Tech & Innovation

Startup

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Robinhood ปิดตัว! บทเรียน ใจดีจนเจ๊ง 4 ปี ขาดทุน 5.5 พันล้าน ทำไม Food Delivery ถึงปราบเซียน?

Robinhood ปิดตัว! บทเรียน ใจดีจนเจ๊ง 4 ปี ขาดทุน 5.5 พันล้าน ทำไม Food Delivery ถึงปราบเซียน?

Date Time: 26 มิ.ย. 2567 10:09 น.

Summary

  • Robinhood ปิดตัว! บทเรียนธุรกิจ “ใจดีจนเจ๊ง” 4 ปี ขาดทุนรวมกว่า 5.5 พันล้านบาท วิเคราะห์ทำไม Food Delivery ถึงเป็นธุรกิจปราบเซียน รอดยากหากครองตลาดไม่ได้...

นับว่าเป็นข่าวที่น่าใจหายไม่น้อยกับการประกาศปิดตัวแอปฯ Robinhood ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น. ที่จะถึงนี้ ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ก็พ่วงตำแหน่งแฟนคลับที่มีความชื่นชอบแบรนด์ไปด้วย เนื่องจากบริการดี ราคาเป็นธรรมกว่าแอปฯ อื่นๆ แถมยังมีร้านสตรีทฟู้ด ร้านท้องถิ่น ร้านขนาดเล็ก ให้เลือกมากมาย 

การเกิดขึ้นของ Robinhood มาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด แน่นอนว่าในขณะนั้นเป็นจังหวะที่เหมาะสมของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่มาก เพราะมีดีมานด์ที่สูง โดย Robinhood เปิดตัวมาด้วยการมาพร้อมวิสัยทัศน์ว่า “แอปฯ เพื่อคนตัวเล็กที่ยั่งยืน” ซึ่งถ้าได้อ่านจดหมายอำลาจะเห็นได้ว่า การเกิดขึ้นของ Robinhood มาพร้อมกับความตั้งใจในการช่วยเหลือคนตัวเล็กไปด้วย ซึ่งมีความโดดเด่นเรื่องความแฟร์กับผู้ใช้ทั้งฝั่งร้านค้า และผู้ใช้บริการ ด้วยการไม่มีนโยบายเก็บ GP แต่อย่างใด 

Robinhood ใจดีขนาดนี้จากการสนับสนุนทางการเงินอย่างเต็มที่จากกลุ่ม SCBX มาเป็นเวลากว่า 4 ปี โดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 4 ปี ของแอปฯ Robinhood ภายใต้บริษัท เพอเพิล เวนเจอร์ จำกัด มีดังนี้ 

ปี 2563 รายได้รวม 81,549 บาท ขาดทุนสุทธิ 87,829,231 บาท

ปี 2564 รายได้รวม 15,788,999 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,335,375,337 บาท

ปี 2565 รายได้รวม 538,245,295 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,986,837,776 บาท

ปี 2566 รายได้รวม 724,446,267 บาท ขาดทุนสุทธิ 2,155,727,184 บาท

เท่ากับว่า 4 ปีที่มา บริษัท เพอเพิล เวนเจอร์ จำกัด มีผลขาดทุนสะสมกว่า 5,565,769,528 บาท 

สำหรับผู้ใช้งานบน Robinhood หากอ้างอิงจากข้อมูลในงานแถลงข่าวครั้งล่าสุด จะมีฐานผู้ใช้บริการประมาณ 3 ล้านราย โดย Robinhood  มีความพยายามในการขยายบริการอย่างต่อเนื่องทั้ง Robinhood Mart Robinhood Express Robinhood Ride Hailing Robinhood Travel รวมถึงมีแผนเปิดให้บริการ Robinhood Finance สินเชื่อดิจิทัลเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับกลุ่มร้านค้าและไรเดอร์ด้วย 

