สำรวจเบื้องหลังอุตสาหกรรมชิปโลก ใครเป็นใครกันบ้าง?

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สำรวจเบื้องหลังอุตสาหกรรมชิปโลก ใครเป็นใครกันบ้าง?

Date Time: 28 มิ.ย. 2567 19:19 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • จากการเติบโตของ AI และ Data Center ทั่วโลก ทำให้ธุรกิจผู้ผลิตชิปเติบโตไปตามๆ กัน และการจะผลิตชิปออกมาได้สัก 1 ชิ้นนั้นก็ต้องอาศัยการทำงานจากหลายฝ่าย และในบทความนี้ Thairath Money จะพาไปสำรวจเบื้องหลักอุตสาหกรรมชิป ว่ามีใคร และเกี่ยวข้องอย่างไรในการผลิตชิปบ้าง

Latest


เคยสงสัยไหมว่า ชิปที่อยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ กว่าที่ออกมาเป็นชิป 1 ชิ้น ต้องผ่านอะไร และมีใครเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ ที่ทรงพลังถึงขั้นเปลี่ยนโลกได้ 

Thairath Money จะพาสำรวจเบื้องหลังอุตสาหกรรมชิปโลก โอกาสของธุรกิจยุค AI ที่ไม่ได้มีแค่ Nvidia เท่านั้น แต่ยังมีผู้เล่นอีกมากมายที่เติบโตไปพร้อมๆ กัน โดยเราจะพาไปแยกย่อยกันว่าผู้เล่นในอุตสาหกรรมชิปว่ามีใครอยู่จุดไหนกันบ้าง 

ก่อนอื่นเรามารู้จักการแบ่งประเภทของชิป (Types of Chip) ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 

  1. ชิปดิจิทัล (Digital) เป็นชิปที่ใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่จะดำเนินการบนระบบเลขฐานสอง จะมีตั้งแต่ ระบบประมวลผล ไปจนถึงหน่วยความจำสำหรับเก็บข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น GPUs ชิปของ Nvidia ที่จะทำหน้าที่ประมวลผลกราฟิก หรือ CPUs ชิปของ Intel ที่ใช้ในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์

  2. ชิปอนาล็อก (Analog) เป็นชิปที่จะประมวลผลและแสดงสัญญาณ อย่างเช่น เสียง แสงไฟ หรือวัดอุณหภูมิ เป็นต้น

และในขั้นตอนการผลิตชิป จนกว่าจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ ให้เราได้ใช้กัน จะสามารถแบ่งขั้นตอนการผลิตได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ งานออกแบบ (Design) และงานผลิต (Manufacturing) ดังนี้

งานออกแบบ (Design)

ในฝั่งของงานออกแบบ จะเรียกกลุ่มนี้ว่า Fabless คือ บริษัทผู้ออกแบบและพัฒนาชิป แต่ไม่ได้ทำการผลิตเอง จะเน้นไปที่การวิจัยและพัฒนา (R&D) และจะไปว่าจ้างบริษัทอื่นๆ ในการประกอบและผลิตชิปออกมา ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้การผลิตให้กับบริษัทผู้ออกแบบ 

โดยบริษัทผู้ออกแบบเหล่านี้ จะมีทั้งที่ออกแบบชิปเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป และบางเจ้าออกแบบเพื่อมาใช้ในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น

บริษัทออกแบบชิปโดยตรง (Fabless Chip Firms)

  • Nvidia ผู้ออกแบบชิป GPUs (Graphics Processing Unit) รายใหญ่ระดับโลก เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน ปัจจุบันกินส่วนแบ่งทางตลาดของอุตสาหกรรมชิปอยู่มากถึง 80% เนื่องจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างก็เป็นลูกค้าของ Nvidia โดยมูลค่าทางตลาดของ Nidia อยู่ที่ 2.905 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • AMD บริษัทผู้ออกแบบชิปสัญชาติอเมริกัน ที่ออกแบบตั้งแต่ GPUs ชิปสำหรับ AI ไปจนถึงระบบสำหรับสร้างแอปพลิชัน ปัจจุบันมีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 2.59 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • Qualcomm อีกหนึ่งผู้ออกแบบชิปสัญชาติอเมริกัน ที่ออกแบบชิปสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิส์ ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน IoT ยานยนต์ และ AI ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 2.24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • Broadcom ผู้ออกแบบชิปสัญชาติอเมริกัน สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้ง Data Center บริการทางการเงิน ระบบความปลอดภัย และอุตสาหกรรมยานยนต์ ปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 7.41 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังมีลูกค้าหลักเป็นกลุ่มบริษัทเทค อย่างเช่น Samsung, Amazon, Asus, Dell และ Lenovo

