Grab Holdings รายงานผลดำเนินการไตรมาส 3 ปี 66 สิ้นสุด ณ เดือนกันยายน ทำรายได้ 615 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไร EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ย) อยู่ที่ 29 ล้านดอลลาร์ ซึ่งพลิกฟื้นจากขาดทุน 161 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับเป็นการทำกำไรครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งมา 11 ปี
การประกาศกำไรในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในความพยายามของ Grab ในการพิสูจน์ให้นักลงทุนเห็นว่าสามารถสร้างรายได้ได้ แม้ว่า Grab จะเป็นผู้นำตลาดเดลิเวอรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังต้องเผชิญกับการเผาเงินจำนวนมากท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดเช่นเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ Grab เผชิญกับการเติบโตของรายได้ที่ชะลอตัวทำให้ปรับแนวทางมุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการทำกำไรและการควบคุมต้นทุน
ทำให้บริษัทสามารถรักษาเงินสดไว้ได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดโปรโมชันผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการลดการจ้างงานและเลย์ออฟพนักงานไปกว่า 11% หรือประมาณ 1,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเลิกจ้างรอบใหญ่ที่นับตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
อย่างไรก็ตามในฝั่งผู้ใช้มีความต้องการใช้งานบริการเดลิเวอรีที่เพิ่มขึ้น ทั้งการเรียกรถและสั่งอาหารบนแพลตฟอร์ม โดยจำนวนผู้ใช้ต่อเดือนบนแพลตฟอร์มพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 36 ล้านราย มูลค่าสินค้ารวมเพิ่มขึ้น 30% จากอุปทานของคนขับที่เพิ่มขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค ส่งผลให้ Grab สามารถตอบรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้
ด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามา อาทิ GrabUnlimited ระบบสมัครสมาชิกที่ในช่วงไตรมาสดังกล่าว สมาชิก GrabUnlimited ใช้จ่ายด้านบริการจัดส่งอาหารเพิ่มขึ้น 4.2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้สมัคร
ด้าน Peter Oey ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน เปิดเผยว่า เป้าหมายถัดไปของ Grab คือ การรักษากระแสเงินสดอิสระ (Free-cash flow) โดยอ้างว่า Grab จะบรรลุกระแสเงินสดที่เป็นบวกเป็นหนึ่งภายในปลายปีหน้า โดยหวังว่าการเพิ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะสามารถดึงดูดผู้ใช้มากขึ้น
อ้างอิง Bloomberg