การขาดทุนของ Robinhood กับความสัมพันธ์กับผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินอย่าง SCBX นั้นมีเหตุผลภายในซ่อนอยู่ โดยครั้งหนึ่งในงานแถลงข่าว ธนา เธียรอัจฉริยะ เคยแชร์ว่า งบลงทุนของ Robinhood เป็นการนำงบ CSR ของธนาคารไทยพาณิชย์มาใช้ เพราะการเกิดขึ้นของแอปฯ นี้คือ เพื่อช่วยเหลือร้านค้าและลูกค้าในช่วงโควิด ซึ่งแทบทุกบ้านมีความจำเป็นต้องใช้บริการเดลิเวอรี่ แต่ปัญหา คือราคาสูงมาก เพราะร้านต้องจ่ายค่า GP ให้แพลตฟอร์ม เพราะถ้าร้านค้าไม่บวกเพิ่มก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้นการพึ่งพาแค่งบ CSR ของธนาคารไม่ได้ยั่งยืนกับ Robinhood มากนัก จึงต้องปรับโมเดลเพื่อหาเลี้ยงตัวเองให้ได้ด้วย จึงเป็นที่มาว่าทำไมถึงต้องขยายบริการมาเป็น Super App 

การต่อสู้ของแพลตฟอร์ม Food Delivery 

ที่ผ่านมาเราต่างพอจะเห็นความโหดของเหล่าแพลตฟอร์มในการทุ่มเม็ดเงินลงทุนมหาศาลเพื่อกำจัดคู่แข่ง โดยเฉพาะในตลาด Super App ที่ทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกค้าเหลือทางเลือกน้อยที่สุด หลังจากนั้นก็คุมตลาด ขึ้นค่าบริหาร และทำกำไร 

ความนิยมของแอปฯ ส่งอาหารในไทย ข้อมูลจาก Statista เมื่อเดือนเมษายน ปี 2023 ชี้ให้เห็นว่า GrabFood ยังคงครองใจผู้บริโภคในตลาดอยู่ 56% อันดับสอง คือ LineMan ครองอยู่ 53% ขณะที่ Foodpanda อยู่ที่ 19% Shopee Food 11% และ Robinhood อยู่ที่ 5% เท่านั้น 

Grab ผ่านการต่อสู้มาอย่างหนักหน่วง จนสามารถครองตลาดนี้ได้ โดยในช่วงแรกได้ใช้วิธีการอัดโปรโมชันดึงดูดให้คนเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์ม จนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้ และนำพาธุรกิจสามารถถึงจุดที่ทำกำไรได้แล้ว

Lineman-Wongnai แพลตฟอร์มของคนไทย ต้องบอกว่าสูสีมาก เพราะสามารถตีตื้นขึ้นมาสู้กับ Grab ได้ อีกทั้งยังมีโมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างความยั่งยืนและทำกำไรได้ โดยไม่พึ่งพารายได้จากบริการจากแพลตฟอร์มเพียงอย่างเดียว อย่างการเข้าซื้อกิจการของ Food Story ก็เพื่อที่จะรุกธุรกิจ POS เพื่อยึดความเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มธุรกิจ Merchant Solutions เพื่อช่วยเหลือร้านอาหารให้บริหารจัดการร้านได้ดีขึ้น รวมถึงการรุกธุรกิจ FinTech ผ่านการเข้าซื้อ Rabbit LINE Pay ด้วย 

Food Panda แม้จะเป็นรายแรกที่เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อปี 2012  แต่ก็ต้องปรับโมเดลธุรกิจ และสู้หัวชนฝาไม่น้อย จนต้องประกาศขายกิจการในอาเซียน ซึ่งก็มีหลายเจ้าสนใจ แต่สุดท้ายยังไม่คืบหน้าว่าจะตกไปเป็นของยักษ์ใหญ่เจ้าไหนกันแน่ 

ส่วน Shopee Food ดูเหมือนจะมีข้อได้เปรียบจากฐานผู้ใช้งานมหาศาลของ Shopee และทุ่มเงินค่าการตลาด ดึงดูดผู้ใช้ แจกโค้ดฉ่ำตามสไตล์ แต่เล่นเอาต้องรัดเข็มขัดหนัก จนต้องปลดคนฟ้าผ่าไปไม่น้อย 

แล้ว Food Delivery ธุรกิจนี้ปราบเซียนอย่างไร?