  • MediaTek ผู้ออกแบบชิปจากไต้หวัน ออกแบบชิปสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ ทีวี และอื่นๆ ปัจจุบันมีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทที่ไม่ใช่ผู้ผลิตชิป แต่ออกแบบชิปใช้เอง (Fabless Non-Chip Firms)

  • Apple ผู้เล่นในสนามชิปสัญชาติอเมริกัน ที่ได้ออกแบบชิปเพื่อใช้งานกับอุปกรณ์ของ Apple เอง ประกอบไปด้วย M1, M2, M3 และปัจจุบันเพิ่งเปิดตัว M4 ออกมา ซึ่งชิปของ Apple จะใช้โครงสร้างสถาปัตยกรรมของ ARM เป็นหลัก และตอนนี้ Apple มีมูลค่าตามตลาดอยู่ที่ 3.19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่าเป็นอันดับที่ 2 ของโลก

  • Tesla อีกหนึ่งบริษัทสัญชาติอเมริกันที่น่าสนใจที่ได้มีการวิจัยและออกแบบชิปเป็นของตัวเอง อย่าง D1 ชิปในโปรเจกต์ Dojo โดยชิป D1 นี้เป็น CPU ที่จะมาใช้ในการเทรน AI ของ Tesla เอง ปัจจุบันมีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 5.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • IBM บริษัทเทคโนโลยีอีกเจ้าจากสหรัฐอเมริกาที่ลงเล่นในสนามผู้ออกแบบชิป โดยเมื่อปลายปี 2023 ได้เปิดตัว NorthPole โครงสร้างพื้นฐานบนชิป AI ที่ออกแบบมาให้ทำงานอย่างรวดเร็ว ฉลาดเหมือนสมองมนุษย์ และใช้พลังงานน้อยลง ซึ่งปัจจุบัน IBM มีมูลค่าตามตลาดอยู่ที่ 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • Meta เจ้าของ Facebook, Instagram และ Whatsapp ที่กำลังเดินหน้าพัฒนา AI อย่างโมเดล Llama โดยทาง Meta ได้มีการออกแบบชิปเอง Meta Training and Inference Accelerator (MTIA) สำหรับเทรน AI เพื่อลดต้นทุนที่ใช้ซื้อชิปจากผู้ผลิตรายอื่น ซึ่งมีราคาสูง ปัจจุบันนี้ Meta มีมูลค่าตามตลาดอยู่ที่ 1.27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • Google ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่หันมาออกแบบชิปเอง เพื่อแก้ปัญหาต้นทุนที่สูงจากการจ้างเจ้าอื่นให้ออกแบบให้ โดย Trillium คือ ชิปที่ประมวลผล AI ที่ทำงานได้รวดเร็วขึ้น โดยในปัจจุบัน Google มีมูลค่าตามตลาดอยู่ที่ 2.22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีมูลค่าสูงสุดเป็นลำดับที่ 4 ของโลก

นอกจากนี้ ภายใต้การออกแบบชิป ยังมีบริษัทที่เป็นผู้ออกแบบซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และ IP ให้กับบริษัทผู้ออกแบบตามที่กล่าวมาข้างต้น ยกตัวอย่างเช่น

  • ARM ผู้ออกแบบแกนประมวลผลสัญชาติอังกฤษ สำหรับใช้ออกแบบชิปเพื่อไปใช้ในอุปกรณ์ต่างๆ ทั้ง AI, IoT ยานยนต์ โครงสร้างพื้นฐาน และอื่นๆ อีกมากมาย โดยปัจจุบัน ARM มีมูลค่าตามตลาดอยูที่ 1.58 แสนล้านดอลลาร์

