วิเคราะห์ความเสี่ยง Nvidia 4 เหตุผลที่อาจทำให้ ราคาหุ้นวิ่งไม่แรงเหมือนเก่า

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

วิเคราะห์ความเสี่ยง Nvidia 4 เหตุผลที่อาจทำให้ ราคาหุ้นวิ่งไม่แรงเหมือนเก่า

Date Time: 30 ส.ค. 2567 17:43 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • การเติบโตอย่างรวดเร็วของ Nvidia จากบริษัทผู้ผลิตชิปธรรมดา สู่การเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก บทความนี้วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จ ความท้าทาย และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงแนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรม AI ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

Latest


ในยุคที่เทคโนโลยี AI กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกธุรกิจและเศรษฐกิจ Nvidia ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการปฏิวัติครั้งนี้ รายการ Digital Frontiers ทางช่อง YouTube: Thairath Money ได้มีการวิเคราะห์เรื่องราวการเติบโตสุดหวือหวา และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นของ Nvidia จากการเติบโตอย่างรวดเร็ว และกระแสความร้อนแรงของ AI สำหรับ Nvidia บริษัทเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในเวลานี้ เพราะมันสามารถแซงเบอร์หนึ่งตลอดกาลอย่าง Apple และตำนานอย่าง Microsoft จนสามารถก้าวขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากสุดในโลกในระยะเวลาอันรวดเร็ว จนอาจกล่าวได้ว่า Nvidia คือ ไอคอนิกของความมั่งคั่งแห่งยุค AI

ความสำเร็จของ Nvidia มาจากความต้องการ GPU ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเพื่อรองรับการพัฒนา AI โดยบริษัทต่างๆ กำลังเปลี่ยนศูนย์ข้อมูลแบบดั้งเดิมไปสู่การประมวลผลแบบเร่งความเร็วโดยใช้ GPU เพื่อทำงานด้าน AI มากขึ้น และโมเดล AI ตอนนี้ไม่ได้หยุดแค่โมเดลภาษาแต่มันกำลังพัฒนาไปสู่การทำงานแบบหลายโหมด ทั้งข้อความ เสียง ภาพ วิดีโอ ดังนั้นต้องการกำลังการประมวลผลที่สูงขึ้น

จากบริษัทที่ก็ไม่ได้หวือหวาอะไร แต่เมื่อปีที่แล้ว ไตรมาสแรกประกาศงบออกมา ทำให้สามารถไต่มาเป็นอันดับที่ 5 ของบริษัทที่มูลค่าสูงสุดของโลกในฐานะบริษัทผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่รายแรก โดยใช้เวลา 24 ปี หลัง IPO ซึ่งเร็วกว่า Apple ที่อยู่อันดับหนึ่งในขณะนี้ ซึ่งใช้เวลา 38 ปี กว่าที่มูลค่าจะแตะระดับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

และหลังจากนั้นเมื่อประกาศงบ ผลงานก็ดีอย่างต่อเนื่อง เติบโตหลักร้อยเปอร์เซ็นต์ จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สามารถตีตื้นขึ้นมาเป็นเบอร์สาม จนในที่สุด Nvidia ขึ้นเป็นบริษัทที่มูลค่าสูงสุดในโลกอันดับสองรองจาก Microsoft ที่ตอนนั้นแซง Apple มาแล้ว และสามารถโค่น Microsoft ขึ้นแท่นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกได้ในเวลาต่อมา แม้ดีมานด์ที่เกี่ยวกับ Nvidia จะเยอะมาก ก็อดคิดไม่ได้ว่ามันคือความบ้าระห่ำเกินจริงในการทุ่มเม็ดเงินมหาศาลของนักลงทุน จนก็มีกระแสออกมาว่ามันคือฟองสบู่ที่รอวันแตก เหมือนกับที่โลกเคยเจอวิกฤติดอทคอมปี 2000 หุ้น AI กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

ข้อมูลจาก JP Morgan วิเคราะห์ออกมาว่า ตั้งแต่ต้นปี 2023 โดยหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ AI ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐ และดัชนีตลาดหุ้นโลกกว่า 30% เลยทีเดียว ซึ่ง Market Cap. ของหุ้นที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นเทคโนโลยี มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 75% ของทั้งตลาด ขยับขึ้นมาเกือบจะเท่ากับวิกฤติ Dot-Com ช่วงปี 2000

