ญี่ปุ่น กลับมาเดิมพันในอุตสาหกรรมชิป รัฐบาลหนุนบริษัทเทคฯ เร่งลงทุน หวังชิงส่วนแบ่งตลาดโลก

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ญี่ปุ่น กลับมาเดิมพันในอุตสาหกรรมชิป รัฐบาลหนุนบริษัทเทคฯ เร่งลงทุน หวังชิงส่วนแบ่งตลาดโลก

Date Time: 9 ก.ค. 2567 15:54 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • จากอดีที่เคยมีส่วนแบ่งทางตลาดของอุตสาหกรรมชิปมากกว่า 50% ญี่ปุ่นต้องเจอปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ นโยบายกดดันจากต่างชาติ และขาดแคลนเงินทุน จนมาถึงปี 2017 ที่สัดส่วนในตลาดเหลือเพียง 10% ปัจจุบัน ญี่ปุ่นกำลังเดินหน้าประเทศครั้งใหญ่ เสริมแกร่งให้อุตสาหกรรมชิปโดยรัฐบาล เพื่อผลักดันให้ประเทศสามารถชิงส่วนแบ่งจากตลาดโลกได้อีกครั้ง

Latest


8 ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของญี่ปุ่น Sony Group, Mitsubishi Electric, Rohm, Toshiba, Kioxia Holdings, Renesas Electronics, Rapidus และ Fuji Electric เตรียมแผนลงทุนเพิ่มในตลาดชิป โดยทาง Sony และ Mitsubishi วางงบประมาณการลงทุนจนถึงปี 2029 ไว้ที่ประมาณ 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

การเพิ่มยอดการลงทุน เพื่อที่จะบูสต์ตลาดชิปภายในประเทศ และเพิ่มกำลังในการผลิตชิปกลุ่ม พาวเวอร์เซมิคอนดักเตอร์ เซนเซอร์ชิป และลอจิกชิป ที่เป็นเทคโนโลยีสำคัญในการพัฒนา AI ยานยนต์ไฟฟ้า และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย

จากข้อมูลของกระทรวงการคลังญี่ปุ่น พบว่า ยอดเงินลงทุนในธุรกิจอุปกรณ์สื่อสาร ที่รวมไปถึงธุรกิจผลิตชิป เพิ่มขึ้น 30% มาตลอด 5 ปี จนมีมูลค่าอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 และธุรกิจชิป ยังกลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการลงทุนมากเป็นอันดับ 3 ตามหลังกลุ่มธุรกิจยานยนต์ และกลุ่มเคมีภัณฑ์

ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เดินหน้าลงทุนและเพิ่มยอดการผลิตชิปต่อเนื่อง


Sony Group มีแผนที่จะทุ่มเงินลงทุนเกือบ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2021 ถึง 2026 เพื่อเพิ่มยอดการผลิตเซนเซอร์ภาพ (Image Sensors) ให้ตอบรับกับการเพิ่มขึ้นของกล้องสมาร์ทโฟน และจะขยายไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกด้วย นอกจากนี้ ทาง Sony กำลังขยายโรงงานไปตั้งที่ นางาซากิ และ คุมาโมโตะ

ด้านของ Toshiba และ Rohm ก็กำลังมีแผนรองรับการเติบโตของ AI, Data Center และ EV โดยได้ลงทุนไปแล้วกว่า 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทาง Toshiba เตรียมเพิ่มการผลิตอุปกรณ์ซิลิคอนเพาเวอร์ (Silicon Power Devices) ในโรงงานตัวเอง ขณะเดียวกันทาง Rohm จะเพิ่มไลน์การผลิตอุปกรณ์กลุ่มซิลิคอนคาร์ไบด์เพาเวอร์ (Silicon Carbide Power Devices) เช่นกัน

และในฝั่งของ Mitsubishi Electric ก็เตรียมที่จะเพิ่มการผลิตในอุปกรณ์ซิลิคอนคาร์ไบด์เพาเวอร์ อีก 5 เท่า ภายในปี 2026 และเตรียมที่จะลงทุนกว่า 621 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มฐานการผลิตในคุมาโมโตะในอนาคต เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งจากเยอรมนี อย่าง Infineon Technologies ที่ปัจจุบันเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่น เดินหน้าสนับสนุนเงินลงทุนให้ธุรกิจชิป


ย้อนกลับไปในปี 1988 ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ถือสัดส่วนในตลาดชิปอยู่มากถึง 50% แต่หลังจากปี 1990 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นต้องประสบกับปัญหาจากนโยบายที่ทำร่วมกับสหรัฐอเมริกาใน “ข้อตกลงด้านเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างญี่ปุ่น-อเมริกา” ส่งผลให้ต้องปรับด้านราคาสินค้าและต้องเปิดตลาดให้บริษัทจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว เกาหลีใต้และไต้หวันก็ได้หันมาลงทุนในด้านนี้มากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลของแต่ละประเทศยังเดินหน้าสนับสนุนอย่างจริงจังทำให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดนี้แทนญี่ปุ่น และด้วยความนิยมใน PCs ทำให้ความต้องการในชิปสำหรับคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น แต่ตลาดชิปสำหรับ PCs กลับไม่ได้เป็นของญี่ปุ่น เนื่องจากตลาดหลักของญี่ปุ่นคือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ นั่นเอง 

ด้วยเงินลงทุนที่มีจำนวนจำกัด และขาดการสนับสนุนจากทางรัฐบาล ส่งผลให้ญี่ปุ่นเริ่มถอยห่างจากการลงทุนในเทคโนโลยีอัจฉริยะ จนในปี 2017 สัดส่วนของตลาดชิปลดลงมาอยู่ที่ไม่ถึง 10%

ต่อมาในช่วงปี 2020 ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้ยกเอาเรื่องของเซมิคอนดักเตอร์มาเป็นประเด็นในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และด้วยการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบซัพพลายเชน ทำให้ญี่ปุ่นต้องเร่งรักษาฐานการผลิตชิปในประเทศ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมดิจิทัล

โดยทางรัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมที่จะเข้าร่วมลงทุนในการพัฒนาชิป โดยมีแผนลงทุนใน Rapidus กว่า 5.7 พันล้านดอลลาร์ เพื่อให้ Rapidus ไปทำวิจัยและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ทันสมัยขนาด 2 นาโนมิเตอร์ ซึ่ง Rapidus จะเริ่มต้นผลิตในปี 2027 และในอนาคตอาจจะมีการเพิ่มทุนในการพัฒนาชิปอีกด้วย

นอกจากนี้ ทางกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ยังมีการตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตในประเทศไปเป็น 9.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 ซึ่งรวมไปถึงชิปของผู้ผลิตต่างชาติ อย่าง TSMC ด้วย

รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้มีการจัดสรรงบประมาณไว้กว่า 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับปี 2021-2023 โดยจะแบ่งงบกว่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐไปลงในธุรกิจชิปทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งงบประมาณทั้งหมดนี้ที่ญี่ปุ่นเตรียมไว้เป็นยอดที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเมื่อเทียบกับสัดส่วน GDP

ในปี 2023 ส่วนแบ่งทางตลาดในแง่ของยอดขายของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในญี่ปุ่นอยู่ที่ 8.68% ซึ่งเป็นการเติบโตครั้งแรกในรอบ 7 ปีของญี่ปุ่น และมีโอกาสจะเติบโตขึ้นอีกหลังปี 2024


อ้างอิง : Nikkei AsiaSHMJ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