  • Synopsys บริษัทสัญชาติอเมริกัน ผู้ออกแบบอินเตอร์เฟซ, IP พื้นฐาน และ Physical IP ซึ่งปัจจุบันบริษัทนี้มีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 9.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • Cadence บริษัทผู้ออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์สัญชาติอเมริกัน โดยออกแบบสำหรับบริษัทเทคต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงบริษัทผู้ออกแบบชิป และปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 8.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

งานผลิต (Manufacturing)

งานด้านการผลิตจะเป็นส่วนที่ยากที่สุด ถึงขั้นที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ไม่มีการผลิตของอุตสาหกรรมไหนยากเท่านี้แล้ว โดยแหล่งที่ผู้ผลิตชิปส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในไต้หวัน 

ในสายของงานผลิต จะมีบริษัทต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็น Foundries หรือผู้ผลิตชิป ซึ่งจะมีผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ให้กับ Foundries และเมื่อทำการผลิตเสร็จจะต้องมีการทดสอบ ออกแบบแพ็กเกจจิ้ง และประกอบชิป ซึ่งบริษัทที่อยู่ในขั้นของการผลิตจะประกอบไปด้วย

บริษัทผู้ผลิตชิป (Foundries)

  • TSMC บริษัทผู้ผลิตชิปเจ้าใหญ่จากไต้หวัน โดยมีรัฐบาลไต้หวันเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ปัจจุบัน TSMC รับผลิตชิปให้กับบริษัทใหญ่ๆ หลายรายรวมไปถึง Nvidia และมีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 8.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • GlobalFoundries ผู้ผลิตชิปจากสหรัฐอเมริกา โดยเป็นบริษัทที่ผลิตให้กับลูกค้าทั่วโลก ตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงชิปสำหรับ AI และ Data Center ปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • SMIC บริษัทผู้ผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดและเป็นเจ้าเดียวในประเทศจีน ผลิตชิปให้กับบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Huawei และยังเคยถูกทางการสหรัฐฯ แบนเมื่อปี 2020 ปัจจุบัน SMIC มีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • Samsung ได้มีการแยกย่อยบริษัทออกมาเป็น Samsung Foundry เพื่อออกแบบและผลิตชิปให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่อุตสาหกรรมการผลิตไปจนถึงการแพทย์ โดยตลาดชิปความจำของ Samsung ถือส่วนแบ่งในตลาดอยู่มากถึง 38% เลยทีเดียว ปัจจุบัน Samsung Group มีมูลค่าตามตลาดอยู่ที่ 3.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับผู้ผลิตชิป (Semiconductor Equipment Firms)

  • ASML บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรัยการผลิตชิปจากเนเธอแลนด์ โดยบริษัทนี้ผลิตตั้งแต่ ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ไปจนถึงบริการต่างๆ ที่ผู้ผลิตชิปต้องการ ปัจจุบัน ASML มีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 4.06 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • KLA บริษัทผู้พัฒนาและผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับผู้ผลิตชิปจากสหรัฐอเมริกา โดย KLA จะผลิตเครื่องมือให้กับอุตสาหกรรมไม่ใช่เพียงผู้ผลิตชิปอย่างเดียว ปัจจุบัน KLA มีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ประมาณ 1.07 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • Lam Research บริษัทจากสหรัฐอเมริกา ที่ทำงานร่วมกับบริษัทผู้ผลิตชิปเจ้าอื่นๆ ภายใต้ความร่วมมือ และส่งมอบเทคโนโลยี ระบบวิศวกรรม โดยปัจจุบัน Lam มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • Tokyo Electron บริษัทจากญี่ปุ่น เป็นผู้ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับผู้ผลิตชิป ซึ่งปัจจุบัน TEL มีมูลค่า 9.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • Nikon บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์และทำ R&D จากญี่ปุ่น ซึ่ง Nikon ปัจจุบันรับผลิตให้กับหลายๆ อุตสาหกรรม รวมไปถึงธุรกิจชิปด้วย โดยตอนนี้บริษัทมีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 3.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • Applied Materials บริษัทผู้ผลิตและบริการโซลูชันด้านวัสดุวิศวกรรมกับอุตสาหกรรมชิป และ Data Center ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 1.92 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทผู้ทดสอบ ออกแบบแพ็กเกจจิ้ง และประกอบชิป (Semiconductor Testing, Packaging, and Assembly Firms)