แม้ว่าที่ผ่านมา ฟู้ดเดลิเวอรี่ จะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่สนามนี้มันก็เป็นเหมือนสนามรบที่ฟาดฟันกันเลือดสาด มาพร้อมการแข่งขันที่รุนแรง และต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงลิบ ดังนั้นการที่จะกลายเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้นั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย 

เพราะการที่แอปฯ หนึ่งจะดึงดูดลูกค้าให้ใช้บริการตลอดนั้นทำได้ยากยิ่งนัก เนื่องจากธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูง มีแพลตฟอร์มมากมายแย่งชิงความสนใจ ดังนั้นลูกค้าเปลี่ยนใจได้ง่ายมาก เชื่อว่าคุณคงเคยมีพฤติกรรมโหลดสองแอปฯ เทียบราคากัน ถ้าแอปฯ ไหนคำนวณออกมาแล้วถูกกว่า คุณก็จะเลือกแอปฯ นั้น 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเก็บค่า GP ที่สูง ส่งผลกระทบต่อกำไรของร้านอาหารและเงินในกระเป๋าของผู้ใช้งาน ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้มาก โดยเฉพาะร้านอาหารขนาดเล็ก ยากที่จะสามารถแข่งขันกับเครือข่ายร้านใหญ่ที่มีทรัพยากรในการรับมือกับต้นทุนเหล่านี้ที่เกิดขึ้นมาก ดังนั้นภาระจึงตกมาเป็นของผู้บริโภคที่จะต้องจ่ายค่าอาหารแพงขึ้น 

ซึ่งโมเดลธุรกิจแบบนี้ที่อาศัยโครงสร้างที่อิงกับค่าคอมมิชชั่นพร้อมการกำหนดราคาแบบไดนามิก ซึ่งปรับตามขนาดของคำสั่งซื้อและระยะทาง ดูเหมือนจะยุติธรรมในการเรียกเก็บเงินจากร้านอาหารสำหรับการใช้แพลตฟอร์ม แต่มันไม่ง่ายที่จะหาความสมดุล เพราะถ้าเก็บค่าคอมมิชชั่นต่ำไป ก็ขาดทุน เก็บสูงไป ก็กระทบผู้ใช้งานที่พร้อมจะเปลี่ยนใจไปหาแอปฯ ที่ถูกกว่าได้ตลอดเวลาเช่นกัน 

อีกปัญหาสำคัญของธุรกิจนี้คือ ไรเดอร์ ต้องบอกว่าอาชีพนี้ทั้งเสี่ยงและมีความกดดันในการทำงานสูง โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ส่งผลให้ขาดแรงจูงใจในการทำงานได้ง่าย 

ดังนั้นจึงต้องดึงดูดด้วยการที่แพลตฟอร์มต้องมีค่า Incentive เพื่อให้ไรเดอร์ยังทำงานให้แพลตฟอร์ม และทำให้แพลตฟอร์มมีจำนวนไรเดอร์เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า ที่จะไม่ทำให้ประสบการณ์แย่ จากการที่เรียกแล้วไม่มีคนรับงาน หรือต้องรอนานเกินไป 

สุดท้ายคือ นักลงทุนอาจไม่ไหวในการต่อสายป่าน ขาดทุนเพื่อโตในยุคต้นทุนการเงินสูงอีกต่อไป เพราะต้องยอมรับว่าถ้าเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นแล้ว ฟู้ดเดลิเวอรี่ เป็นธุรกิจที่แทบจะไม่มีความสามารถในการทำกำไรได้ในระยะยาว ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมอยากรอดต้องควบรวม หรือต้องครองตลาดให้ได้ เพื่อที่จะได้ลดการแข่งขันด้านราคา และเพิ่มโอกาสในการขึ้นราคาบริการ

เพราะธุรกิจนี้มีต้นทุนการได้มาซึ่งลูกค้าสูงมาก อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ถ้าบริการเหมือนๆ กัน ลูกค้าก็เปลี่ยนใจง่ายมาก หากคู่แข่งถูกกว่า แพลตฟอร์มจึงต้องอัดโปรโมชันเพื่อดึงดูดลูกค้า 

ะเห็นได้ว่าการดำรงอยู่ได้ของธุรกิจนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเงินหล่อเลี้ยงจากนักลงทุน และเมื่อใดก็ตามที่นักลงทุนมองเห็นโอกาสอื่นที่น่าทำกำไรมากกว่า สายป่านของธุรกิจนี้จึงหมดลง...

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney