สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานคาดการณ์จาก iiMedia Research ที่พบว่าในปี 2023 ตลาดฟู้ดเดลิเวอรีจีนมีมูลค่าสูงถึง 1.5 ล้านล้านหยวน (หรือประมาณ 7.4 ล้านล้านบาท) สูงขึ้น 2.3 เท่าจากปี 2020 ขณะที่บริษัท Guolian Securities คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 ตลาดฟู้ดเดลิเวอรีจีนอาจมีมูลค่าทะลุ 2.2 ล้านล้านหยวน (หรือประมาณ 10.9 ล้านล้านบาท)
อย่างไรก็ตามแม้บริการจัดส่งอาหารจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในจีน แต่คนส่งอาหารหรือไรเดอร์ยังประสบภาวะที่ยากลำบาก
สำนักข่าว Nikkei Asia ได้ยกตัวอย่างชายชาวจีนอายุ 19 ปีซึ่งเป็นพนักงานส่งอาหารของแอปฯ Meituan ในเมืองกวางโจวโดยทำรายได้ในการจัดส่งต่อรอบอยู่ที่ 7 หยวน (หรือประมาณ 34.9 บาท) และจัดส่งได้ประมาณ 30 ออเดอร์ต่อวัน
ชายผู้นี้มีรายได้สุทธิต่อเดือนอยู่ที่ประมาณไม่ต่ำกว่า 4,000 หยวน (หรือประมาณ 1.9 หมื่นบาท) หักลบค่าเช่าที่พักและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งเป็นอัตรารายได้ที่อยู่ในระดับเดียวกันหรือต่ำกว่าการทำงานในโรงงานละแวกใกล้เคียงเล็กน้อย นอกจากนี้บริษัทยังอนุญาตให้หยุดงานได้เพียงสองวันต่อเดือน
และจากการสำรวจที่จัดทำโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไรแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งในปี 2021 ได้สอบถามพนักงานเดลิเวอรีในเมืองต่างๆ ทั่วทั้งจีนมากกว่า 300 คน และพบว่า กว่า 40% ของพนักงานระบุว่าในหนึ่งเดือนพวกเขาไม่มีวันหยุดเลย ซึ่งประเด็นชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานประกอบกับค่าแรงที่ต่ำยังคงเป็นปัญหาของอุตสาหกรรมเดลิเวอรีในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีการระบุว่าระบบโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Nets) ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากพนักงานเดลิเวอรีหลายรายไม่มีสัญญาจ้าง ตลอดจนประกันค่ารักษาพยาบาลหรือประกันการว่างงาน
ขณะเดียวกัน แม้ว่าแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีจีนอย่าง Meituan และ Ele.me จะเสนอสวัสดิการให้กับพนักงานส่งอาหารแต่ก็ยังคงไม่เพียงพอ โดยในการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ในเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา ผู้แทนบางส่วนได้เสนอให้มีการปรับปรุงสภาพการทำงาน
ทั้งมีการเรียกร้องให้แพลตฟอร์ม Meituan แก้ไขอัลกอริทึมที่บีบให้พนักงานจัดส่งอาหารแบบด่วน และนับตั้งแต่นั้นมา รัฐบาลจีนก็ได้เพิ่มการกำกับดูแลโดยระบุให้บริษัทต่างๆ มีมาตรการปกป้องสิทธิของพนักงานจัดส่งอาหารด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney