ส่องแผนงาน Google ลงทุนไทย หลังเซลส์แมนเศรษฐาปิดดีลสำเร็จ คาดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 1.4 แสนล้านบาท

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ส่องแผนงาน Google ลงทุนไทย หลังเซลส์แมนเศรษฐาปิดดีลสำเร็จ คาดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 1.4 แสนล้านบาท

Date Time: 16 พ.ย. 2566 16:12 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และ Google บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ประกาศความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย และเร่งขับเคลื่อนการเกิด AI ผ่านการทำงานร่วมกันใน 4 ประเด็นสำคัญที่มีส่วนผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้เติบโต

Latest


หลังการเข้าพบระหว่างนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และผู้บริหารบริษัท Google ณ โรงแรม เดอะริทซ์-คาร์ลตัน นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลไทยและบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกได้ประกาศความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย และเร่งขับเคลื่อนนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้เกิดขึ้น

ภายใต้ความตกลงในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายจะมีการทำงานร่วมกันเพื่อวางรากฐาน 4 เสาหลักที่จำเป็นต่อการส่งเสริมให้เศรษฐกิจ AI ของไทยเติบโต โดยเป็นการต่อยอดการลงทุนของ Google ในไทยตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา และในปี 2565 ผลิตภัณฑ์และโครงการต่างๆ ของ Google ได้ทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศกว่า 250,000 ตำแหน่ง และสร้างมูลค่าแก่ภาคธุรกิจไทยถึง 4.3 พันล้านดอลลลาร์ (หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท)

นายกฯ เศรษฐา ได้กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า "ความร่วมมือกับ Google เป็นก้าวสำคัญเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการปรับปรุงภาคส่วนต่างๆ ที่มีความสำคัญกับประชาชนชาวไทย ธุรกิจ และนักลงทุน ด้วยการลงทุนผ่านนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policies) พร้อมกับการสร้างไซเบอร์สเปซที่ปลอดภัย" 

"ความเชี่ยวชาญและการลงทุนจาก Google ในด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมถึงการวิจัยทางด้านการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ การพัฒนาทักษะทางดิจิทัล และการรักษาความปลอดภัยของแพลตฟอร์มในระดับโลกจะช่วยให้ประเทศไทยทะยานสู่การเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพิ่มโอกาสสร้างงานที่มีมูลค่าสูง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน"

ด้าน รูธ โพรัท (Ruth Porat) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนของ Alphabet กล่าวว่าการร่วมมือกับรัฐบาลในครั้งนี้ Google มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย และเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่ใช้ระบบคลาวด์เป็นหลัก ตอกย้ำพันธกิจของ Google ประเทศไทย ภายใต้แนวคิด Leave no Thai Behind 

และภายใต้ความร่วมมือนี้ Google จะร่วมกับรัฐบาลเพื่อพัฒนาการให้บริการภาครัฐแก่ประชาชนและขยายการใช้งานเทคโนโลยี AI ด้วย Google Cloud และที่สำคัญคือช่วยให้คนไทยมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านการเสริมทักษะและการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ และมีนวัตกรรมเพื่อประชาชนและธุรกิจ 

วางรากฐาน 4 ด้านสำคัญ ผลักดันโครงสร้างดิจิทัลไทย

สำหรับเสาหลัก 4 ด้านเพื่อเดินหน้าส่งเสริมประเทศไทยให้เติบโตในเศรษฐกิจ AI ประกอบไปด้วย

1. การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทย 

Google กำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลใหม่ภายในประเทศเพื่อขับเคลื่อนบริการดิจิทัลซึ่งก่อนหน้านี้ Google Cloud ได้ประกาศแผนก่อตั้ง Cloud Region แห่งแรกในไทย และหากเปิดให้บริการจะทำให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ของไทยเข้าถึงเทคโนโลยีของ Google Cloud มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยรองรับการขยายการบริการด้านดิจิทัลได้มากขึ้น เพิ่มความน่าเชื่อถือ และรวดเร็วกว่าเดิม