AI หนึ่งในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ปฏิวัติวงการมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยผลกระทบของ AI เพิ่งเริ่มปรากฏให้เห็นในผลประกอบการของบริษัทต่างๆ และสามารถบูสต์เศรษฐกิจได้จริง GDP โลกจะเติบโตแบบชนิดที่เรียกว่าไม่เคยมีมาก่อน

ความร้อนแรงของกระแส AI ทำให้เห็นสัญญาณของการเกิดฟองสบู่ในตลาดหุ้น แต่มันยัง ‘กระจุกตัว’ กับกลุ่ม AI โดยเฉพาะ การเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น Nvidia ที่ราวๆ 4,300% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไปเทียบกับกรณีใกล้เคียงกับ Cisco ยุคนั้น เคยพุ่งขึ้นประมาณ 4,500% ในช่วง 5 ปีก่อนที่จะถึงจุดสูงสุดในปี 2000 ยุคนั้น Cisco มุ่งเน้นไปที่การลงทุนสร้าง Router และ Hardware ที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตมากมาย ลักษณะเดียวกันกับ Nvidia ในปัจจุบันที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยี

4 เหตุผลที่อาจทำให้ Nvidia ราคาหุ้นวิ่งไม่แรงเหมือนเก่า

1. คู่แข่งทุ่มเงินมหาศาลไล่บี้ Nvidia

ตลาดคาดหวังให้ Nvidia ครองตลาดชิป AI แทบทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงตอนนี้มันมีคู่แข่งมากมาย อย่าง AMD ทุ่มหมดหน้าตัก ลงทุนหนักมากเพื่อไล่บี้ให้ได้ เพราะล่าสุด AMD ก็เปิดตัวชิปฝึกฝนโมเดลภาษาขนาดใหญ่สำหรับงาน AI โดยเฉพาะ

2. การกระจุกตัวของรายได้

Nvidia พึ่งพารายได้จากลูกค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงในระยะยาว ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า:

- Microsoft คิดเป็นประมาณ 15% ของรายได้ Nvidia
- Meta Platforms (บริษัทแม่ของ Facebook) คิดเป็น 13%
- Amazon คิดเป็น 6%
- Alphabet คิดเป็นประมาณ 6%

และในระหว่างที่เป็นลูกค้า Nvidia อยู่นี้ บริษัทเหล่านี้ก็ทุ่มงบไปกับการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะการซุ่มผลิตชิปประมวลผลของตัวเอง ซึ่งอาจส่งผลต่อรายได้ของ Nvidia ในอนาคต

3. ปัญหาด้านการเมืองจากสงครามชิป

ตอนนี้รัฐบาลทั่วโลกกำลังพิจารณาออกกฎระเบียบควบคุมอุตสาหกรรม AI เนื่องจากมองว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงโลก อย่างอเมริกาก็คุมการส่งออกชิปไปจีน แม้ Nvidia จะมีลูกค้าเป็นจีน แล้วอาศัยปรับแต่งการออกแบบชิปเพื่อให้สามารถจำหน่ายในตลาดจีนได้ภายใต้กฎระเบียบที่มีอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชิปมันก็เป็นสงครามแบบหนึ่ง เพราะใครมีชิปคำนวณข้อมูลได้เยอะกว่า ก็ชนะไป มันเลยถือเป็นความเสี่ยงที่บริษัทจำเป็นต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

4. เงินนักลงทุนจะย้ายที่ลงในการหาผลตอบแทน

แนวโน้มของเงินทุนจะถูกโยกย้ายไปตามระยะของการพัฒนาเทคโนโลยี โดย Goldman Sachs ออกบทวิเคราะห์มาเรื่องของการลงทุนในหุ้น AI ออกเป็น 4 ระยะ

ระยะ 1 จะเป็นเกมของ Nvidia ก่อน

ระยะ 2 ฝั่งของโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI ได้แก่ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและผลิตชิป ผู้ให้บริการคลาวด์ ผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ด้านศูนย์ข้อมูล บริษัทสาธารณูปโภค และผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัย

ระยะที่ 3 จะเป็นการลงทุนกับบริษัทที่สามารถนำ AI มาประยุกต์ใช้กับโปรดักต์ของตัวเอง

ระยะที่ 4 จะเป็นการลงทุนในธุรกิจที่ใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ

โดยสรุปแล้ว การลงทุนใน AI กำลังขยายตัวจากบริษัทเฉพาะทางอย่าง Nvidia ไปสู่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและการใช้งาน AI ในวงกว้างมากขึ้น


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์