  • Foxconn หรือ Hon Hai Technology Group เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์จากไต้หวัน โดยมี AI, Semiconductor และเทคโนโลยีสื่อสารเป็นแกนหลักของการพัฒนาเทคโนโลยี ปัจจุบัน Foxconn มีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • Amkor Technology บริษัทจากเกาหลีใต้ ที่ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ให้บริการประกอบและทดสอบ Semiconductor ซึ่งมีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 9.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

และในกลุ่มของบริษัทผู้ผลิตชิป ยังมีอีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญที่จะทำให้กระบวนการชิปเสร็จสมบูรณ์คือ กลุ่มบริษัทผู้ที่นำชิปมาใช้ประกอบเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องมืออื่นๆ ที่เป็นขั้นสุดท้ายก่อนจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานจริงและซื้อขายกันในตลาด ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะนำชิปไปใช้ประกอบเป็น Devices ที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ AI ยานยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึง Data Center ยกตัวอย่างบริษัทในกลุ่มนี้ เช่น

  • Intel บริษัทผู้ออกแบบและผลิตฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์จากสหรัฐอเมริกา โดยนำชิปมาบูรณาการเข้ากับเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมไปถึงคลาวด์ คอมพิวเตอร์ AI, Edge และอื่นๆ ปัจจุบัน Intel ยังคงเป็นเจ้าตลาด CPU ของ PC และมีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • Micron บริษัทผู้พัฒนาชิปความจำ โดยส่วนใหญ่ชิปของ Micron จะถูกนำไปใช้ในคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง Micron เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน ที่มีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 1.58 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • Texas Instruments บริษัทผู้ออกแบบและผลิตชิป สัญชาติอเมริกัน โดยส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์ของ Texas Instruments จะเป็นชิปอนาล็อก ที่สามารถนำไปบูรณาการณ์กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้หลากหลาย โดยบริษัทมุ่งพัฒนาให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงชิปที่มีราคาต่ำลง ปัจจุบันมีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 1.76 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังเป็นบริษัทเก่าแก่ที่ผลิตชิปอนาล็อก ซึ่งมีส่วนแบ่งในตลาดนี้มากที่สุดเป็นอันดับ 1

  • SK Hynix บริษัทเทคโนโลยีจากเกาหลีใต้ ผู้พัฒนาและจำหน่ายชิปและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง เซนเซอร์ AI เซิร์ฟเวอร์ โทรศัพท์มือถือ และ PC เป็นต้น โดยปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 1.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • NXP ผู้พัฒนาและออกแบบชิปจากเนเธอร์แลนด์ สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดย NXP มีส่วนแบ่งรายได้หลักๆ มากจากการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ชิปที่ออกแบบและผลิตเอง ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • Analog Devices Incorporated หรือ ADI บริษัทผู้ออกแบบระบบและพัฒนาโซลูชันทางเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ในรูปแบบของชิปอนาล็อก ชิปดิจิทัล และซอฟต์แวร์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทถือเป็นเจ้าตลาดอันดับที่ 2 ในด้านชิปอนาล็อกรองจาก Texas Instrument และมีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 1.13 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Apple และ Samsung ที่นำชิปที่ออกแบบเองมาใช้ในอุปกรณ์ของตัวเอง ทั้ง โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และแล็ปท็อป ซึ่งทั้ง 2 บริษัท เป็นเจ้าครองตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าทุกบริษัทที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ล้วนมีความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในโลกของเราเป็นอย่างมาก ซึ่งทั้งหมดเป็นบริษัทรายใหญ่ที่มีมูลค่าในตลาดติด 300 อันดับแรกของโลกแทบทั้งสิ้น

อ้างอิง: Generative Value, CompaniesMarketcap, ข้อมูลจากเว็บไซต์บริษัทต่างๆ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