ข้อมูลใหม่เผยตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดแอปพลิเคชันออนดีมานด์ในไทยโตฉ่ำ บริการเรียกรถและจัดส่งอาหารที่มีมูลค่ารวมกันเติบโตสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 1.68 แสนล้านบาท ดึงดูดผู้ให้บริการลงสนามแข่งขัน ปรับกลยุทธ์พัฒนาการให้บริการเพื่อชิงเค้ก
บทความที่เกี่ยวข้อง
หากกล่าวถึงสนามการแข่งขัน “แอปพลิเคชันออนดีมานด์” ในประเทศไทย ปัจจุบันผู้เล่นสองอันดับแรกหลัก ๆ คือ Grab และ LINE MAN สองเจ้าที่เรียกได้ว่าแข่งขันกันอย่างสูสีเพื่อมอบบริการและสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้า
สำหรับตลาดฟู้ดเดลิเวอรีในปีที่ผ่านมา Grab ยังครองความนิยมแอปฯ ส่งอาหารในหมู่คนไทย รองลงมาคือ LINE MAN โดย Grab ผู้ให้บริการรายใหญ่สัญชาติสิงคโปร์ที่ก้าวลงสนามนี้เป็นรายแรก ๆ ใช้กลยุทธ์อัดโปรโมชันดึงดูดคนเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มจนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไทย และนำพาธุรกิจสามารถถึงจุดที่ทำกำไรก่อนที่จะขยายสู่บริการด้านอื่น ๆ
ในด้านของ LINE MAN Wongnai หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า LINEMAN ที่สามารถตีตื้นขึ้นมาสู้กับ Grab ได้ ด้วยโมเดลธุรกิจที่ผ่านการควบรวมกิจการและเข้าซื้อกิจการอื่น ๆ อย่าง Food Story เพื่อที่จะรุกธุรกิจ POS เพื่อยึดความเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มธุรกิจ Merchant Solutions รวมถึงการรุกธุรกิจ FinTech ผ่านการเข้าซื้อ Rabbit LINE Pay กล่าวคือ LINE MAN สามารถพึ่งพารายได้จากหลายธุรกิจและมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันผู้เข้าแข่งขันรายอื่น ๆ อย่าง Food Panda แม้จะเป็นรายแรกที่เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อปี 2012 แต่ก็ต้องปรับโมเดลธุรกิจและสู้หัวชนฝาไม่น้อยจนต้องประกาศขายกิจการในอาเซียน รวมถึงในไทย
Shopee Food แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งใช้ประโยชน์จากความสามารถของแพลตฟอร์มและฐานผู้ใช้ขยายการให้บริการ หรืออีกรายอย่าง Robinhood ที่เพิ่งประกาศปิดตัวและยุติการให้บริการไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา โดยรวมแล้ว ตลาดดูเหมือนจะบรรจบกันไปสู่โครงสร้างการผูกขาดสองราย โดยมีคู่แข่งรายที่สามที่อาจเกิดขึ้น
โดยล่าสุดพบสถิติใหม่ซึ่งเผยแพร่โดย Redseer Strategy Consultant ที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ชั้นนำ เปิดเผยข้อมูลภายในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้พบการเปลี่ยนแปลงสำคัญของส่วนแบ่งการตลาดซึ่งพบว่า LINE MAN ได้ไต่ขึ้นสู่อันดับหนึ่งที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด 44% แซงหน้า Grab ที่มีส่วนแบ่งการตลาด 40% ตามด้วยอันดับสาม Shopee Food ที่ 10% และกลุ่มอื่น ๆ ที่ลดเหลือลงมาเหลือราว ๆ 6% (Foodpanda และ Robinhood อยู่ในกลุ่มนี้)
ข้อมูลกล่าวถึงศักยภาพของประเทศไทยที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อให้ธุรกิจแอปฯ ออนดีมานด์เติบโตได้อีกอย่างมีนัญสำคัญ โดยระบุว่า ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียนในแง่ของ GDP รองจากอินโดนีเซีย โดยระบุว่า ไทยมีครัวเรือนจำนวน 19 ล้านครัวเรือนที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 168,000 บาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 90% ของกลุ่มประชากรทั้งหมด
ไทยมีกลุ่มประชากรที่มีรายได้ปานกลางเติบโตแข็งแกร่ง ซึ่งสะท้อนถึงกำลังการซื้อโดยรวมที่สูงพอจะตัดสินใจในการใช้จ่ายจิปาถะ เช่น การใช้งานบริการดิจิทัลที่กำลังได้รับความนิยม ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาของเทคโนโลยีโมบายแบงก์กิ้งและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่แพร่หลาย โดยไทยอยู่ในอันดับสามของภูมิภาค การเปรียบเทียบอัตราการเข้าถึงดิจิทัลของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านแสดงให้เห็นถึงช่องว่างที่ยังเติบโตได้อีก จากการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนหรือธุรกิจผู้ให้บริการ
สำหรับบรรยากาศความคึกคักการแข่งขันของผู้ให้บริการแอปฯ ออนดีมานด์ในประเทศไทยที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา พบว่า “ฟู้ดเดลิเวอรี” และ “บริการเรียกรถ” มีมูลค่าธุรกิจรวมกันสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 1.68 แสนล้านบาท ซึ่งยังมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นอีกเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน
ข้อมูลระบุว่า แอปฯ ออนดีมานด์ในไทย “ฟู้ดเดลิเวอรี” กลายเป็นธุรกิจที่นิยมสูงสุด มีอัตราการเติบโตของมูลค่าการทำธุรกรรม (GMV) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการขับเคลื่อนของทั้งอุปสงค์และอุปทาน ได้แก่ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เน้นความสะดวกรวดเร็ว การขยายตัวของเมืองและร้านอาหารเครื่องดื่มที่หลากหลาย โดยมีการคาดการณ์มูลค่า GMV ที่จะเพิ่มขึ้นจาก 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาทในปี 2023 เป็น 7.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 2.4 แสนล้านบาทในปี 2028
สำหรับ “บริการเรียกรถ” มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในอีก 5 ปีข้างหน้า จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์และไรเดอร์ โดยมีการคาดการณ์มูลค่า GMV ที่จะเพิ่มขึ้นจาก 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาทในปี 2023 เป็น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาทภายในปี 2028
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -