหล่อซึ่งเป็นเป้าหมายในการสร้างรายได้ใหม่ให้กับบริษัทยังเป็นไปอย่างล่าช้า ต่อเนื่องจากการปรับแผนลดต้นทุน รวมถึงการพิจารณาขายธุรกิจที่ไม่สร้างกำไรออกไป

ข้อตกลงดังกล่าวยังสะท้อนถึงการขาดทางเลือกของรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวคือ Intel กลายเป็นผู้ผลิตและประกอบโปรเซสเซอร์ขั้นสูงเพียงรายเดียวในสหรัฐฯ และที่เหลือเป็นผู้ผลิตจากต่างชาติ ได้แก่ TSMC และ Samsung Electronics ที่กำลังสร้างโรงงานแห่งใหม่ในสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระราชบัญญัติ Chip & Science Act

โดยสถานการณ์ล่าสุดหลังจาก Gelsinger เตรียมนำเสนอแผนการปรับโครงสร้างของบริษัทที่หลายคนให้ความสนใจไปที่การแยกธุรกิจการออกแบบชิปออกจากโรงหล่อในการประชุมบอร์ดที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง CNBC Bloomberg 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์