พร้อมคาดการณ์ว่าการก่อตั้ง Cloud Region ในประเทศไทยจะช่วยยกระดับผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยได้มากกว่า 4.1 พันล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาท) และสร้างงานอีกกว่า 50,000 ตำแหน่งในปี พ.ศ. 2573

2. การเร่งให้เกิดการใช้ AI ในภาครัฐ และสร้างไซเบอร์สเปซที่มั่นคง

รัฐบาล และ Google จะริเริ่มโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและใช้ AI อย่างกล้าหาญและมีความรับผิดชอบภายในกระทรวง หน่วยงานภาครัฐ และอุตสาหกรรมที่สำคัญต่างๆ ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) และ Google Cloud จะร่วมกันศึกษาแนวทางการใช้งาน Generative AI และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Google Cloud โดยจะให้ความสำคัญกับการให้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ ทั้งเทคโนโลยีด้านการเงิน รวมถึงการพัฒนาภาคสาธารณสุข การศึกษา และการขนส่งมวลชนเป็นความสำคัญอันดับแรก

นอกจากนี้ Google จะให้การสนับสนุนด้านความเชี่ยวชาญทางนโยบายรวมไปถึง Secure AI Framework ของ Google เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับระบบ AI พร้อมกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และร่วมกันศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการก่อตั้ง National CyberShield Alliance ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสามารถใช้ระบบอัตโนมัติ การวิเคราะห์ ระบบข่าวกรองภัยคุกคาม และ AI ร่วมกันเพื่อตรวจหา ตรวจสอบ และร่วมกันป้องกันการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศด้วยวิธีการที่ซับซ้อน 

3. การวางนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลักในประเทศไทย

Google Cloud จะสนับสนุนการพัฒนานโยบาย Go Cloud-first ของกระทรวงดิจิทัลฯ โดยจะให้ความช่วยเหลือด้านนโยบายและความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถส่งมอบโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มีความยืดหยุ่น ประหยัดค่าใช้จ่าย และขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมให้แก่ประเทศ 

ตอกย้ำความพยายามของรัฐบาลในการให้ความสำคัญกับการใช้บริการคลาวด์ที่ดีที่สุดในการดำเนินการ โดยยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวระหว่างประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ยังมีแผนจะร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อระบุประเภทของข้อมูลที่อาจจำเป็นต้องจัดเก็บใน Google Distributed Cloud Hosted ซึ่งเป็นคลาวด์ที่มีความเป็นส่วนตัวและมีมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยที่ตัดขาดการเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์แบบ (Fully air-gapped)

4. การทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัล และระบบคลาวด์ได้มากขึ้น

Google ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลฯ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มอบทุนการศึกษาสำหรับใบรับรองทักษะอาชีพของ Google เพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน ภายใต้โครงการ Samart Skills ที่เปิดตัวครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งจะมียอดรวมทั้งสิ้น 34,000 ทุน เพื่อช่วยให้คนไทยได้พัฒนาทักษะพร้อมรับใบรับรองทักษะอาชีพสำหรับงานระดับเริ่มต้นในสาขาที่มีความต้องการสูงอย่างเช่น การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ การวิเคราะห์ข้อมูล การสนับสนุนด้านไอที และอีคอมเมิร์ซและการตลาดดิจิทัล โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

Google Cloud ยังมอบหลักสูตร "Introduction to Generative AI Path" ให้แก่บุคคลทั่วไปโดยไม่มีค่าใช้จ่ายผ่านโครงการ Google Cloud Skills Program ซึ่งประกอบด้วยหลักสูตรออนไลน์ที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจความแตกต่างระหว่าง GenAI กับ AI ประเภทอื่น และการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งผู้เรียนที่สำเร็จหลักสูตรการเรียนรู้นี้จะได้รับใบรับรองเพื่อเป็นสิ่งยืนยันความรู้ความเข้าใจขั้นพื้นฐานในเรื่อง GenAI

อ้างอิง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